xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง กม.ดิจิทัลฯสะดุด-สนช.โหวตคว่ำ-ชี้เอื้อกลุ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ร่าง พ.ร.บ.ดิจิทัลชะงัก ที่ประชุม สนช.โหวตไม่ผ่าน หลัง กมธ.แก้ไข คุณสมบัติ กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้เปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ทำลายระบบธรรมาภิบาล ไม่มีความโปร่งใส ส่อเจตนาแอบแฝง ล็อกสเปกบุคคล ด้าน กมธ.ขอถอนร่างออกไปปรับปรุงใหม่อีกรอบ

วานนี้ (3 พ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยเป็นการพิจารณาในวาระ 2 เรียงลำดับรายมาตรา โดยมาตรา 8 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ครม.แต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการตัดข้อความใน (6) ที่ระบุว่า “ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่” และ (7) ช่วงที่ว่า “...และไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใด หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือลูกจ้างขององค์กรเอกชนใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ” ออกไป

** สนช.รุมถล่มแก้บางท่อนเอื้อนายทุน

ส่งผลให้สมาชิก สนช.หลายรายอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดข้อความดังกล่าวออก โดยเห็นว่าการตัดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนี้ออกถือเป็นเรื่องใหญ่ เปิดช่องให้บุคคลที่มีผลประโยชน์ บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจดิจิทัล เข้ามาเป็นกรรมการ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาล ไม่มีความโปร่งใส มีเจตนาอะไรแอบแฝงในการตัดข้อความดังกล่าว เป็นการล็อกสเปกบุคคลหรือไม่ เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีอำนาจในการบริหารกองทุน ซึ่งมีจำนวนเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบเชื่อว่า มีคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ด้านตัวแทนกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า กรรมการชุดนี้จะเป็นผู้วางนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจสังคม ออกระเบียบการบริหารกองทุน การจัดหาผลประโยชน์และจัดการกองทุน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้แต่บุคลากรด้านนี้มีน้อยอีกทั้งคนที่อยู่แวดวงไอซีทีส่วนใหญ่ก็มาจากภาคเอกชน กรรมาธิการฯมีความกังวลเรื่องคน ดังนั้นการตัดข้อความนี้ออกก็เพื่อต้องการได้คนที่มีความเชี่ยวชาญ คนเก่ง มาเป็นกรรมการไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะดิจิทัลจะเป็นเสาหลักของชาติ ถ้าได้คนไม่มีความรู้มาเป็นก็ไม่รู้ว่า อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้คนที่มีส่วนได้เสียก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้ ประกอบกับจะมีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ....ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมในเรื่องของผลประโยชน์ของกรรมการ และหากในอนาคตเห็นว่ามีปัญหามาก็ก็สามารถที่จะนำเสนอแก้ไขกฏหมายมาตรานี้ได้

อย่างไรก็ตาม ทางสมาชิก สนช.ยังคงยืนยันไม่เห็นด้วย ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติ ซึ่งผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่มีมติใน (6) ไม่เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯตัดออกด้วยคะแนน 38 ต่อ 146 งดออกเสียง 10 และลงมติ ไม่เห็นชอบกับการตัด (7) ด้วยคะแนน 26 ต่อ 158 งดออกเสียง 10 จึงต้องคงมาตรา 8 ตามร่างเดิม

** กมธ.ขอถอนหลับไปทบทวนใหม่

ต่อมาที่ประชุม สนช.เสนอว่า จากผลจากการลงมติดังกล่าวทำให้ต้องมีการแก้ไขอีกหลายประเด็น ดังนั้นควรให้กรรมาธิการทำการแก้ไขก่อนที่จะมีการพิจารณาเพื่อให้ดำเนินไปอย่างสะดวก รวดเร็ว นายพรเพชรจึงสั่งพักการประชุม 15 นาทีเพื่อให้คณะกรรมาธิการไปหารือถึงการปรับแก้ร่างพ.ร.บ.และเมื่อมีการเปิดประชุมอีกครั้ง ทางกรรมาธิการ ได้ขอถอนออกไปเพื่อพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับที่สมาชิกอภิปรายและขอแปรญัตติ ก่อนนำมาให้ที่ประชุมได้พิจารณาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมเพื่อให้การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือดีอี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ปลัดกระทรวงฯเป็นกรรมการและเลขานุการและให้เลขาธิการเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งกรรมการดิจิทัลฯ ที่มีหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน มาตราการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ นอกจากนี้ยังกำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีคณะกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล.
กำลังโหลดความคิดเห็น