ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เตรียมเน้นให้ความรู้แก่นักศึกษา และเยาวชน เพื่อป้องกันการติดเกม “โปเกมอน โก” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลานี้ แม้จะยังไม่กระทบก็ตาม
วันนี้ (10 ส.ค.) รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงกรณีเกมออนไลน์ “โปเกมอน โก” ที่กำลังเป็นที่นิยมกันในกลุ่มคนวัยเรียน โดยมีผู้เป็นห่วงว่าจะกระทบต่อการเรียนของเยาวชน หลังจากที่โปรแกรมนี้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย ก็เริ่มเห็นความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น และพบเห็นนักศึกษาจับกลุ่มกันเล่นในบางพื้นที่ของมหาวิทยาลัยบ้าง แต่ไม่มาก เนื่องจากยังไม่เปิดเทอม และนักศึกษาบางส่วนยังไม่กลับเข้ามาในมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม การมุ่งเล่นเกมมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ไม่สนใจการเรียน โดยเฉพาะเกมนี้ อาจเปิดโอกาสให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในสถานที่ราชการมากขึ้น ซึ่งบางพื้นที่เป็นการกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น ในโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนั้น ยังอาจเกิดอันตรายหากไปค้นหาในจุดเสี่ยง หรือระหว่างขับรถ เป็นต้น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีจุดยืนในเรื่องนี้ที่จะเพิ่มการให้ความรู้แก่นักศึกษา และเยาวชน เกี่ยวกับเรื่องเกมออนไลน์ เนื่องจากในระยะต่อไป แม้ “โปเกมอน โก” จะหมดความนิยมลง แต่จะมีเกมอื่นเข้ามาแทนที่ ซึ่งต้องมีการระมัดระวัง หรืออาจห้ามเล่นเกมดังกล่าวในบางพื้นที่
ด้าน ผศ.ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ กล่าวว่า ในวันนี้ แม้ยังไม่มีข้อกำหนด หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ เนื่องจากเพิ่งเริ่มเปิดเทอม แต่ก็เริ่มมีการพูดคุยแสดงความกังวลในกลุ่มอาจารย์ผู้สอน และผู้บริหารถึงมาตรการป้องกันผลกระทบในระหว่างการเรียนการสอน หรืออาจจะมีมาตรการป้องปราม ซึ่งทราบว่า ทางภาครัฐก็มีการแสดงความกังวลแล้วเช่นกัน
เกมนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี คือ สามารถเป็นเครื่องมือการตลาดที่ดีในการส่งเสริมกิจการทางธุรกิจ เป็นการสร้างจุดสนใจเพื่อนำมาสู่การรู้จักและใช้บริการ หรือสามารถนำไปประกอบในการเดินออกกำลังกาย แต่ต้องระวังการพะวงต่อการดูโทรศัพท์เวลาเดินอาจเกิดอุบัติเหตุได้
แต่ปัญหาคือ แม้จะเป็นโปรแกรมที่โหลดฟรี แต่มีการแฝงด้วยการขายสินค้า หรือที่เคยได้ยินว่าเกมบางเกมส์ที่เราเล่นจะต้องมีการจ่ายเงินเพื่อให้สามารถเอาชนะผู้อื่นได้ ซึ่งประเภทนี้จะมีมากขึ้นในอนาคต หากเล่นโดยไม่รู้เท่าทันจะทำให้เสียทรัพย์โดยไม่จำเป็น นอกจากนั้น ความเป็นสื่อโซเชียลอาจจะทำให้เกมกลายเป็นเครื่องมือในการล่อลวงบุคคลให้เข้าไปในพื้นที่อันตรายเพื่อการก่ออาชญากรรมได้
“หากพูดถึงผลกระทบของเกมนี้กับสมาธิในการเรียนในห้องเรียนก็แทบไม่ต่างจากเกมอื่นๆ หรือการเล่นไลน์ในห้องเรียน แต่จุดเด่นของเกมที่ทำให้ได้รับความนิยมก็คือ การที่ให้ผู้เล่นเดินทางไปค้นหาตามสถานที่ต่างๆ ในโลกจริง โดยประเภทของโปเกมอน ก็จะแตกต่างไปตามสถานที่ ดังนั้น จึงอาจไม่นิยมเล่นขณะเรียน ยกเว้นจะไม่ยอมเข้าเรียน” รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ กล่าว