xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้าย…กฎหมายปิโตรเลียมอัปยศ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเห็นชอบกับหลักการวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแปรญัตติในวาระที่ 2 นั้น ก็คงเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงของภาคประชาชนอยู่ดี

เสียงของภาคประชาชนซึ่งคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับที่ว่านั้น ก็เพราะมี 3 สาเหตุสำคัญคือ

ประการแรก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่กำลังเดินหน้าพิจารณาอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้แก้ไขให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ทั้งๆที่ผลการศึกษาดังกล่าว ได้ผ่านทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่แล้ว จึงไม่ใช่กฎหมายที่จะช่วยปราบโกงในวงการปิโตรเลียม ไม่มีหลักประกันว่าจะสร้างผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสร้างความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลได้

ประการที่สองไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ทำให้ไม่มีเจ้าภาพที่จะทำหน้าที่ในการถือครองกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียม บริหารปิโตรเลียม และขายปิโตรเลียม ที่รัฐกำลังจะได้รับกลับคืนมาได้เป็นจริงในทางปฏิบัติ ทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตซึ่งบัญญัติอยู่ในกฎหมายใหม่ที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นรัฐไทยต้องฝากเอกชนคู่สัญญาไปบริหารและขายปิโตรเลียมแทนรัฐ

กลายเป็นว่าระบบแบ่งปันผลผลิตที่อยู่ในกฎหมายขณะนี้มีเนื้อหาไม่ต่างจากระบบสัมปทานเดิม อีกทั้งยังทำให้ระบบจ้างเอกชนผลิตปิโตรเลียมที่รัฐจะเป็นเจ้าของแหล่งสัมปทาน 100%ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีองค์กรที่มาเป็นเจ้าภาพในการดูแลทรัพย์สินปิโตรเลียมของรัฐเหล่านี้ ผลก็คือทำให้รัฐไทยต้องสูญเสียอธิปไตยปิโตรเลียมให้กับเอกชนไม่เว้นแม้แต่แหล่งสัมปทานเดิมที่กำลังจะหมดอายุลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

หากกฎหมายผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ก็จะทำให้ระบบที่ประเทศไทยจะดำเนินการต่อไปคือ

1. ระบบสัมปทาน ซึ่งแทบไม่มีการแก้ไขเรื่องภาษีเงินได้ปิโตรเลียมตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลย

2. ระบบที่อ้างว่าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแต่เนื้อหาก็คล้ายสัมปทานเดิม

3. ระบบจ้างผลิตเขียนเอาไว้ในกฎหมายแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ

ประการที่สามกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการฯนั้น ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าจะเลือกระบบไหนและหลักเกณฑ์ใด ในขณะที่วิธีการประมูลจะยึดผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดจริงหรือไม่ หรือจะเลือกการใช้ดุลยพินิจให้คะแนนเป็นตัวตัดสินคล้ายๆกับสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง 20 รอบที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ทั้งหมดนั้นให้กรอบกว้างๆ เปรียบเหมือนเซ็นเช็คเปล่ามอบให้อยู่คณะกรรมการปิโตรเลียมกรอกตัวเลขเอาเองเพียงไม่กี่คน

ผลก็คือกฎหมายลักษณะเช่นนี้ เปิดโอกาสที่จะทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจมาก และอาจจะมีความเสี่ยงเป็นช่องโหว่ในการทุจริตเรียกผลประโยชน์ในการเลือกระบบและวิธีการประมูลได้ในทรัพย์กรที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท จึงถือเป็นเรื่องความเสี่ยงอันตรายของผลประโยชน์แห่งชาติได้อย่างมากมายมหาศาล

ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ปัญหา 3 ประการข้างต้น เป็นปัญหา “หลักการ” ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการแปรญัตติ ปัญหาหลักการจึงไม่ถูกต้องตั้งแต่การรับรองในวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่แล้ว หนทางที่จะแก้ไขปัญหานี้จึงมีทางเดียวเท่านั้นคือ...

“ถอน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม” ออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเท่านั้น !!!!

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเชื่อฟังรัฐบาลอย่างเกือบเป็นเอกภาพ แต่ถึงแม้จะทำตามการชี้นำของรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ แต่เชื่อเถิดว่า สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งนอกสภาอยู่ดี

ถ้าเป็นเช่นนั้น ประวัติศาสตร์ก็จะถูกบันทึกอีกครั้งถึงเหตุการณ์พวกมากลากไปโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากนักเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากทหาร เป็นบริบทของสมบัติผลัดกันชมอีกฉากหนึ่งเท่านั้น

มักจะมีคำกล่าวอ้างในข้อแรกๆ ว่า ภาคประชาชนเข้าใจผิดว่าปิโตรเลียมของประเทศไทยมีมาก เพราะความจริงแล้วประเทศไทยมีน้อย และกระเปาะเล็ก ไม่ค่อยคุ้มค่าแก่การลงทุน

ความจริงแล้วเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยได้ใช้ข้อมูลปริมาณปิโตรเลียมจากกระทรวงพลังงานเอง และการมีมากหรือน้อยก็เป็นการใช้ถ้อยคำประเมินจากความรู้สึกมากกว่าตัวเลขข้อเท็จจริง ซึ่งตัวเลขการประเมินนั้นสามารถหาอ่านได้จากเอกสารงานวิจัยส่วนบุคคลของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีกาประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะเป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ รุ่นที่ 24 ประจำปี 2554 - 2555 ในหัวข้อ “การบริหารจัดการกับแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่สัมปทาน” ปรากฏคำชี้แจงว่า

“หลังสิ้นสุดระยะเวลาการผลิตแล้ว คาดว่าจะยังคงมีแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติขนาดกลางและขนาดใหญ่คงอยู่” ดังนี้

พื้นที่อ่าวไทย

(1) แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาด 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เหลืออยู่จำนวน 1 แหล่ง

(2) แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาด 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เหลืออยู่จำนวน 3 แหล่ง

(3) แหล่งน้ำมันดิบขนาด 100 ล้านบาเรล เหลืออยู่จำนวน 1 แหล่ง

(4) แหล่งน้ำมันดิบขนาด 25 ล้านบาเรล เหลืออยู่จำนวน 2 แหล่ง

พื้นที่บนบก

(5) แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาด 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เหลืออยู่จำนวน 1 แหล่ง

และในความเป็นจริงแล้วมากหรือน้อยก็ฝ่ายเอกชนต่างหากที่ต้องไปประเมินความเสี่ยงทั้งปวง ในขณะเดียวกันจะมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ารัฐต้องมีหน้าที่ทำให้เกิดการประมูลแข่งขันให้เกิดผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นปัจจัยชี้ขาด จะมีมากหรือน้อยผลของการแข่งขันของเอกชนก็จะเป็นตัวตัดสินในท้ายที่สุดอยู่ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น มีศักยภาพอย่างชัดเจน มีผู้ซื้อชัดเจน โดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยนั้นก็มีผู้ซื้อที่มีราคาชัดเจนว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กับราคาตลาดโลก อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหลายจะตกเป็นของรัฐ โดยที่รัฐเฝ้ารอคอยการหมดอายุสัญญามานานกว่า 30-40 ปีจึงไม่เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลยที่ฝ่ายรัฐจะละทิ้งทั้งไม่บริหารหรือขายปิโตรเลียมที่จะตกแก่รัฐ แต่กลับไปยกให้เอกชนบริหารและขายแทนรัฐจริงหรือไม่

ถ้าแหล่งปิโตรเลียมไม่คุ้มทุนจริง ป่านนี้เราคงต้องเห็น ปตท.สผ. หรือ บริษัทข้าชาติที่อยู่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมเหล่านั้นคงจะขาดทุนอย่างย่อยยับแล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็กลับมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจริงหรือไม่?

การอ้างว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่ 100% นั้นจะทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเหมือนในต่างประเทศ แล้วจะอธิบายอย่างไรว่าจะเกิดความโปร่งใสถ้าอยู่ในมือองค์กรข้าราชการ 100% เพราะแม้แต่ ปตท. หรือ ปตท.สผ. ตอนก่อตั้งนั้นก็ล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่คล้ายบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เหตุใดในเวลานั้นไม่เคยมีใครกล่าวถึงว่าจะมีการโกงกินกันครั้งใหญ่ เหตุใดในเวลานั้นไม่มีใครห่วงว่าคนไทยทำไม่เป็น ซึ่งทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ.ในยามที่เป็นองค์กรของรัฐ 100% ต่างก็ได้ทำหน้าที่ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐเอาไว้อย่างเป็นมืออาชีพและน่าภาคภูมิใจจริงหรือไม่?

ในทางตรงกันข้ามข่าวความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายนั้นกลับเกิดขึ้นอย่างมากหลังการแปรรูป ปตท. และ ปตท.สผ.จริงหรือไม่?

ความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติก็สามารถทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ในยุคปัจจุบันที่แม้ยังไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเลย ตราบใดที่กลไกการตรวจสอบไม่เข้มแข็ง

ด้วยเหตุผลนี้ข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยจึงเสนอว่าต่อไปควรจะมีการถ่วงดุลตรวจสอบข้อมูลจากภาคประชาชาสังคมในหลากหลายมิติให้อยู่ในบรรษัทพลังงานแห่งชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนองค์กรผู้คุ้มครองผู้บริโภค องค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สุขภาวะ ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดความหลากหลายในการถ่วงดุลอำนาจและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใส อย่างน้อยหากเกิดความไม่ชอบมาพากลก็ยังทำให้ประชาชนได้มีโอกาสทักท้วง ถ่วงดุลจากภายนอกองค์กรได้ มิใช่มีแต่กลุ่มและพวกเดียวกันหมด หรือแม้แต่ข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับองค์กรปิโตรเลียมในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายมีอยู่มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ควรจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายห้ามอย่างชัดเจนได้เสียทีแล้วจริงหรือไม่?

นับจากนี้เรื่องดังกล่าวนี้จะเป็นเรื่องที่วัดใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 44 มาจัดการกับปัญหาหลายเรื่องในประเทศในสิ่งที่ไม่มีรัฐบาลใดทำได้มาก่อน จะใช้อำนาจอย่างไรกับการจัดการกับกฎหมายปิโตรเลียมที่จะสร้างปัญหาธรรมาภิบาลต่อไปในอนาคตครั้งนี้ ?

เพราะคนที่จะหยุดเรื่องนี้และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรมได้นั้นอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว!!!

หากกฎหมายปิโตรเลียมอัปยศยังคงเดินหน้าต่อไป หรือจะถูกยับยั้งและทบทวนโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเสียใหม่ ก็จะเป็นบทพิสูจน์ถึงข้อความเกษียนหนังสือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ส่งต่อมอบให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ว่า "ทราบ/เห็นชอบ/ ให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใส/ เป็นธรรม" นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น