xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“จเรโป้งเหน่ง–เกรียงไกร ไทยอ่อน” ผู้ที่ทำให้ตำรวจไทยได้อับอาย (อีกแล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหตุการณ์จากวิดีโอสดของเฟซบุ๊ก เกรียงไกร ไทยอ่อน ที่กล่าวหาว่าตำรวจจราจร สภ.เมืองอุดรธานี ตั้งด่านลอยโดยผิดกฎหมาย เพราะไม่มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรประจำ อีกทั้งยังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเลือกปฏิบัติ ที่บริเวณถนนรอบเมือง อุดรธานี-หนองบัวลำภู เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ก.ย. 59
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทุกปัญหาของสังคม ทุกเหตุการณ์ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่พ้นต้องกลายเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก”ดูแต่เรื่อง “น็อต กราบรถ” ทันทีที่ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. แสดงความเห็นว่ารับไม่ได้กับพฤติกรรมของดารา พิธีกรหนุ่ม บรรดานักเลงคีย์บอร์ดก็ออกมาบรรเลง“บิ๊กแป๊ะ”ไปต่างๆนานา...ทำไมสังคมไทยต้องเกรี้ยวกราดกับตำรวจขนาดนั้น เป็นคำถามที่สามารถตอบได้ทันทีว่า ก็เพราะประชาชนไม่ไว้ตำรวจ

หนักข้อจนกลายเป็น“จับผิด”ในทุกสถานการณ์ !! ??

แม้เรื่องราวของ “น็อต กราบรถ”จะตกกระแสไปแล้ว แต่ที่กำลังจะลุกลามจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่อง “ไฟลามทุ่ง”หากผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจสามารถ “ดับ”ได้ทัน ก็ควรยึดหลักกลับมา“ให้ใจ”ประชาชน และรีบจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
 
กระแสที่ว่าก็คือการเคลื่อนไหวของ “เกรียงไกร ไทยอ่อน”หรือเจ้าของภาพลักษณ์ลุงหัวโล้น ไว้หนวด ท่าทางจริงใจ ออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีกับบรรดาด่านตำรวจแถวภาคอีสาน

เคยสนใจกับคลิปแรกมาครั้งหนึ่ง ตอนนั้นสังคมออนไลน์ให้ความสนใจติดตามการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุกนับแสนราย ซึ่งถือว่าเป็นการแจ้งเกิดอย่างงดงาม พร้อมกับแรงเชียร์ของประชาชน ที่เคยมีประสบการณ์ไม่สู้ดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ (จราจร) มาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนคนใช้รถใช้ถนนมีอยู่มากมาย และน่าเชื่อว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีความคับแค้นใจต่อการบังคับใช้กฎหมายที่หลายคนเชื่อว่า “ไม่ยุติธรรม”จึงมีแรงตอบรับอย่าล้นหลาม

นายเกรียงไกร ไทยอ่อน เป็นใครมาจากไหน หรือเป็นทนายความ-นักกฎหมาย เท่าที่สืบค้นอย่างคร่าวๆ เขาไม่ใช่นักกฎหมายแต่เป็นเกษตรกรนักพัฒนาจนได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดหนองบัวลำภู

คำถามต่อมา เพราะเหตุไรเขาจึงออกมาไล่บี้ตำรวจจราจร จ.นครราชสีมา อย่างเอาเป็นเอาตาย คำตอบอยู่ที่พฤติการณ์-พฤติกรรมสะสมของตำรวจจราจรทั้งหลายที่ชอบตั้งด่านทำมาหากินบนถนนหลัก ตั้งแต่ จ.หนองบัวลำภู จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องสัญจรไป-มา ติดต่อทำกิจธุระ และติดต่อการค้าขายรวมทั้งการท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา

เขตพื้นที่ สภ.จอหอ จ.นครราชสีมา ถ้าขับรถจากขอนแก่น จำเป็นต้องผ่านจุดนี้ทุกครั้ง และนายเกรียงไกร น่าจะเป็นราษฎรอีกคนหนึ่งที่เดือดร้อนกับการ “จับปรับ”หรือ “จับไถ”จากตำรวจบางนายเป็นประจำ ซึ่งแม้เจ้าตัวจะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎจราจร แต่ก็ยังถูกตำรวจเรียกตรวจ บางครั้งเมื่อไม่มีข้อหาอะไรตำรวจมักถามโน่น นี่ นั่นเรียกว่าเดินวนรถสัก 2-3 รอบ เพื่อเอาผิดให้ได้

“ด่านจอหอ”จึงถูก “จองกฐิน” เมื่อออกคลิปทีไร ก็มักจะเห็นแต่ด่านแห่งนี้ซึ่งล่าสุดมีการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับ มาตรา 38 อย่างละเอียดทุกแง่มุม จนมีคนเข้าใจว่าเขาน่าจะมีความรู้ด้านกฎหมาย หรือเป็นทนายความ แต่ในความเป็นจริงก็คือชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ที่ฝังใจกับพฤติการณ์ไม่สู้ดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายนั่นเอง

หลังคลิปล่าสุดออกมาเล่นงานตำรวจ”จอหอ” ซึ่งจะเห็นว่าหลังปะทะคารม ฝ่ายตำรวจรีบขนกรวยจราจรขึ้นรถขับออกไปอย่างหมดรูป รุ่งขึ้น พ.ต.อ.สุภากร คำสิงห์นอก รรท.ผบก.จ.นครราชสีมา ออกมาให้ข่าว “โต้กลับ”ทำนองว่า จะดำเนินคดีข้อหากับนายเกรียงไกร ฐานมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะ คลิปที่แฉตำรวจจอหอ นั้นยังผิดต่อข้อเท็จจริงหลายเรื่อง อาจจะส่งผลให้ประชาชนเข้าใจตำรวจผิด
 
  รรท.ผบก.เมืองโคราช ออกโรงคนเดียวไม่พอ ยังมีตำรวจระดับล่าง ใช้ชื่อธนะศักดิ์ แสงทอง โพสต์เอกสารประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า นายเกรียงไกร เคยถูกตำรวจจับข้อหาเล่นการพนันไพ่ผสมสิบ ทั้งที่มีข้อเท็จจริงด้วยว่า มีการต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้องข้อกล่าหาทั้งหมดไปแล้ว แต่ก็ยังนำมาเผยแพร่ ตามด้วยเว็บเพจรับใช้ตำรวจแห่งหนึ่ง ขึ้นข้อความว่า “คัดค้านการตั้งด่านเท่ากับสนับสนุนคนแหกกฎ”ซึ่งล้อกับข้อความรณรงค์ในเฟซบุ๊กของนายเกรียงไกร ที่ขึ้นจอว่า “คัดค้านการตั้งด่านที่ไม่ถูกต้อง” โดยเกรียงไกร ไทยอ่อน และเพื่อน

เท่านั้นเอง ศึกระหว่างนายเกรียงไกร ไทยอ่อน ที่มีแฟนๆ ติดตามกว่า 2 แสนคน กลายเป็นลุกลามต่อ โดยนายเกรียงไกร เข้าไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ใช้ชื่อ “ธนะศักดิ์ แสงทอง”และยังอาจรวมไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับตำรวจบางคน ที่ดึงข้อมูลออกมาจากแฟ้มประวัติเพื่อลดความเชื่อถือ

ไม่ว่าศึกครั้งนี้จะจบลงอย่างไร แต่การตรวจสอบตำรวจในทุกรูปแบบโดยเฉพาะตำรวจที่หากินกับการตั้งด่านต่างๆ ทั้งที่ถูกต้องตามระเบียบ และไม่ถูกต้อง คงจะตกเป็นเป้าของประชาชนมากขึ้น เหตุเพราะยังมีการปล่อยปละเลย และมีขบวนการยึดถนนหลวงเป็นที่ทำมาหากินอย่างไม่ละอายใจ

เหตุผลหลักที่ฝ่ายรักษากฎหมายมักชอบอ้างก็คือ “ประชาชนเป็นอย่างไร ตำรวจเป็นอย่างนั้น”หรือทำนองว่า ถ้าประชาชนไม่ทำผิดกฎหมายตำรวจจราจรที่ตั้งด่านจะไปรีดไถใครได้ และในที่สุดก็จะสูญพันธุ์กันไป ซึ่งความเชื่อดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เพราะบนท้องถนนหลวง สิ่งที่ประชาชนเห็นอยู่โทนโท่ก็คือ การปล่อยให้รถผิดกฎหมายบางประเภทสัญจรกันอย่างสะดวก เช่น รถบรรทุกน้ำหนักเกินอัตรากฎหมายกำหนด รถอ้อย รถบรรทุกหิน ดิน ทราย หรืออื่นๆ

การบังคับใช้กฎหมายก็ดี หรือเรื่องรณรงค์ให้ประชาชนมีวินัยการจราจรก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับได้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา อย่างเสมอภาค

สำคัญที่สุด หากไม่ต้องการให้ภาคประชาชนตรวจสอบเพราะเกรงเกิดการกระทบกระทั่ง หรือเกิดความตึงเครียดระหว่างประชาชนกับตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องออกนโยบายที่ชัดเจน เช่น ลักษณะการตั้งด้าน หรืออาจยกเลิกเปอร์เซ็นค่าปรับไปเลยก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ประชาชนเชื่อว่า มีตำรวจบางคน บางตำแหน่ง แสวงหาผลประโยชน์กับกฎหมายอยู่
 
จึงเห็นด้วยอย่างเต็มที่ กับคำตัดพ้อของนายเกรียงไกร ที่บอกว่า แทนที่ตำรวจใหญ่จะให้รางวัลเขา ที่อุตส่าห์ชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญแต่กลับโจมตี-บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน่าละอาย

หากเปรียบนายเกรียงไกร ไทยอ่อน เป็นจเรตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทุกหน่วยงาน ต้องถือว่าเขาเป็น “จเรประเทศไทย”ผู้ทำหน้าที่ดีเยี่ยม ขนาดตำรวจต้องหอบกรวยเผ่นหนี...ประเด็นจเรตำรวจ เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ขอฉายความล้มเหลวให้สังคมได้รับทราบกันอีกทางหนึ่ง

สำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่และเป็นหน่วยงานเพื่ออะไร อาจจะมีคำตอบทีเล่นทีจริงว่า เป็นที่ข้าราชการไม่มีงานทำมารอนับวัน พอครบ 1 เดือนก็รับเงินกัน 1 ครั้ง (เงินเดือน) หรือเป็นสุสานของตำรวจแก่ ตำรวจฝั่งตรงข้ามอำนาจ หรือเป็นสะพานให้กับตำรวจหนุ่มที่มีความทะเยอทะยาน ซึ่งว่าไปแล้วอาจจะ “ถูกทุกข้อ”

 ทั้งที่ บทบาท-อำนาจหน้าที่หลักของจเรตำรวจก็คือ ติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ และรับเรื่องราวร้องทุกข์อันเกิดจากการกระทำของตำรวจ รวมทั้งควบคุมจริยธรรม และจรรยาบรรณตำรวจ แต่ดูเหมือนว่าในปีหนึ่งๆ ไม่เคยเห็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันแม้แต่เรื่องเดียว เพราะผลงานเกือบ 100 เปอร์เซ็นคือ สอบอะไร “เหลวหมด”

เมื่อตรวจกำลังพล หรือคณะทำงานก็พบว่า ที่นี่มีอะไรน่าในใจไม่น้อย “จเรใหญ่” มียศถึง พล.ต.อ. และมี พล.ต.ท.อีก 9 คน พล.ต.ต. 3 คนรวมมีนายพลทั้งหมด 13 คน ไม่รวมนายพัน นายร้อย ชั้นประทวน น่าจะมีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้ไม่ต่ำกว่า 2-300 นาย ต้องใช้งบประมาณปีหนึ่งๆไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
 
แต่ขอโทษ....ผลงานสู้ “จเรโป้งเหน่ง”หรือนายเกรียงไกร ไทยอ่อน ราษฎรธรรมดาๆ ไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว แถมรัฐไม่ต้องเสียงบให้เขาแม้แต่บาทเดียว -สลึงเดียว น่าอายไหมล่ะ !! ??


กำลังโหลดความคิดเห็น