ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ช่วงนี้หลายสถาบันการศึกษาระดับประถม และมัธยม ได้ปิดภาคเรียน (เทอมแรก)กันแล้ว หยุดไปอีกประมาณ 1 เดือน ผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐ ทั้งรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระระดับล่างไปถึงระดับกลาง ก็คงจะต้องหาเงินเก็บเพื่อเป็นค่าศึกษาของบุตร กันแต่เนิ่นๆ แต่โชคดีหน่อยที่มี “เงินสนับสนุนการศึกษาบุตร”เป็น เงินสวัสดิการของท่านทั้งหลายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ที่รัฐท่านก็ได้กำหนด เปลี่ยนแปลง เพิ่ม สวัสดิการให้กับข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐเหล่านั้น
อย่างวันก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ มีการยกเลิกประกาศฯว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึง “ค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตรของพนักงานรัฐวิสาหกิจ”มีการกำหนดนิยามต่างๆ กำหนดอัตราค่าช่วยเหลือบุตรของลูกจ้าง หลักเกณฑ์ ประเภท และอัตราการจ่ายค่าช่วยเหลือ จำนวนบุตร ฯลฯ โดยสรุปได้ดังนี้
บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่าและหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบํารุงการศึกษาเต็มจํานวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกําหนด
บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้ได้รับเงินบํารุงการศึกษาเต็มจํานวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกําหนด
บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนเต็มจานวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกําหนด
บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า แต่ไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจํานวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกําหนด
บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกําหนด
หลังจาก ที่ปี 2550 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กำหนดให้ “ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ”มีสิทธิได้รับค่าช่วยเหลือบุตรเป็นรายเดือน เดือนละ 120 บาท ต่อคน และกำหนดให้ “นายจ้าง”จ่ายเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรให้แก่“ลูกจ้าง”
นอกจากนั้น ครม. ยังให้มีการปรับค่าจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 43,890 บาท เฉพาะอัตราเงินเดือนแบบช่วงจะปรับขึ้นไม่เกิน 2% แบบขั้นปรับขึ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 ขั้น จากจำนวนลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ 295,009 คนของ 64 รัฐวิสาหกิจ และเนื่องจากราชการรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐปรับฐานเงินเดือนไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ก็จะมีปรับย้อนหลังไปเช่นกัน
ข้างต้นเป็น “สวัสดิการของรัฐวิสาหกิจล้วน ๆ”แต่วันก่อนราชกิจจานุเบกษา (5 ตุลาคม 2559) มีการเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยเงินสนับสนุนการศึกษาบุตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ระเบียบระบุว่า เป็นสวัสดิการว่าด้วยเงินสนับสนุนการศึกษาบุตร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยให้ ยกเลิกความในข้อ 9 ของระเบียบกสทช.ว่าด้วยเงินสนับสนุนการศึกษาบุตร พ.ศ. 2558และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๙ การจ่ายเงินสนับสนุนการศึกษาบุตรให้เหมาจ่ายตามอัตรา ดังนี้ (๑) ระดับอนุบาลหรือเทียบเท่า ปีการศึกษาละ ๑๗,๐๐๐ บาท (๒) ระดับประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ปีการศึกษาละ ๑๖,๕๐๐ บาท (๓) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า ปีการศึกษาละ ๒๐,๐๐๐ บาท (๔) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ปีการศึกษาละ ๒๐,๒๕๐ บาท (๕) ระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ปีการศึกษาละ ๑๗,๑๒๕ บาท (๖) ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษาละ ๓๑,๒๕๐ บาท
(๗) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า จําแนกตามประเภทวิชาหรือสายวิชา ดังนี้ (๗.๑) คหกรรมหรือคหกรรมศาสตร์ ปีการศึกษาละ ๒๕,๐๐๐ บาท (๗.๒) พาณิชยกรรมหรือบริหารธุรกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปีการศึกษาละ ๒๕,๐๐๐ บาท (๗.๓) ศิลปหัตถกรรมหรือศิลปกรรม ปีการศึกษาละ ๒๕,๐๐๐ บาท (๗.๔) เกษตรกรรมหรือเกษตรศาสตร์ ปีการศึกษาละ ๒๖,๒๕๐ บาท (๗.๕) ประมง ปีการศึกษาละ ๒๖,๓๗๕ บาท (๗.๖) ช่างอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสิ่งทอ ปีการศึกษาละ ๓๐,๕๐๐ บาท (๘) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) หรือเทียบเท่า จําแนกตามประเภทวิชาหรือสายวิชา ดังนี้ (๘.๑) พาณิชยกรรมหรือบริหารธุรกิจ ศิลปหัตถกรรมหรือศิลปกรรม เกษตรกรรม หรือเกษตรศาสตร์ คหกรรมหรือคหกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปีการศึกษาละ ๓๑,๒๕๐ บาท (๘.๒) ช่างอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทัศนศาสตร์ปีการศึกษาละ ๓๗,๕๐๐ บาท”
ทั้งนี้ สิทธิในการได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาบุตรตามระเบียบนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๙ เป็นต้นไปประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ลงนามโดย พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการ กสทช.
ย้อนกลับมาดู “สิทธิสวัสดิการของข้าราชการทั่วไป”ล่าสุด กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้กำหนด ประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนเพื่อให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำและผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ สำหรับปีการศึกษา 2559 เป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หลังจากรอบ 8 ปีมีการปรับเพียง 3 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 30 ตุลาคม 2552 ครั้งที่สอง 13 กุมภาพันธ์ 2557 และครั้งที่สามล่าสุด ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2559
การปรับอัตราเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการและค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาของเอกชน โดยปรับขึ้นในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับปริญญาตรี เฉลี่ย 240-3,000 บาท
เช่น อนุบาล สถานศึกษาของรัฐ เดิมเบิกได้ 5,100 บาท เพิ่มเป็น 5,800 บาท ถ้าเป็นสถานศึกษาเอกชนที่ไม่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 11,940 บาท เพิ่มเป็น 13,600 บาท ระดับปริญญาตรี สถานศึกษาของรัฐเดิมเบิกได้ 22,000 บาท เพิ่มเป็น 25,000 บาท ระดับอาชีวศึกษาสายคหกรรม หรือคหกรรมศาสตร์ สถานศึกษาที่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 1,260 เพิ่มเป็น 1,400บาท สถานศึกษาที่ไม่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 14,540 บาทเพิ่มเป็น 16,500 บาท ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอสถานศึกษาได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 6,370 บาท เพิ่มเป็น 7,200 บาท สถานศึกษาที่ไม่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 21,440 เพิ่มเป็น 24,400 บาท
สำหรับสถานศึกษาของเอกชน ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) หรือเทียบเท่า ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงของค่าเล่าเรียนปีการศึกษาละไม่เกิน 25,000-30,000 บาท ตามประเภทวิชาหรือสายวิชา และหลักสูตรปริญญาตรี ให้เบิกจ่ายครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงของค่าเล่าเรียนปีการศึกษาละไม่เกิน 25,000 บาท ค่าเล่าเรียนที่ให้เบิกจ่ายได้จะต้องเป็นค่าธรรมเนียมการเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งสถานศึกษาเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการหรือมหาวิทยาลัย
ระเบียบข้างต้นนี้ ให้สิทธิกับ ผู้สังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม คำสั่ง มท 0809.3/ว4522 ลว 9 ส.ค. 2559 เรื่อง ประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียน เช่นกันกับ ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนการศึกษาแก่บุตรข้าราชการ และลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร และ ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนการศึกษาแก่บุตรข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร
สำหรับ บุตรที่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาบุตรพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร พ.ศ.2523และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ 1. บุตรที่มีรายได้แต่อายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ คงมีสิทธิเบิกเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรได้ในระดับไม่เกินอนุปริญญาหรือเทียบเท่าหรือจนกว่าจะหมดสิทธิ 2. บุตรที่เกินกว่า 3 คน ของผู้มีสิทธิเกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2522 ให้มีสิทธิเบิกต่อจนกว่าจะหมดสิทธิ 3.บุตรฝาแฝด ซึ่งผู้มีสิทธิมีบุตรอยู่ก่อนแล้ว จำนวน 2 คน แต่ต่อมาได้เกิดบุตรฝาแฝดอีก 2 คน รวมเป็น 4 คน ก็ให้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินสวัสดิการนี้ด้วย และ 4. บุตรที่เกินกว่า 3 คน แต่ในจำนวน 3 คน นั้น ถ้าตาย พิการ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ก่อนอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ให้เอาบุตรลำดับต่อไปนำมาเบิกได้ให้ครบ 3 คน อย่างเดิม จนกว่าจะหมดสิทธิ
แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว การเพิ่มสวัสดิการให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ นี้ จะสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุดหรือไม่ ที่ระบุว่า ประชาชนไทยมีสิทธิในการเรียนฟรีจากภาครัฐเพียงแค่ 12 ปี ในขณะที่การปรับสวัสดิการบางแห่งให้สิทธิบุตรพนักงานฯ ถึงชั้นปริญญาตรี.