ART EYE VIEW---“การท่องเที่ยวทำให้เราเยาว์วัย การเดินทางไกลทำให้เราเติบโต”
เพราะเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ศิลปินผู้รักการสร้างงานศิลปะในแนวอิมเพรสชั่นนิสม์อย่าง อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์ จึงต้องจากบ้านศิลปินของเขาที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อท่องเที่ยวและเดินทางไปในหลายสถานที่ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในด้านภูมิประเทศ และวัฒนธรรม
และเป็นการเดินทางเพื่อตามรอยบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อชีวิตคนทำงานศิลปะเช่นเขา ได้แก่ บรรดาศิลปินในดวงใจที่มีชื่อเสียงระดับโลก,พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
อภิรักษ์ท่องเที่ยวและเดินทางไปทั่วทุกภาคของฝรั่งเศส ที่ซึ่งบรรดาศิลปินในดวงใจของเขา ได้แก่ Claude Monet,Vincent VanGogh และ Paul Gauguim เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาเคยเดินทางไปสร้างสรรค์ผลงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น
พาตัวเองไปยืนอยู่ในอาณาจักรของบ้านและสวนที่งดงามของ Claude Monet ที่ Giverny ศิลปินที่เขาชื่นชอบในวิธีการใช้สีที่ฉับพลัน ซับซ้อน ระยิบระยับ และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งประสบความสำเร็จในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ไปยืนกวาดสายตามองไปรอบๆ เพื่อสัมผัสกลิ่นอายของความอึดอัด คับแคบและแร้นแค้น ในห้องเช่า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของ Vincent VanGogh ศิลปินผู้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่แทบจะขายผลงานศิลปะของตนเองไม่ได้เลย และมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก แต่เป็นศิลปินที่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของการทุ่มเทลมหายใจเข้าออกทั้งชีวิตให้กับการสร้างงานศิลปะ
และโดยเฉพาะที่ แคว้น Provence ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสแปลกตาของพันธุ์ไม้ในฤดูร้อน ทุ่งลาเวนเดอร์ที่ส่งกลิ่นหอมแรงตัดกับสวนมะกอกที่ล้อเล่นกับลม เป็นแรงบันดาลใจให้เขาบันทึกภาพประทับใจเก็บไว้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
“การเดินตามรอยศิลปินในดวงใจแวนโก๊ะและโมเน่ ทำให้เรารู้ว่าการทุ่มเททั้งชีวิตกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ทำให้ประสบความสำเร็จในระดับโลก
เมื่อเรามองย้อนกลับมาดูตัวเราเองจึงได้รู้ว่าเรายังไม่ได้เศษเสี้ยวของการทุ่มเทนั้นเลย
ในมุมมองผมแวนโก๊ะเป็นศิลปินที่ผมชื่นชอบมากในการทุ่มเทชีวิตในการทำงานศิลปะอย่างที่สุด แต่เราต้องแยกแยะให้ออกว่า อารมณ์ความรู้สึกมีเท่าไหร่ก็สามารถทุ่มเทลงไปในงานศิลปะได้ แต่ในการใช้ชีวิตเราไม่อาจที่จะนำเอาอารมณ์และความรู้สึกมาเป็นตัวนำทางได้เลย
เราต้องใช้หลักการ ปัญญาและความถูกต้องในการใช้ชีวิตร่วมกับสังคม หากเราไม่แยกแยะก็ทำให้ชีวิตสับสนวุ่นวาย จัดการกับชีวิตตัวเองไม่ได้สุดท้ายต้องจบชีวิตลงก่อนที่จะทันเห็นความสำเร็จของตัวเอง
ซึ่งแตกต่างจากโมเน่ที่แยกแยะเรื่องอารมณ์ความรู้สึกหลักการเหตุผลและความถูกต้องในความเป็นไปของชีวิต สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ และที่สำคัญทุ่มเท อดทน อดกลั้น จึงประสบความสำเร็จในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่”
จากฝรั่งเศสอภิรักษ์เดินทางโดยรถไฟระหว่างประเทศไปยังเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อยังทรงพระเยาว์ ด้วยเหตุผลที่ว่า
“ในหลวงทรงเป็นอัครศิลปิน ทรงมีพระปรีชาสามารถหลากหลายด้าน แม้พระองค์ท่านจะมีพระราชกรณียกิจมากมายเพียงใด ยังทรงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยและชาวโลกเสมอมา
ในหลวงทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงงานต่างๆเพื่อความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองของปวงชนชาวไทยมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน และช่วงเวลานั้นพระองค์ท่านทรงพระประชวร ในฐานะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทคนหนึ่งที่อยู่ใต้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมมาตลอดชีวิต ได้น้อมนำพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจแบบพอเพียง มาประยุกต์ใช้กับครอบครัวของตัวเอง จนทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขกับครอบครัวและสังคม
ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งจึงอยากแสดงออกถึงความรัก ความจงรักภักดี ถวายพระองค์ท่าน จึงเดินทางตามรอยความดีงาม ตามรอยพระองค์ท่านไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อหาแรงบันดาลในการสร้างงานศิลปะ”
นอกจากจะปลื้มปิติและรู้สึกอิ่มเอิบกับการเดินทาง ลักษณะของภูมิประเทศของสวิสเซอร์แลนด์ที่เป็นภูเขาสูงสลับกับทุ่งหญ้า,มีทะเลสาบที่งดงาม และถือเป็นปลายทางในฝันของใครหลายคน รวมทั้งอภิรักษ์ด้วย เป็นแรงบันดาลใจให้เขาบันทึกภาพประทับใจเก็บไว้ในภาพเขียนหลายภาพ
ก่อนจะหอบหิ้วเอาความประทับใจกลับสู่ประเทศไทยด้วยหัวใจพองโต เหมือนฝูงปลาได้สัมผัสกับฝนแรกของฤดูกาล อย่างมีความสุข นอกจากนี้อภิรักษ์ยังค้นพบความสุขจากการเดินทางไปฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ด้วยว่า
“การรวมกลุ่มรวมตัวกันทำกิจกรรมทางศิลปะ แสดงออกถึงความรักความสามัคคี เป็นความอบอุ่นของมิตรภาพที่เป็นสุข
แต่การออกไปเสาะหาแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างโดดเดี่ยว กลับเป็นสุขยิ่งกว่า”
ต่อมาในปี 2558 อภิรักษ์มีโอกาสหอบหิ้วสีและพู่กัน ติดสอยห้อยตาม พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี เดินทางไปยัง สังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ของพระพุทธเจ้า ที่ประเทศอินเดียและเนปาล ได้แก่ สถานที่ประสูติที่เมืองลุมพินี,สถานที่ตรัสรู้ที่เมืองพุทธคยา,สถานที่แสดงปฐมเทศนาที่เมืองสารนาถ,และสถานที่ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
“จากการเดินทางตามรอยพระบาทขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ประเทศอินเดียและเนปาล ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความเพียรพยามของพระพุทธเจ้าที่ต้องการหาหนทางในการพ้นทุกข์และเมื่อค้นพบแล้วจึงพยามยามสอนและชี้ทางให้ผู้คนได้เห็นถึงหนทางในการพ้นทุกข์นั้น เป็นการเรียนรู้ถึงสัจจะธรรมของชีวิต
อีกทั้งการได้ถวายงานเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะและติดตามท่าน ว.วชิรเมธี ทำให้ผมยิ่งเข้าใจในธรรมะมากยิ่งขึ้น เดินทางสายกลาง ไม่ประมาทกับชีวิต เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ไม่หลงระเริงไปในอำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานและความดีงาม ซึ่งจะเป็นมรดกตกทอดอันทรงคุณค่าให้กับแผ่นดินเมื่อยามชีวิตของเราต้องล่วงลับไป”
ครั้งหนึ่งในชีวิตของการท่องเที่ยวและเดินทางเพื่อตามรอยศิลปินในดวงใจ ตามรอยในหลวง และตามรอยพระพุทธเจ้า นอกจากจะทำให้อภิรักษ์รู้สึกว่า “เหมือนเราจบปริญญาเอกบนเส้นทางสายศิลปะของตัวเราเอง”
ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างผลงานศิลปะชุด “ตามรอยศิลป์-ธรรม” ซึ่งประกอบไปด้วยผลงานภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าลินิน จำนวน 50 ภาพ ที่บันทึกความประทับใจจากการตามรอยศิลปินในดวงใจ ตามรอยในหลวง และตามรอยพระพุทธเจ้า
ผลงานชุดนี้จะจัดแสดงให้ชมระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-17 ธันวาคม พ.ศ.2559 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 1 ขัวศิลปะ จ.เชียงราย
ในวันเปิดนิทรรศการ วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ซึ่งมี ชลาลักษณ์ บุนนาค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามสินธร จำกัด (บริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)เป็นประธาน จะมีปาฐกถาธรรมในหัวข้อ “ตามรอยศิลป์-ธรรม” โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี กล่าวแนะนำศิลปินโดย จรูญ บุญสวน ศิลปินอาวุโสผู้เป็นอาจารย์สอนศิลปะของอภิรักษ์เมื่อครั้งที่ยังเรียนคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2554 ดำเนินรายการโดย นิรมล เมธีสุวกุล พิธีกรชื่อดังแห่งรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” ผู้เป็นชาว อ.แม่จัน จ.เชียงราย
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews