xs
xsm
sm
md
lg

มองอีกด้าน “น็อต กราบรถกู”

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ทันทีที่คลิปชายหนุ่มเจ้าของรถมินิคูเปอร์ ลากคอมอเตอร์ไซค์ที่เฉี่ยวชนท้ายมาชกต่อย แล้วบอกให้ “กราบรถกู” ถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียลออนไลน์ไปอย่างไฟลามทุ่ง สังคมก็รุมสวดส่งการกระทำของไอ้หนุ่มคนนั้นกันขนาดใหญ่

ถ้าใครติดตามโซเชียลอย่างกระชั้นชิดพบว่าในเวลาอีกไม่นานหลังจากนั้น มีคนไปขุดคุ้ยว่า เจ้าของรถชื่ออะไร ซึ่งปรากฏว่าเจ้าของรถเป็นแม่ของชายหนุ่มที่ก่อเหตุ มีบ้านอยู่ที่ไหน และเปิดเผยว่าไอ้หนุ่มในคลิปนั้นที่แท้จริงเป็นใคร จนกระทั่งทราบกันทั่วไปว่าเป็นพิธีกรนักแสดงในสังกัดแกรมมี่ที่ชื่อ น็อต จากนั้นก็ตามมาด้วยวลีฮิตว่า “กราบรถกู” และกลายเป็น “น็อต กราบรถกู” ในที่สุด

และสังคมไทยก็จำเหตุการณ์ “กราบรถกู” ไปอีกนาน เพราะมันกลายเป็น “ท่อนฮุค” ที่คงจะจดจำเหตุการณ์นี้ได้ เหนือกว่ากรณีที่ดีเจถอยกระบะมาชนคู่กรณีเพราะเหตุการณ์นั้นไม่มี “ท่อนฮุค” แบบนี้

ทันทีคนเห็นคลิปผมเชื่อว่า ความรู้สึกแรกก็คือ เจ้าของรถกระทำเกินกว่าเหตุ เพราะใช้ “อาญาเถื่อน” ลงไม้ลงมือกับคนที่กระทำต่อทรัพย์สินของตัวเอง ซึ่งผมว่าจุดนี้แหละครับที่สังคมรับไม่ได้ ในคลิปก็มีเสียงคนที่เห็นเหตุการณ์ตะโกนข้ามถนนมาว่า “ไปแจ้งตำรวจสิ ทำร้ายร่างกายได้อย่างไร”

ขณะที่บางด้านของสังคมมองว่าการบังคับให้กราบรถเป็นการเหยียดหยามทางชนชั้น และมองว่า วัตถุมีคุณค่ามากกว่าความเป็นมนุษย์

แน่นอนคนที่เห็นคลิปตัดสินทันทีว่า น็อตผิด โดยที่ไม่ต้องสืบสวนกระบวนความ และตามมาด้วยคำพิพากษาทางสังคมที่แต่ละคนก็เผยแพร่คำตัดสินของตนพร้อมด้วยคำสาปแช่งสวดส่งผ่านทางเฟซบุ๊ก ไลน์ และโซเชียลออนไลน์ทุกแขนง

สะท้อนสังคมเข้าใจตรงกันว่า น็อตไม่มีสิทธิไปทำร้ายคู่กรณี ไม่มีใครมีสิทธิใช้ “อาญาเถื่อน” แม้จะเป็นฝ่ายถูกกระทำก่อนก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนในสังคมยังเชื่อมั่นในขื่อแปของกระบวนการยุติธรรม เหมือนชายที่ตะโกนถามว่า ทำไมไม่แจ้งตำรวจ มาทำร้ายร่างกายเขาได้อย่างไร

แทนที่จะก้มหน้าก้มตาขอโทษกับสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไป ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ น็อตจากการสนับสนุนของทนายหรือไม่ก็ตามแต่ ยังไปให้สัมภาษณ์ในทางที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของสังคมและภาพที่เขาเห็นจากคลิปว่า เป็นการต่อยเพื่อป้องกันตัว ซึ่งเป็นการทำร้ายตัวเองซ้ำจนทำให้สังคมรับไม่ได้ยิ่งขึ้นไปอีก และน่าจะเป็นสาเหตุที่ต้นสังกัดประกาศงดแถลงข่าวในวันต่อมาแล้วตามมาด้วยการไล่ออกทันที

ไม่รู้เหมือนกันว่าที่น็อตพูดเช่นนั้นเพราะทนายแนะให้อ้างข้อต่อสู้ว่าเป็นการป้องกันตัวป้องกันสิทธิของตน ตามกฎหมายอาญามาตรา 68 หรือไม่ แต่ผมว่าไม่น่าจะได้นะครับ เพราะไอ้หนุ่มมอเตอร์ไซค์ไม่มีเจตนาทำลายทรัพย์สิน แต่เหตุเกิดจากความประมาท ไม่ว่าตั้งใจหนีก่อนจะวกกลับมาหรือไม่ แต่เหตุมันผ่านไปแล้ว ไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง และเห็นชัดว่าคู่กรณีไม่มีท่าทีจะต่อสู้ให้น็อตอ้างเหตุว่าป้องกันตัวได้เลย ดังนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่เหตุแน่ๆ ถ้าจะอ้างโน้นเลยมาตรา 72 บันดาลโทสะซึ่งอาจเป็นเหตุบรรเทาโทษได้

แต่ถ้าแบบทนายของน็อตถามนักข่าวว่า “ถ้านักข่าวโดนคนหยิบมือถือแล้วปาทิ้ง จะรู้สึกอย่างไร อย่าบอกว่าไม่โกรธนะครับ ถ้าไม่โกรธ ผมขอมือถือมาปาหน่อยครับ” ผมว่า ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ทันทีที่ทนายของน็อตกำลังจะขว้างมือถือของนักข่าวทิ้ง เจ้าของโทรศัพท์ก็ชกหมัดสวนไปหมัดหนึ่งทันทีทันใด อาจเข้าข่ายมาตรา 68 ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ

บอกตรงๆ ตอนแรกที่เห็นคลิปผมเองก็คล้อยตามไปกับกระแสสังคมนั่นแหละ

แต่มาคิดเมื่อได้ยินคนตั้งคำถามว่า แล้วสังคมที่รุมประณามและตัดสินน็อตนั้นเป็น “อาญาเถื่อน” หรือไม่ บางคนบอกว่านี่เป็นมาตรการลงทัณฑ์ทางสังคมหรือ Social Sanction ถ้าจำกันได้เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ประกาศสนับสนุนให้ใช้มาตรการ Social Sanctionในกรณีที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต ซึ่งถูกถามกลับว่า ถ้ารัฐมนตรียุติธรรมสนับสนุนให้มี Social Sanction แล้วเราจะมีกฎหมายไปทำไม

อย่าลืมว่าในการสอบสวนดำเนินคดีปกติก่อนที่จะถูกพิพากษาโดยศาลนั้น จะมีการสืบสวนสอบสวนอย่างรอบด้าน มีการสืบพยานโจทย์จำเลยก่อนจะตัดสิน นอกจากนั้นศาลยังเปิดโอกาสให้จำเลยกลับตัวด้วยการรอลงอาญาได้ด้วย แต่ในกรณีของ Social Sanction นั้น เราเพียงแต่ได้ยินมา เห็นด้วยตา ดูจากคลิป อ่านจากโพสต์ เราก็ตัดสินพิพากษาลงโทษทันทีด้วยเสียงข้างมากของสังคม

กรณีของน็อตนั้นสังคมมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วย ไม่ว่าคนตัดสินจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน เป็นเอกภาพตั้งแต่เรามีกีฬาสีทางการเมืองเลยก็ว่าได้

แต่ Social Sanction ไม่ได้มีกรอบการลงโทษที่เหมาะสม และได้สัดส่วนต่อการกระทำผิดอย่างที่กฎหมายมี เพราะ Social Sanction มีมาตรการการลงโทษที่ไร้ขอบเขต น็อตเพียงไม่แต่ถูกไล่ออกจากงานเท่านั้น นับจากนี้พฤติกรรมที่กระทำก็เป็นตราบาปไปตลอดชีวิต ธุรกิจร้านอาหารที่ทำมาก็ถูกกระหน่ำหนักดูท่าจะไม่มีอนาคตแน่ๆ คงต้องใช้ชีวิตไปแบบที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับสังคม เพราะวลี “กราบรถกู” ก็จะวนเวียนมาหลอกหลอนไปตลอดชีวิต

ผมบอกตรงๆ ไม่รู้เลยว่า พื้นฐานจริงๆ ของน็อตเป็นอย่างไร การกระทำนั้นเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบหรือจิตใต้สำนึก แต่สังคมก็พิพากษาแล้วแหละว่า ต้องมีพื้นฐานที่ไม่ดี เพราะถ้าดีก็ไม่มีพฤติกรรมแบบนี้

มันบอกให้เรารู้ว่า สังคมแทบไม่เปิดโอกาสให้น็อตมีที่ยืนและกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีเลย ผมก็ได้แต่ภาวนาว่า เขาจะเอาบทเรียนครั้งนี้เป็นบทเรียนสอนใจในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่เมื่อเห็นว่าสังคมไม่ให้โอกาสแล้วก็ปล่อยให้ชีวิตเตลิดออกนอกลู่นอกทางไปใหญ่

แต่จากกรณีนี้ว่าไปแล้ว เมื่อการใช้ “อาญาเถื่อน” ทำร้ายคู่กรณีของน็อตนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การตัดสินของสังคมที่เรียกว่า Social Sanction บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน มีข่าวว่า มีการโทรศัพท์ไปที่ร้านอาหารที่เขาเป็นหุ้นส่วนว่าจะไปวางระเบิด มีการไปปาบ้านด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็เป็น “อาญาเถื่อน” เช่นเดียวกับที่สังคมประณามน็อตเหมือนกัน

ขณะเดียวกันการเข้าไปขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัวของเขา เช่น ที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ พ่อแม่ชื่ออะไร ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การกระทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งน่าจะมีความผิดหลายกระทงเลยทีเดียว

แต่ถามว่า Social Sanction มีประโยชน์มั้ย ผมว่ามันก็มีด้านดีไม่น้อย ถ้า Social Sanction เปลี่ยนเป็นพลังที่กดดันให้คนในสังคมทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ทำให้รัฐบาลทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ทำให้นายกฯ อบต.ทำประโยชน์ให้หมู่บ้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีคนพูดน่าฟังว่าถ้าประชาชนและสื่อช่วยกันใช้ Social Sanction กดดันและประณามนักการเมืองโกงแบบ “น็อต กราบรถ” ประเทศเราจะดีขึ้นแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น