xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส.ค.ส. พระราชทาน“พร” ที่ยิ่งใหญ่ของ “พ่อ” ส่งความสุขสู่ประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ส.ค.ส. พระราชทานจาก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เปรียบดังบัตรส่งความสุขพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559

ถือเป็น “พรพระราชทาน” ที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่ามากที่สุดของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า

เดิมที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. โดยปรุแถบเทเล็กซ์ (โทรพิมพ์) ปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจ เพื่อพระราชทานพรปีใหม่แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน ก่อนเริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. 2530

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2529 ซึ่งเป็น ส.ค.ส. พระราชทาน สำหรับปี 2530 ส.ค.ส. ไม่มีการตกแต่งลวดลายใดๆ โดยพระองค์พระราชทานให้เฉพาะหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

เนื้อความของ ส.ค.ส.พระราชทานฉบับแรก ความว่า

“ถึงเจ้าหน้าที่ และสมาชิกผู้เกี่ยวข้อง กส.9 ขอขอบใจทุกคน และถือโอกาสอวยพร ปีใหม่ ด้วยถ้อยคำต่างๆ ให้พิจารณา ดังต่อไปนี้

เห็นตรง พูดไพเราะ จิตมั่นคง
หมั่นเพียร งามสุจริต คิดดีสงบ
แจ้งสว่าง สวยงาม สงบร่มเย็น
เป็นทางขจัดทุกข์โศก บรรลุความสุกความเจริญ
กส.๙ ปรุ ๓๑๑๔๓๐ ธค ๒๕๒๙.”

ส.ค.ส.พระราชทานฉบับแรกปรากฏข้อความสั้นๆ โดยทรงปริ้นท์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยทั่วถึงกัน นับแต่นั้นมาพระองค์ก็ได้พระราชทานเรื่อยมาเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ยกเว้นปี พ.ศ. 2548 เนื่องด้วยเหตุธรณีพิบัตภัยสึนามิบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน

ทั้งนี้ ในส่วนท้าย ส.ค.ส ปรากฏข้อความ “กส. 9 ปรุ” ซึ่งเป็นรหัสเรียกขานวิทยุแทนพระองค์ที่ทรงเป็นผู้ปรุขึ้น ตามหลังด้วยตัวเลขของเวลาและวันที่ พระองค์ทรงสร้างในรูปแบบ “วว ชช นน ดด ปปปป.” (ว คือ วันที่, ช คือ ชั่วโมง, น คือ นาที, ด คือ เดือน และ ป คือ ปี) กล่าวคือ ส.ค.ส. พระราชทาน ยกตัวอย่างข้อความแนบท้ายฉบับแรก จึงหมายถึง เวลา 14.30 น. วันที่ 31 ธันวาคม 2529

ข้อความใน ส.ค.ส.พระราชทาน ล้วนมีความหมายลึกซึ้ง แต่ละฉบับมีเนื้อหาแยบคาย ชวนประชาชนตระหนักรู้ กระตุ้นขวัญกำลังใจ ซึ่งเป็นการประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง สะท้อนภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ประเทศไทยเผชิญในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งถ้อยคำอวยพรพสกนิกรของพระองค์

ส.ค.ส.พระราชทาน ฉบับแรกๆ นั้นปรุแถบเทเล็กซ์ มีอัตลักษณ์เรียบง่ายแฝงความหมายอันทรงคุณค่า ส.ค.ส มีสีขาวดำประกอบด้วยความคมคายของเนื้อหา กระทั่ง ฉบับปี พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสร้าง ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ และมีรูปวาดฝีพระหัตถ์เผยให้เห็นพระอัจฉริยะภาพด้านจิตรกรรม และมีการปรับข้อความแนบท้ายเปลี่ยนเป็น “ก.ส. 9 ปรุง” เพื่อแทนการปรุงจากคอมพิวเตอร์

เหตุผลที่ ส.ค.ส. พระราชทาน หลายต่อหลายฉบับพระองค์เลือกใช้สีขาวดำ ดร.สุเมธ เล่าถึงความตั้งพระราชหฤทัยในการจัดทำ ส.ค.ส. ด้วยสีดังกล่าว ความว่า

“เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการสะท้อนให้ลูกหลานไทยได้เห็นถึงตัวอย่างของความประหยัด มัธยัสถ์ สิ่งของหลาย ๆ สิ่งแม้จะไม่มีสีสันดึงดูดตา แต่ก็มากมายด้วยความหมาย พระองค์พยายามทำทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์ตลอดเวลา ทรงรักความเรียบง่าย ยึดมั่นในความหมาย และคุณค่าของสรรพสิ่งเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองกันที่ความสวยงาม ฟุ้งเฟ้อ” ดร.
สุเมธ ให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของ ส.ค.ส พระราชทานได้ปรับเปลี่ยนให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเรียบง่าย โดยนับแต่ฉบับปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ได้นำพระบรมฉายาลักษณ์กับสุนัขทรงเลี้ยงมาประดิษฐ์ ส.ค.ส หรืออย่างฉบับ ปี พ.ศ. 2558 พระองค์ทรงนำภาพวาดจากพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก มาใช้ประดิษฐ์แฝงข้อคิดและอวยพรแก่ปวงชนชาวไทย

สำหรับ ส.ค.ส. พระราชทาน แผ่นสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉบับปี พ.ศ. 2559 ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ขณะพระองค์แย้มพระสรวล และถ้อยคำเป็นจารึกไว้ในหัวใจไทยทั้งผอง ความว่า

“ให้มีกำลังกายที่แข็งแรง
มีกำลังใจที่เข้มแข็งหนักแน่น
และมีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอ
ขอจงมีความสุขความเจริญ
Happy New Year
ก.ส. ปรุง 311502 ธ.ค. 2558”

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะพระราชทาน ส.ค.ส. ในวันสิ้นปี 31 ธันวาคม ของทุกปี ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ส.ค.ส. พระราชทาน ยังคงทำหน้าที่ส่งมอบความสุขอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นพรยิ่งใหญ่ที่สร้างความปลาบปลื้มใจแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้




























กำลังโหลดความคิดเห็น