เกือบ 7 หมื่นไลค์ 4 หมื่นยอดแชร์ จำนวนคนชมทะลุ 2 ล้านครั้ง! ใครจะเชื่อว่านี่คือวงดนตรีบ้านๆ ที่ถูกบันทึกเสียงในห้องแอร์ธรรมชาติ ท่ามกลางทุ่งนา ป่าเขา และลำธาร มีเสียงคอรัสเบาๆ จากสายลมและเสียงผืนน้ำที่กระทบกันเป็นลายประสานที่งดงาม พร้อมพาผู้ฟังร่วมสัมผัสกับดนตรีวิถีธรรมชาติ จากเหล่านักดนตรีตัวจิ๋วที่พร้อมถ่ายทอดท้วงทำนองจากหัวใจที่ใหญ่เกินตัว . .
“คีตา” นี่คือชื่อวงของนักดนตรีไซส์มินิ จากโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกลายเป็นวงดนตรีที่ได้ใจผู้ฟังไปเกือบทั้งประเทศ ด้วยรอยยิ้มที่ส่งต่อมาผ่านทำนองและมวลความสุขที่แทรกซึมอยู่ในธรรมชาติ “ครูลี่-พิชัย อุ้ยเหง้า” ครูผู้อยู่เบื้องหลังทุกย่างก้าวของเด็กๆ พร้อมเล่าสู่ให้ฟังถึงเรื่องราวความประทับใจและจุดเริ่มต้นของดนตรีวิถีธรรมชาติให้เราได้ฟัง
“ตอนแรกผมอยากทำเพลงทั้งหมดลงยูทูป เพลงที่เคยสอนเด็กๆ ไว้ เราจะใช้เพลงพวกนี้เผื่อให้รุ่นหน้าหรือรุ่นต่อๆ ไปเขาเข้ามาเรียน เขาจะได้ดูรุ่นพี่ และมันมีช่วงที่เด็กต้องไปแข่งรายการแสดงความสามารถรายการหนึ่ง เราเลยจริงจังลงรายละเอียดกับเพลงมากกว่าเดิม” ครูลี่บอกกับเราอย่างนั้น ก่อนจะขยายความให้ฟังถึงคลิปที่ทำให้คนในโลกโซเชียลกระหน่ำแชร์เกือบครึ่งแสน
“จริงๆ เวอร์ชั่นเต็มเราซ้อมไว้แล้ว แต่พอไปออกรายการเขาให้สองนาทีครึ่ง เราต้องตัดออกไปบ้าง แต่เด็กเขาซ้อมมาหนักเราก็เสียดาย อยากอัดไว้เป็นกำลังใจให้เด็ก คลิปนั้นจึงเป็นคลิปที่ทำให้คนรู้จักพวกเรามากขึ้นครับ”
หากใครได้ชมคลิปที่น้องๆ บรรเลงเพลงกันมาบ้างแล้ว คงต้องสงสัยเหมือนกันกับเราว่า เครื่องดนตรีแต่ละชนิดดูไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กที่มีอายุน้อย ซึ่งอาจจะต้องใช้คนสอนหลายคนแน่ๆ แต่ใครจะรู้ล่ะว่าเครื่องดนตรีทุกชนิดที่น้องๆ บรรเลงมานั้นถูกถ่ายทอดมาจากครูผู้สอนเพียงคนเดียว
“สอนเองหมดเลยครับ แต่พักหลังๆ จะมีครูป๊อบหลานผมเข้ามาช่วย เมื่อก่อนผมเล่นดนตรีอาชีพอยู่แล้ว แต่ดนตรีไม่ได้เรียนมาก่อนเลย ผมสอนนักเรียนก็จะมี พิน แคน กีตาร์ อูคูเลเล่ ไวโอลิน ขิม โปงลาง เครื่องดนตรีดีด สี ตี เป่า ทุกอย่างเลยครับ”
สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเราไม่ได้มีเพียงแต่การมองเห็นว่าเด็กๆ เหล่านั้นสามารถเล่นเครื่องดนตรีที่ผู้ใหญ่อย่างเรายังเล่นไม่ได้ ทว่ารูปแบบการถ่ายทอดที่มีโลเกชั่นแปลกไปจากคลิปการเล่นดนตรีอย่างที่เคยมีมาก่อน ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่ครูลี่ต้องการนำเสนอและได้สอดแทรกบางสิ่งบางอย่างลงไปในนั้น เขาต้องการสื่อถึงสิ่งใด
“ดนตรีในวิถีเดิมๆ” ผมมองว่าดนตรีกับวัฒนธรรมมันมาคู่กัน ความงดงามของวัฒนธรรมกับความงดงามของเสียงเพลงในยุคต่อยุค มันบ่งบอกเรื่องราวของผู้คนและทุกวันนี้เราหาเรื่องราวที่มันงดงามในเสียงเพลง ผมว่ามันหาได้ลำบาก มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราฟังเพลงพุ่มพวง สายัณห์ ยอดรัก มันมีความรู้สึกว่ามันอมตะ มันมีกลิ่นอาย”
“ทุกวันนี้วัฒนธรรมมันโดนทำลายจากทุนนิยม ทำให้วิถีผู้คน รากเหง้าคนได้เปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่เรามีของดีอยู่แล้ว แต่เราเลือกที่จะมองข้ามและไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง” ครูลี่พูดต่อไปด้วยน้ำเสียงเข้มขรึม หรืออาจจะจริงอย่างที่เขาคิดก็ได้ว่าวัฒนธรรมไทยในเวลานี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเลือนลาง และยากที่จะสัมผัสเห็นเป็นรูปธรรม
ไม่แน่ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่อาจเป็นพลังเล็กๆ ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และเก็บรักษาก็เป็นได้
“จริงๆ แล้ววัฒนธรรมเหล่านี้มันเป็นมรดกที่สืบทอดกันมานาน เป็นมรดกที่ล้ำค่ามาก ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้า เราจะเอามรดกเหล่านี้ให้ลูกหลานในภายภาคหน้ายังไงถ้าเราไม่เก็บกันไว้ มันเป็นความแข็งแรงของชาติ ของบ้านเมืองนี้ ทุกคนรู้เรื่องนี้แต่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม
แต่สิ่งที่ผมทำมันไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนโลก แต่เราแค่สงสารเด็กเพราะว่าเราจะไม่มีสมบัติให้เขา เราจะมีแต่ทุนนิยมให้เขา แต่สมบัติทางภูมิปัญญาเราได้ละทิ้งไปแล้ว”
เพราะแบบนั้น โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างจึงมีการเรียนการสอนที่เน้นวิชาชีวิตเสียมากกว่า ซึ่งเด็กนักเรียนที่นี่จำนวน 20 คน จึงต้องเรียนรู้วิชาชีวิตที่จะทำให้เขาเติบโตไปได้อย่างแข็งแรง รวมไปถึงการรับรู้ถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ครูลี่ได้ถ่ายทอดไปยังดนตรีทุกท้วงทำนองให้เด็กรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความงดงาม
“เพราะฉะนั้นดนตรีที่ผมสอนจะเป็นสื่อการเรียนที่จะให้เขาดำรงรากเหง้าของเขาอยู่ โดยเก็บเรื่องราวที่มีเอามาสะสมไว้เป็นสมบัติ หรือมันอาจจะเป็นศูนย์เล็กๆ ที่รวบรวมวัฒนธรรม เด็กที่นี้ต้องทำนา ปลูกผัก การเรียนของผมไม่ใช่ ก.ไก่ ข.ไข่ ที่นี่ไม่อยากหรอกถ้าใครจะเข้ามาเรียน เด็กกรอกใบสมัครผมให้แผ่นดินเป็นกระดาษ เอาจอบเป็นปากกา”
ครูลี่ยังบอกอีกว่าการปลูกผักแปลงหนึ่งของเด็กๆ มันบ่งบอกอะไรบางอย่างในตัวเด็กได้เช่นกัน เห็นได้จากลักษณะนิสัยที่ครูลี่นำมาใช้ในการประเมินได้ว่าเด็กคนไหนเหมาะที่จะเล่นดนตรีชนิดใด
“ถ้าผักงดงาม ดนตรีก็งดงาม ชีวิตก็งดงาม ผักแปลงหนึ่งมันบ่งบอกเด็กได้ทั้งชีวิตเลยครับ มันสแกนเด็กได้ด้วยว่าคนนี้เล่นเครื่องดนตรีละเอียดได้ คนนี้เล่นเครื่องดนตรีขนาดกลาง ขนาดย่อย อย่างคนที่แปลงผักสวย เขาก็เล่นดนตรีที่ละเอียดขึ้นอย่างไวโอลินได้ เราดูเด็กจากตรงนั้น เราดูจากสิ่งที่เขาทำแล้วสแกนเขาออกมา แล้วเติมเรื่องราวที่เขายังขาดหาย”
หากจะถามถึงช่วงเวลาก่อนและหลังจากที่เด็กๆ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างได้เข้ามาคลุกคลีกับการเล่นดนตรี ครูลี่ยอมรับกับเราเลยว่ามีความแตกต่างเห็นได้ชัดเจนมาก จากเด็กที่มีสมาธิไม่อยู่นิ่งและติดเกมคอมพิวเตอร์ ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเด็กทุกคนมีความอ่อนน้อมและเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงมีใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำมากขึ้นกว่าเดิม
“แต่ละคนเขาจะแตกต่างกันครับ ส่วนใหญ่ผมมองเขาที่แววตา วันแรกที่เขาเดินมาจนถึงตอนนี้เราสัมผัสได้ถึงมวลความสุขที่เขาได้รับ นิสัยเขา การประพฤติตัวของเขา เด็กมีความอ่อนน้อมขึ้น เด็กรักธรรมชาติมากขึ้น จากเมื่อก่อนเขานั่งอยู่แต่หน้าคอม ทุกวันนี้ตื่นมาเขาจะมาที่นี่ เสียงเพลงมันก็จะดังขึ้นจากที่นี่”
แน่นอนว่าครูผู้อยู่เบื้องหลังมวลความสุขของเด็กๆ คงรู้สึกปลาบปลื้มใจไม่น้อยที่ได้เห็นว่าลูกศิษย์ของเขามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ความสุขที่เกิดจากการให้จึงเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย
“มันเป็นความสุขที่ผมไม่สามารถอธิบายได้ มันเป็นความสุขจากการให้ หนึ่งเลยเราได้ช่วยคน เพราะเด็กส่วนใหญ่มาเรียนที่นี่ พ่อแม่ไม่มีตังหรอกครับ แต่เขามาที่นี่เราสามารถให้ความสุขกับเขาได้ และเราก็มีความสุขไปด้วย มันคือสิ่งที่เรารู้สึกจากการให้ที่เราไม่ได้หวังผล
ความภูมิใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ที่นี่มันกำลังกลายเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน เขาจะห่อข้าวมากินกันตอนเย็น บางคนเอาเครื่องจักรสานมานั่งสานที่นี่มานั่งคุยกัน ผมอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาคนโบราณ ผมไม่อยากให้มันหายไป ผมอยากให้บ้านผมมีความงดงามอยู่ ไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลงไป”
สุดท้ายแล้วสิ่งที่ครูลี่ทำมันได้แสดงให้เห็นถึงแรงใจที่ปรารถนาให้เด็กๆ และชุมชนของเขาเต็มไปด้วยความสุข ทั้งจากเสียงเพลง วัฒนธรรมดั้งเดิม หรือวิถีการใช้ชีวิตที่มีความงดงาม และแน่นอนว่าแววตาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กๆ และรอยยิ้มที่เกิดมาจากการบรรเลงเพลง ได้สะท้อนให้เราเห็นแล้วว่าพวกเขามีความสุขมากขนาดไหน
ชมคลิปเพลง El Condor Pasa COVER by ร.ร เล็กในทุ่งกว้าง
ชมคลิปเพลง MASSURI COVER by ร.ร เล็กในทุ่งกว้าง
ชมภาพบรรยากาศ ร.ร.เล็กในทุ่งกว้าง
ขอบคุณภาพ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง