มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน เปิดรับสมัครโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ประจำปี 2559 ตั้งเป้าขยายจำนวนโรงเรียนเพิ่มปีละ 50 โรงเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนกว่า 604 จากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อร่วมกันลดปัญหาทุพโภชนาการของเด็กในพื้นที่ห่างไกล
นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เพื่อแก้ปัญหาภาวะโภชนาการต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กไทย มาดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2532 หรือกว่า 27 ปีแล้ว
ปัจจุบันได้ขยายโครงการสู่ 604 โรงเรียนทั่วประเทศ ประกอบด้วย โรงตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 128 แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และอื่นๆ 476 แห่ง ช่วยให้เด็กไทยกว่า 120,000 คน พ้นจากภาวะทุพโภชนาการได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการได้รับโปรตีนและสารอาหารจำเป็นจากไข่ไก่
“สำหรับในปี 2559 นี้ ทางมูลนิธิฯ ได้เปิดรับโรงเรียนที่เปิดทำการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกลที่มีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จำนวน 50 โรงเรียน ซึ่งพิจารณาจากจำนวนนักเรียนที่ประสบปัญหาทุพโภชนาการเกินกว่า 10% มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการฯ เพื่อร่วมกันสร้างโภชนาการที่ดีให้เยาวชนไทย โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 31 ธันวาคม 2559 สามารถดาวโหลด ใบสมัครได้ที่ www.rurallives.org และ rldflunch@gmail.com” นายสุปรี กล่าวเสริม
สำหรับโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการสนับสนุนดังนี้ 1) งบประมาณการก่อสร้างโรงเรือนตามแบบมาตรฐานที่กำหนด 2) อุปกรณ์กรงตับ และอุปกรณ์ให้น้ำ พร้อมการติดตั้ง 3) พันธุ์สัตว์, อาหารสัตว์, วัคซีน 4) ป้ายโครงการ 5) การอบรม โดยโรงเรียนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท โทร. 02-6257342
นายสุปรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการฯ นี้ มูลนิธิพัฒนาชนบทฯ จะเข้ามาช่วยในเรื่องการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณ คัดเลือกโรงเรียนที่จะดำเนินโครงการ จัดทำแผนการดำเนินงาน ติดตามและรายงานผล โดยมีซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนในส่วนของการส่งมอบเทคโนโลยีอันทันสมัยในส่วนของโรงเรือนและอุปกรณ์
รวมถึงมอบพันธุ์ไก่ไข่ พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิชาการและการจัดการ และเข้าดูแลให้คำปรึกษาแก่อาจารย์และนักเรียนผู้ดูแลโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุดซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่สดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ ได้เรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัยด้วยตนเอง แล้วนำผลผลิตไข่สดที่ได้มาแบ่งปันบริโภคกันภายในโรงเรียน นอกจากนั้นเยาวชนเหล่านี้ ยังสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาและต่อยอดเลี้ยงชีพในอนาคตได้อย่างยั่งยืน