ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ยักษ์ใหญ่ “ซีพี” เหมือนใจตรงกัน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ (คสช.) สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นแม่งานพัฒนาอาหารไทยเต็มรูปแบบ เพื่อกำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการปรุง การบริโภค การใช้ผลิตภัณฑ์อาหารไทยทั่วโลก รวมทั้งการรับรองร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 20,000 แห่ง เพื่อยกระดับอาหารไทยให้ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานสูตรต้นแบบการปรุงอาหารของไทย นำร่อง 13 เมนู แบ่งเป็นอาหารคาว 11 เมนู ได้แก่ ส้มตำไทย ผัดไทย กะเพราหมู ต้มยำกุ้งน้ำใส ต้มยำกุ้งน้ำข้น มัสมั่นไก่ สะเต๊ะไก่ ลาบหมู ต้มข่าไก่ พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ และอาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ ทับทิมกรอบ และข้าวเหนียวมูน มะม่วงน้ำดอกไม้
เหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง คือ รสชาติอาหารไทยในร้านอาหารไทย รวมถึงห้องอาหารไทยของโรงแรมในต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์อาหารไทย ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ถูกนำไปประยุกต์จนรสชาติผิดเพี้ยนไปจากตำรับดั้งเดิมของไทย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการโดยตรงให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลุยยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ทั้งการตั้งศูนย์รสชาติอาหารไทย เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการทดสอบรสชาติอาหารไทย ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วทุกมุมโลก และการสร้างมาตรฐานสูตรต้นแบบทั้ง 13 เมนู
ประจวบเหมาะกัน เมื่อบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จัดโครงการ “ซีพี สุดยอด แชมป์แกงไทย” ประชันสูตรแกงไทย 5 เมนู ได้แก่ แกงเขียวหวานไก่ แกงกะหรี่ไก่ มัสมั่นหมู พะแนงหมู และฉู่ฉี่ปลาทับทิม โดยตั้งเงินรางวัลมอบให้ผู้ชนะ เมนูละ 1 ล้านบาท และรางวัลชมเชยอีก 10 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท รวมเม็ดเงินจัดกิจกรรมราว 25 ล้านบาท
ที่สำคัญ สูตรของผู้ชนะเลิศจากทั้ง 5 เมนูแกง จะถูกนำไปพัฒนาต่อ เพื่อยกระดับแกงไทยให้เป็นมาตรฐานในระดับสากลต่อไป
สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข รองกรรมการผู้จัดการบริหารด้านการตลาด ซีพีเอฟ กล่าวว่า อาหารไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องรสชาติและวัตถุดิบที่มีในประเทศไทย ทั้งเนื้อสัตว์ เครื่องเทศ สมุนไพร และเครื่องปรุงรส ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความหลากหลายในการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกและเป็นครัวของโลก (Thai Food to The World) ซึ่งเมนูขึ้นชื่ออย่าง “ต้มยำกุ้ง” คงไม่เพียงพอแล้วสำหรับการผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก จะต้องสร้างเมนูขึ้นชื่ออื่นๆ อีก
แน่นอนว่า กลุ่มแกงไทยถือเป็นหนึ่งในเมนูที่ได้รับความนิยมจากเหล่านักชิมและนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างมาก โดยเฉพาะแกงมัสมั่น ได้รับการยกย่องว่ามีรสชาติอร่อยที่สุดในโลก จากการสำรวจ World’s 50 most delicious food 2011ของ CNN
ขณะที่ พะแนง แกงเขียวหวาน แกงกะหรี่ และฉู่ฉี่ จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับในเรื่องของรสชาติทั้งหมด ซึ่งสุขวัฒน์ย้ำว่า ซีพีเอฟตั้งเป้าสร้างแกงไทยจากครัวของไทยสู่ครัวโลก ซึ่งสามารถผลักดันตลาดสินค้าและการส่งออกของประเทศในภาพรวม ตามปรัชญาธุรกิจ 3 ประการของซีพีเอฟ คือ การทำประโยชน์ให้กับประเทศ การสร้างประโยชน์ให้ประชาชน และสุดท้าย สร้างประโยชน์ต่อบริษัท
ต้องถือว่า ซีพีเอฟสามารถสร้างภาพลักษณ์ในฐานะผู้กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มร้านอาหารและเจ้าของสูตรตำรับอาหารให้ออกมาประชันสูตรต้นตำรับ ซึ่งอาจไม่เคยเปิดเผยสูตรที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เนื่องจากในการประกวดตามโครงการ ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนเล่าเรื่องราวแกงไทยของตนเอง พร้อมสูตรแกงที่ระบุปริมาณและสัดส่วนของ วัตถุดิบ เครื่องปรุงอย่างชัดเจน เพื่อผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือก เมนูละ 100 คน รวม 5 เมนู 500 คน หรือ 500 สูตรอาหาร
ในการแข่งขันจะแบ่งเป็นรอบท้าชิม รอบท้าปรุง และท้าชิงแชมป์ จนสุดท้ายเหลือผู้ชนะเลิศ สูตรแกงไทยที่ดีสุดและอร่อยที่สุด เมนูละ 1 สูตร 5 เมนู 5 สูตร ซึ่งมีแผนจะนำไปพัฒนาเชิงธุรกิจต่อไป และเผยแพร่สูตรแกงไทย ภายใต้แคมเปญ “CP Food Truck เอกลักษณ์แกงไทย” โดยจะเปิดตัวครั้งแรกในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2559 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และจะจัด CP Food Truck ตามอีเวนท์ต่างๆ เพื่อเผยแพร่สูตรแกงไทยและส่งเสริมกิจกรรมรถขายอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck)
กลยุทธ์เฟ้นหาแชมป์แกงไทย เพื่อต่อยอดแผนครัวโลกครั้งนี้ แม้ซีพีเอฟไม่ได้หวังผลเชิงธุรกิจเป็นอันดับแรก แต่ความสำเร็จของโครงการหมายถึงผลบวกในระยะยาว เนื่องจากซีพีเอฟเป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบหลัก ทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องปรุง มีผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงพร้อมทาน เช่น แกงเขียวหวาน จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกตลาดต่างประเทศ
หากมีเมนูอาหารไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น มีผู้หันมาประกอบอาชีพร้านอาหารมากขึ้น ย่อมหมายถึงการต่อยอดขยายตลาดธุรกิจอาหารและการเพิ่มมูลค่าเพิ่มสินค้าปลายน้ำ ซึ่งเป็นแนวนโยบายหลักของบริษัทแม่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อยู่แล้ว
ปัจจุบัน ซีพีเอฟถือเป็นบริษัทที่กุมธุรกิจหลักของเครือซีพี ครอบคลุมทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์และเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า ธุรกิจอาหาร ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทาน สุดท้าย คือ ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เครือซีพีพยายามขยายช่องทางการจำหน่าย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุดและเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากที่สุดด้วย
ถ้าดูสัดส่วนรายได้เมื่อปี 2558 ของซีพีเอฟอยู่ที่ 421,355 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนมาจากกิจการในประเทศจากการจำหน่ายในประเทศไทย 34% การส่งออก 6% และกิจการในต่างประเทศ 60% ซึ่งซีพีเอฟมองโอกาสการขยายตลาดในประเทศยังมีสูงมาก ทั้งอาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน
เฉพาะตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานมีมูลค่า 7,500 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตสูงต่อเนื่อง ปีละ 20% เพราะไลฟ์สไตล์คนเมืองทำกับข้าวเองน้อยลง ความเร่งรีบ ขนาดครอบครัวที่เล็กลง และหากเศรษฐกิจดียิ่งทำให้ตลาดเติบโตถึง 25% ซีพีมีส่วนแบ่ง 70% เอสแอนด์พีและพรานทะเลมีส่วนแบ่งไล่เลี่ยกันกว่า 10%
ขณะที่ตลาดในกลุ่มธุรกิจ HORECA ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม (Hotel) ร้านอาหาร (Restaurant) กาแฟ และธุรกิจจัดเลี้ยง (Cafe and Catering) มีมูลค่ารวมสูงถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี โดยธุรกิจกลุ่มโรงแรมมีมูลค่าสูงถึง 527,000 ล้านบาท ธุรกิจร้านอาหาร 385,000 ล้านบาท และธุรกิจกาแฟ เบเกอรี่ ไอศกรีม จัดเลี้ยง 62,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10-20% ต่อปี
กลยุทธ์และทิศทางของซีพีเอฟจึงวางน้ำหนักไปที่การขยายช่องทางการจำหน่ายเจาะกลุ่มเป้าหมาย ทั้งตลาดผู้บริโภคและกลุ่มโฮเรก้า ซึ่งปัจจุบัน บริษัทบริหารร้านค้าปลีกในเครือรวม 5 แบรนด์ ได้แก่ 1. ธุรกิจห้าดาว ล่าสุดมี 6 รูปแบบ คือ จุดขายไก่ย่าง จุดขายไก่ทอด จุดขายข้าวมันไก่ จุดขายบะหมี่ห้าดาว จุดขายเรดดี้มีล และจุดขายไส้กรอก โดยเปิดจุดขายทั้งในไทยและตลาดอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และอินเดีย
2. ร้านอาหารจานด่วน เชสเตอร์ ซึ่งมีทั้งรูปแบบแฟรนไชส์และบริษัทลงทุนเอง เน้นทำเลในศูนย์การค้าและโมเดิรน์เทรด 3. ร้านอาหารอาหารบริการด่วน ซีพี คิทเช่น
4. ร้านค้าปลีก ซีพี เฟรชมาร์ท เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาหารสด อาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน ภายใต้แบรนด์ซีพี และแบรนด์ซีพี เฟรชมาร์ท 5. ศูนย์อาหารซีพี ฟู้ดเวิลด์ ซึ่งรวมร้านอาหารในเครือและร้านอาหารจากผู้เช่าภายนอก เน้นเจาะอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล
ล่าสุด ซีพีเอฟเพิ่งเปิดตัวร้านโมเดลใหม่ ชื่อว่า “แมกเนต” เน้นการขายทั้งในรูปแบบค้าปลีกและค้าส่งในร้านเดียวกัน ในลักษณะฟูด ช็อป (Food Shop) มีสินค้าแบรนด์ซีพีและซีพีเอฟ จำนวนมากกว่า 2,000 รายการ คล้ายๆ กับธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง “แม็คโคร” ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน) แต่มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก โดยตั้งเป้าเปิดร้านแมกเนตอย่างน้อย 4 สาขาตามภูมิภาคต่างๆ นำร่องสาขาแรกที่ ต.สันกลาง อ.สัน กำแพง จ.เชียงใหม่ และตั้งเป้าขยายเพิ่มตามหัวเมืองต่างๆอีก 10 สาขา ในปี 2560
อดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้งบการลงทุนปีละ 25,000 ล้านบาท เพื่อให้ บรรลุเป้ายอดขาย 7 แสนล้านบาท ตามแผนงาน 5 ปี (2559-2563) กลยุทธ์การลงทุนจากนี้ไป พิจารณาจากความต้องการของตลาดเป็นหลัก และแนวโน้มร้านค้าปลีกขนาดเล็กกำลังที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เพราะอยู่ใกล้บ้านไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาซื้อสินค้าในตัวเมือง ทำให้บริษัทมีแนวคิดพัฒนารูปแบบร้านแมกเนต ซึ่งถือเป็นร้านค้าแนวใหม่รูปแบบเซมิ โฮลเซลล์ บาย ซีพี
จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เมื่อ “ซีพี” มี “ซีพีเอฟ” เป็นฐานธุรกิจหลักและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายหลากหลายมากขึ้น รวมกับช่องทางของบริษัทในเครือซีพี ทั้งร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ศูนย์ค้าส่งค้าปลีก “แม็คโคร” และยังเริ่มทดลองช่องทางย่อยอย่างตู้อาหารหยอดเหรียญ CP RAM ที่มีเตาไมโครเวฟเพื่ออุ่นอาหารในตัว โดยประเดิมติดตั้งในอาคารสำนักงานของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่องที่ซีพีจะต่อยอดจาก “แกงไทย” ไป “ครัวไทย” หรือ “ครัวโลก” จึงไม่ใช่เรื่องยากแน่