xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์น็อต (หลุด) ต้องฝึกให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเอง/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิปที่ลือลั่นที่สุดในโลกออนไลน์ตอนนี้หนีไม่พ้นเรื่องอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ที่เฉี่ยวชนรถมินิ แล้วกลายเป็นเรื่องเป็นราว จนกลายมาสู่วาทกรรมคำว่า “กราบรถกู” ซึ่งกลายเป็นกระแสสังคมที่ร้อนแรงในโลกออนไลน์ที่สุดขณะนี้

แน่นอนว่า ใครเห็นคลิปที่ว่านี้ก็ไม่พอใจแน่ที่นายน็อตมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ เพราะต่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือหนักหน่วงกว่านี้ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ไปทำร้ายร่างกายใคร จากเรื่องที่ควรจะจบแค่เรื่องอุบัติเหตุ จึงบานปลายกลายเป็นเรื่องการทำร้ายร่างกาย และดูท่าจะไม่จบง่ายๆ เพราะผลจากการกระทำของนายน็อต (หลุด) เพียงเสี้ยวนาที กลายเป็นว่าต้องทำให้มีผลต่ออาชีพการงาน รวมไปถึงครอบครัว และคนใกล้ชิดก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

ประเด็นที่ตามมาก็คือ การถกเถียงทางสังคม ถึงการใช้สื่อออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือในการถล่มนายน็อต (หลุด) จากทุกทิศทุกทาง จนถึงขั้นมีการหลุดประโยคจากคนดังว่า ไม่ควรให้คนอย่างนี้มีที่ยืนในสังคม

ผิดถูกเรื่องหนึ่ง ภาพที่เห็นก็ชัดเจนว่าไม่เหมาะสม แต่การรุมกระหน่ำทุกทิศทุกทางเพื่อไม่ให้เขามีที่ยืนในสังคม เป็นเรื่องที่ควรแล้วหรือ ? เรากำลังจะทำตัวเป็นศาลเตี้ย ?

จะว่าไปเรื่องนี้ไปถึงขั้นพนักงานสอบสวนแล้ว ก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของคดีความแล้วก็ว่าไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนวิธีการที่โทร.ไปจิกด่าบุคคลที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ มันสมควรแล้วหรือ !!

กรณีของนายน็อต (หลุด) ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของการขาดสติ ความโกรธ และโมโห ทำให้สติแตก ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ซึ่งจะว่าไปเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เรื่องอะไร และที่ไหน ที่สำคัญ สามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่เคยโกรธ โมโห…

เพียงแต่เมื่อโกรธ โมโห แล้วเราสามารถควบคุมตัวเองได้หรือไม่ ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการบ่มเพาะและอบรมสั่งสอนมาจากพ่อแม่ด้วย เมื่อตอนที่ลูกยังเล็ก พ่อแม่จัดการกับอารมณ์โกรธ โมโหของลูกอย่างไร เป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องตระหนัก และต้องหาทางช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วเมื่อเขาโตขึ้น อาจติดพฤติกรรมโมโหร้าย หรือเจ้าอารมณ์ไปจนโตก็ได้

วิธีการรับมือและจัดการกับอารมณ์โกรธ โมโห ของลูกตั้งแต่เล็ก

ประการแรก - สำรวจตัวเองว่าเป็นพ่อแม่แบบไหน

ก่อนอื่นคนเป็นพ่อแม่ต้องตรวจสอบตัวเองก่อนว่า เป็นพ่อแม่ที่ชอบตามใจลูก หรือตอบสนองลูกทุกครั้งที่ลูกต้องการสิ่งใดๆ โดยไม่สนใจว่าเหมาะสมหรือไม่ คุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่อยากขัดใจลูก เพราะกลัวลูกไม่รักหรือเปล่า ถ้าใช่ล่ะก็ ทำใจได้เลยว่าคุณกำลังทำร้ายลูก

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ ต้องไม่ตามใจลูกพร่ำเพรื่อ ควรจะมีขอบเขต บางเรื่องที่ไม่เหมาะสมก็ต้องขัดใจบ้าง แต่เวลาขัดใจต้องอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไร

ประการที่สอง - ฝึกให้ลูกรู้จักสังเกตอารมณ์ของตัวเอง

การให้ลูกสังเกตอารมณ์ของตัวเองมีความสำคัญมาก ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า สัญญาณเริ่มต้นของอารมณ์โกรธของตัวเองมีอะไรบ้าง เช่น หน้าแดง อึดอัด หายใจแรง กล้ามเนื้อเกร็งตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มือเย็น เหงื่อแตก ฯลฯ และเมื่อพบว่ามีอาการเหล่านี้ ก็ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ถ้าหากมีพฤติกรรมเหล่านี้ ให้พยายามหายใจเข้าลึกๆ และฝึกให้ผ่อนอารมณ์ เช่น นับหนึ่งถึงร้อย หรือให้นึกถึงเรื่องที่สบายใจ ฯลฯ

ประการที่สาม - ฝึกให้ลูกระบายความรู้สึก

เมื่อลูกสามารถสังเกตอารมณ์ของตัวเองยามเกิดอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ ก็พยายามให้เขาฝึกระบายความรู้สึกออกมาด้วย เช่น ให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้พ่อแม่ เพื่อน หรือคนใกล้ชิดฟัง ซึ่งถ้าเป็นพ่อแม่ก็หมายความว่า พ่อแม่ต้องพร้อมทุกเมื่อที่จะรับฟังลูกเมื่อลูกต้องการเรา และเมื่อรับฟังเรื่องราวจากลูกแล้ว ก็ต้องสอบถามอารมณ์ความรู้สึกว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เพื่อให้เขาได้เรียนรู้อารมณ์ของตัวเองด้วย จากนั้น พ่อแม่ค่อยๆ ให้คำแนะนำเพื่อให้อารมณ์ของลูกกลับเข้าสู่สภาวะปกติให้ได้ก่อน

ประการที่สี่ - ฝึกให้จัดการกับอารมณ์โกรธของตัวเอง

ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะเป็นขั้นของการที่ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเอง พ่อแม่จะรู้ดีว่าพื้นฐานอารมณ์ของลูกแต่ละคนเป็นอย่างไร ก็ควรจะช่วยลูกให้เหมาะกับพื้นนิสัย และสถานการณ์ด้วย เช่น พาลูกออกไปจากบรรยากาศที่ทำให้เขาเกิดสภาวะอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจ เพื่อเบี่ยงเบนสถานการณ์ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็สามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย แต่ถ้าลูกโตก็ต้องใช้เวลาและเทคนิคของพ่อแม่มากหน่อย หรือชวนไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าจะช่วยให้ลูกผ่อนคลาย เช่น ชวนไปเดินเล่น วาดรูป ชวนไปกินไอศกรีม หรือกิจกรรมโปรดของลูก เพื่อให้คลื่นลมพายุในใจลูกสงบซะก่อน

เมื่ออารมณ์พุ่งพล่านสงบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อย่าลืมที่จะชวนลูกพูดคุยว่าต้นตอของความโกรธ โมโห เกิดจากอะไร และเขาคิดอย่างไรกับสถานการณ์นั้นๆ แล้วอาจลองโยนคำถามหรือเสนอแนะทางออกว่าถ้าทำอย่างนี้ หรือแก้ปัญหาแบบนี้จะดีกว่าไหม

จากนั้นก็ควรสอบถามว่าเมื่อเกิดอารมณ์โกรธแล้วผลที่ตามมาเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าหากลูกมีอารมณ์โกรธแล้วขว้างปาข้าวของเสียหาย หรือทำให้ผู้อื่นหรือตัวเองเจ็บตัว ผลที่ตามมาคืออะไร เพื่อให้เขาได้ลำดับเหตุการณ์และคิดถึงผลเสียที่ตามมาหากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้

อย่าลืมว่าสังคมยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เด็กยุคใหม่เป็นเด็กหงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ขี้โมโห เพราะเป็นสังคมแห่งความเร่งรีบ สังคมแห่งเทคโนโลยีที่เป็นตัวปลุกเร้ากระตุ้นอารมณ์เด็กรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา

รวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกที่ไม่เหมาะสมของพ่อแม่ก็มีไม่น้อยทีเดียว

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องไม่ตกเป็นทาสความเจ้าอารมณ์ของตัวเองด้วย เพราะถ้าพ่อแม่ไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ก็อย่าได้หวังที่จะสอนให้ลูกจัดการอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น