ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -
ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาลบุญดิเรก
เอกบรมจักรินพระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย
เสียง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ที่ดังออกมาจากหัวใจของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ซึ่งเดินทางจากทั่วทุกสารทิศและมารวมตัวกันอยู่ ณ ท้องสนามหลวงและพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวังในวันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 คือประจักษ์พยานแห่งความจงรักภักดี คือประจักษ์พยานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ คือประจักษ์พยานแห่งความผูกพันและความอาลัยที่ปวงชนชาวไทยมีต่อ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” อย่างหาที่สุดมิได้
กล่าวได้ว่า ในวันนั้น ถนนทุกสายของราชอาณาจักรไทยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ ท้องสนามหลวง
ทุกตารางนิ้วนับตั้งแต่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ถนนรอบพระบรมหาราชวังถนนราชดำเนินทั้งสองฝั่ง และพื้นที่โดยรอบเนืองแน่น คลาคล่ำไปด้วย มวลมหาประชาชน ที่ทยอยเดินทางกันมาตั้งแต่เช้ายันบ่ายจากทุกทิศทุกทาง ทั้งฝั่งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งถนนราชดำเนินกลาง ฝั่งถนนพระอาทิตย์
บางคนเดินทางด้วยรถยนต์....บางคนเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์....บางคนเดินทางด้วยรถจักรยาน.....บางคนใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง....บางคนโดยสารเครื่องบิน....และบางคนเดินทางด้วย “เท้า” เพื่อเข้ารวมงานวันนี้
ประชาชนจำนวนไม่น้อยเดินทางมารอตั้งแต่คืนวันที่ 21 ตุลาคม
ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 22 ตุลาคม พร้อมปักหลักเฝ้ารอโดยไม่มีใครปริปากบ่นท่ามกลางแดดร้อนจ้า และยืนหยัดอยู่ตลอดทั้งวันโดยไม่ย่อท้อแม้ฝนจะโปรยปรายลงมา
เปรียบประดุจสายน้ำแห่งความจงรักภักดีที่ไหลมาจากเหนือใต้ออกตก ด้วยหัวใจดวงเดียวกันคือต้องการ “ร้องเพลงให้พ่อให้ยิน”
นอกจากนั้น ตลอดเส้นทางเข้าสู่ท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวังยังมีกลุ่มประชาชนจิตอาสาซึ่งหลอมรวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียวด้วยการนำอาหารและน้ำดื่ม มาแจกจ่ายเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งประวัติศาสตร์ในวันนั้น มี “มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” เป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำภาพยนตร์เพลงสรรเสริญพระบารมี มีวง สยามฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา และวง สยามซิมโฟนิเอตต้าเป็นผู้บรรเลงดนตรี พร้อมคอรัสอีกกว่า 100 คนโดยมี “สมเถา สุจริตกุล” เป็นวาทยกร
ที่สำคัญคือ การร้องเพลงในครั้งนี้ คุณพลอยไพลิน เจนเซ่น พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดีได้เดินทางมายังเวทีกลางสนามหลวงเพื่อเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีไปกับคณะนักร้องเพลงเสียงประสานและวงดนตรีออเคสตราด้วย
ตลอดการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกรอบ ทุกคนต่างร้องเพลงด้วยเสียงที่เปล่งออกมาจากหัวใจ ร้องด้วยเสียงอันดังกระหึ่มกึกก้องไปทั่วทั้งอาณาบริเวณโดยรอบ พร้อมภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ยกชูขึ้นเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม และน้ำตานองหน้าด้วยความอาลัยรักและพระมหากรุณาธิคุณใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
บรรยากาศรอบสนามหลวงเต็มไปด้วยเสียงสะอื้นไห้และความโศกเศร้าอาดูรเหลือประมาณ
ประชาชนที่ร้องรอบแรกไปแล้วก็ทยอยออกมาแล้วสลับสับเปลี่ยนให้คนที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปทดแทนในพื้นที่ชั้นในเพื่อร่วมร้องเพลงในรอบต่อๆ มา แม้จะมีฝนตกโปรยปรายลงมาก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนท้อถอยแต่อย่างใด โดยเฉพาะในช่วงค่ำอันเป็นเวลาที่นัดหมายร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกครั้ง ซึ่งทุกคนเฝ้ารอที่จะร่วมจุดเทียนและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้
ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศ อาทิ เอเอฟพี รอยเตอร์ ต่างนำเสนอข่าวคลื่นมหาชนชาวไทยเรือนแสนจากทั่วทุกสารทิศในชุดดำพร้อมถือพระบรมฉายาลักษณ์มารวมตัวกันเต็มพื้นที่ท้องสนามหลวงและถนนรายรอบพระบรมมหาราชวังเพื่อร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจและสะท้อนให้เห็นว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เพียงใด
“ไม่คาดคิดว่าประชาชนจะเดินทางมามากมายขนาดนี้ ทุกคนมากันด้วยใจ ไม่มีการเกณฑ์หรือบังคับ ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีค่ายดารา บางคนยืนตากแดดโดยไม่บ่นเพราะทุกคนต้องการมาร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยพร้อมเพรียง” มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ประธานจัดงานบอกเล่าความรู้สึก
เฉกเช่นเดียวกับ สมเถา สุจริตกุล วาทยกรในการบรรเลงและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งประวัติศาสตร์ ที่บอกว่า “ สิ่งที่อยากจะสื่อในวิธีเรียบเรียงเพลงคืออยากให้เป็นการแสดงคล้ายกับประวัติศาสตร์การครองราชย์ 70 ปี ของพระองค์ท่านรวบรวมมาอยู่ใน 2 นาที เพลงเริ่มจากโน้ตตัวเดียว ทุกคนร้องโน้ตเดียวกัน แล้วค่อยๆ ขยายขึ้นจนเสียงเต็มเหมือนน้ำที่ไหลเพียงหยดเดียวกลายมาเป็นลำธารแล้วไหลไปเป็นแม่น้ำ ในที่สุดก็กลายเป็นมหาสมุทรอัน ยิ่งใหญ่ ....เป็นเรื่องไม่ง่ายแต่ทุกคนมีความตั้งใจมาก ....วันนี้เราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2559 เป็นภาพที่ประทับตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยและต้องจดจารจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทยตราบชั่วกาลนาน
ทุกคนมาด้วยใจรัก
ทุกคนมาด้วยภักดี
และทุกคนมาเพื่อสดุดีมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ พระมหากษัตริย์ที่ทรงทำ ทรงสอน ทรงเป็นแบบอย่างและทรงเป็นแรงบันดาลใจตลอด 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ
นี่คือปรากฏการณ์ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกอีกแล้วนอกจากราชอาณาจักรไทย และโลกก็ต้องบันทึกภาพประวัติศาสตร์แห่งความรัก “พระฉัตรเกล้าของชาวไทย” ที่เกิดขึ้นเอาไว้เช่นกัน
หมายเหตุ-กองบรรณาธิการผู้จัดการสุดสัปดาห์ขออภัยในความผิดพลาดในฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากตีพิมพ์วันเสด็จสวรรคตผิด ในรายงานพิเศษเรื่อง “รักพ่อภูมิพล KING OF THE WORLD