xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ออกคำสั่งเรียนฟรี 15 ปี สูงสุด ม.6 - กรธ.เชื่อไม่ได้จูงใจประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งที่ 28/2559 ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตั้งแต่อนุบาลถึง ม.6 หากมีปัญหาให้รัฐมนตรีชี้ขาด ด้านโฆษก กรธ.ชี้ทำได้เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ลงประชามติ แม้ระบุเรียนฟรี 14 ปี แต่ไม่ปิดกั้น ระบุไม่น่าจะเกี่ยวจูงใจให้คนลงประชามติ

วันนี้ (15 มิ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 28/2559 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ระบุว่า ตามที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้รัฐต้องจัดให้บุคคลได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น รัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายจัดการศึกษาดังกล่าวโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 15 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 มกราคม 2552 โดยขออนุมัติตั้งงบประมาณเป็นรายปี และขยายขอบเขตการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละคณะมาเป็นลำดับ

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่เรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ทั้งสามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา และความเป็นธรรมในสังคม แก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จึงสมควรยืนยันแนวทางดังกล่าวและพัฒนาต่อไป ด้วยการยกระดับจากการเป็นโครงการตามนโยบายของแต่ละรัฐบาลให้เป็นหน้าที่ของรัฐและมาตรการตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนมั่นคง และเพื่อให้สามารถจัดงบประมาณสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในคําสั่งนี้

“ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา” หมายความว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้แก่หรือผ่านทางสถานศึกษาหรือผู้จัดการศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี

“การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี” หมายความว่า การศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) (ถ้ามี) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 3) หรือเทียบเท่า และให้หมายความรวมถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ด้วย

“การศึกษาพิเศษ” หมายความว่า การจัดการศึกษาให้แก่บุคคลซึ่งมีความผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งจําเป็นต้องจัดการศึกษาให้เป็นรูปแบบโดยเฉพาะ และอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนตามลักษณะ
ความต้องการและความจําเป็นของแต่ละบุคคล

“การศึกษาสงเคราะห์” หมายความว่า การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ตกอยู่ในภาวะยากลําบาก หรืออยู่ในสถานภาพที่ด้อยกว่าเด็กทั่วไป หรือที่มีลักษณะเป็นการกุศล เพื่อให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพัฒนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย

ข้อ 2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนดเตรียมการเพื่อจัดให้เด็กเล็ก ก่อนวัยเรียนได้รับการดูแล และพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดําเนินการด้วย

ข้อ 3 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานดําเนินการจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐาน 15 ปี ให้มีมาตรฐานและคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกําหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสําหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อเสนอตามกระบวนการจัดทํา งบประมาณรายจ่ายประจําปี ค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง ได้แก่

(1) ค่าจัดการเรียนการสอน (2) ค่าหนังสือเรียน (3) ค่าอุปกรณ์การเรียน (4) ค่าเครื่องแบบนักเรียน (5) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (6) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

ข้อ 4 ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทําหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อนํามาใช้แทนและขยายผลต่อจากคําสั่งนี้แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในหกเดือนนับแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ

ข้อ 5 ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคําสั่งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอํานาจวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อ 6 ให้อัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีผลใช้อยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการกําหนดอัตราค่าใช้จ่ายสําหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตามข้อ 3

ข้อ 7 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 15 มิถุนายน พุทธศักราช 2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ คสช.ออกประกาศเรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่า ถือเป็นเรื่องนโยบายของรัฐที่สามารถออกมาได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ยังไม่ประกาศใช้ และถือว่าไม่ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ด้วย เพราะกำหนดให้เรียนฟรี 14 ปี ประกอบไปด้วยเด็กเล็ก 2-3 ขวบก่อนชั้นอนุบาล ต่อด้วยอายุ 4-6 ขวบ ระดับชั้นอนุบาล จากนั้น ป.1-ม.3 อายุ 7-15 ปี

ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อผ่านการประชามติ ก็ต้องยึดมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 258 (1) คือเรียนฟรี 14 ปี แต่ไม่มีปิดกั้นให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา หากมีเงินก็สามารถออกนโยบายให้เรียนฟรีไปจนถึงชั้น ม.6 ได้ โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกรัฐบาลก็จะส่งเสริมให้เรียนฟรีถึง ม.6 เพราะเป็นบรรทัดฐานที่สืบทอดกันมา ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ระบุให้เรียนฟรี 12 ปี แต่ไม่กำหนดว่าเริ่มตั้งแต่การศึกษาระดับไหนไปสิ้นสุดถึงไหน แต่ที่ผ่านมาก็ยึดตั้งแต่ ป.1-ม.6 เป็นหลัก

เมื่อถามว่า สาเหตุที่ คสช.ออกประกาศมาช่วงนี้เพื่อจูงใจสร้างคะแนนนิยมให้คนมาออกเสียงประชามติหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าไม่น่าจะใช่ เพราะเป็นการออกประกาศให้ขยายลงการศึกษา ลงชั้นอนุบาลเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจากเห็นว่าเด็กในอายุ 4-6 ขวบ เป็นช่วงที่มีพัฒนาการสมองดีที่สุด และจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและพัฒนาอย่างถูกต้อง

-วิษณุ” ยันคำสั่ง คสช.เรียนฟรี ไม่ทับซ้อนร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณีคำสั่ง คสช.จะทับซ้อนกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ไม่ทับซ้อน ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เรียนฟรี ตามการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ทำเกินจากนั้นได้ การพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ได้ชี้แจงว่าไม่ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายการศึกษาภาคบังคับคือ ประถมศึกษา 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี รวมเป็น 9 ปี ส่วนกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ที่ใช้กันอยู่ กำหนดไว้ 12 ปีรวมไปถึงมัธยมปลาย 3 ปีด้วย แต่รัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์ถึงพรรคเพื่อไทยมีนโยบายกำหนดให้เป็น 15 ปี เพิ่มจากภาคบังคับ 9 ปี คือ ช่วงอนุบาล 3 ปี และ มัธยมปลายอีก 3 ปี จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ไม่มีความมีข้อถกเถียงมาโดยตลอด รวมถึงคำว่าเรียนฟรีนั้น ฟรีค่าอะไรบ้าง จากเดิมที่เป็นค่าเล่าเรียน ต่อมาก็มีค่าอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ค่าอาหาร ทุกอย่างต้องวัดดวงที่นโยบายของแต่ละรัฐบาล

“คสช. มีความเป็นห่วงในส่วนนี้ และจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้เรียนฟรี 15 ปี เมื่อในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้เรียนฟรี 12 ปีก็มีการโวยวายกัน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเรียนฟรี 15 ปี เป็นนโยบายรัฐบาล ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่ คสช.เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ในคำสั่งนี้จึงเป็นคำสั่งฉบับแรกที่อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอื่นด้วย และเพื่อเป็นหลักประกันว่านโยบายเรียนฟรี 15 ปีจะมีการใช้ต่อไป ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ร่วมถึงได้ค่าอะไรบ้าง จึงทำเป็นคำสั่งออกมา แต่รู้ว่าคำสั่งไม่ยั่งยืนจึงสั่งไว้ด้วยว่าให้จัดทำ พ.ร.บ.เกี่ยวกับเรื่องนี้เสนอเข้า ครม.ใน 6 เดือน โดยจะมีรายละเอียดทั้งหมดว่าได้ค่าอะไรบ้าง” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นเพราะร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาในส่วนนี้ นายวิษณุกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ มีปัญหาในเรื่องนี้เพราะไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรไว้ แล้วแต่รัฐบาล ประชาชนก็สับสนว่าจะสิทธิต่างๆ หรือไม่กลายเป็นต้องเลือกพรรคการเมืองนั้นๆ ถามอีกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อไปต้องยึดอะไร นายวิษณุกล่าวว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. อะไรที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญไม่มีอะไรผิด อย่างน้อย 12 ปีที่รัฐธรรมนูญต้องการประชาชนก็ได้แล้ว นี่ยังแถมอีก 3 ปี แทนที่จะแถมจากนโยบายรัฐบาลแต่เป็นการแถมโดยกฎหมาย



กำลังโหลดความคิดเห็น