ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เปิดเผย ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ใจความว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สังกัดสํานักพระราชวัง ให้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ เป็นพิเศษเฉพาะราย จํานวน 9 ราย ดังนี้
1. นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการพระราชวัง 2. พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายบริหารนโยบายและปฏิบัติการ 3. พันโท สมชาย กาญจนมณี ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับ 4. พลตํารวจเอก จุมพล มั่นหมาย ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ 5.นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง
6. นายณรงค์ฤทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง 7. นายจินตนา ชื่นศิริ ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายการเงิน 8. นายสงคราม ทรัพย์เจริญ ดํารงตําแหน่ง แพทย์ประจําพระองค์ 9. พลตํารวจเอก พงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ ดํารงตําแหน่ง กรมวังผู้ใหญ่
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2559 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับประวัติ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวัง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 เป็นบุตรของ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี กับท่านผู้หญิงอรอวร อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
นายจิรายุ สำเร็จปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics (วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน)ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกจาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย สมรสกับ ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ส่วนการทำงาน เริ่มต้นทำงานครั้งแรกในฐานะเศรษฐกรที่กรมวิเทศสหการ และต่อมาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายจิรายุ ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่11 มีนาคม พ.ศ. 2524 ต่อมาได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สืบแทนนายอบ วสุรัตน์ ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2528
และในรัฐบาลถัดมา ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2530 และได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนถึงปัจจุบัน โดยทำหน้าที่ดูแลและจัดการการลงทุนของสำนักงานฯ ในขณะเดียวกัน ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง กระทั่งล่าสุดได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักพระราชวัง
นอกจากนี้ นายจิรายุ ยังดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายหน่วยงาน ได้แก่ กรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กรรมการของมูลนิธิชัยพัฒนา,มูลนิธิพระดาบส, ศิริราชมูลนิธิ, เลขาธิการในมูลนิธิสายใจไทยและมูลนิธิโครงการหลวง,เหรัญญิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เป็นต้น และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)และบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น