xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ชงเดินหน้าเขื่อนแม่วงก์ ชี้มติครม.ปูดำเนินการโดยชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตุลาการผู้แถลงคดี เสนอศาลปกครองกลางสั่งยกฟ้อง คดีเครือข่ายคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ร้องเพิกถอนมติครม.ที่ให้สร้างเขื่อน เหตุมองว่าครม.ดำเนินการโดยชอบแล้ว ด้านสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โต้มติครม. ผิดขั้นตอนกฎหมาย แต่ตุลาการฯ กลับอ้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้

ศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมเครือข่ายคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ รวม 151 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น) ,คณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทาน (นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น) และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น) ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอนุมัติดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่กำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากชาวบ้าน ผู้มีส่วนได้เสีย ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ให้การคุ้มครองไว้ครบถ้วนเสียก่อน โดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนมติครม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 เกี่ยวกับการเห็นชอบการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในส่วนที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทาน และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ตามที่รธน.กำหนดให้ครบถ้วน และให้มีการจัดทำประชามติด้วย โดยศาลได้ให้คู่กรณีสองฝ่ายแถลงปิดคดี แต่คู่กรณีทั้งฝ่ายไม่ประสงค์แถลงเพิ่มเติม แต่จัดทำคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาลพิจารณาแทน

จากนั้น นายวิจิตต์ รักถิ่น ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้เสนอความเห็นในคดีโดยไม่ผูกพันคำพิพากษาต่อองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน ว่า สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว แม้ว่าครม. จะมีการพิจารณาดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง และแก้ปัญหาอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2532 และต่อมา ครม.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ2662 แต่มติครม.ดังกล่าว ยังไม่ได้อนุมัติให้เริ่มก่อสร้าง เนื่องจากเขื่อนแม่วงก์ เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ตามรธน. มาตรา 58 กำหนดว่า การดำเนินการใดของรัฐหรืออนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการโครงการผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบนั้นก่อน และในการอนุญาตให้ดำเนินการโครงการดังกล่าว รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และต้องให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า ดังนั้นการดำเนินการของครม.ที่ผ่านมา จึงชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนได้จบกระบวนการพิจารณา และจะนัดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาฟังคำพิพากษาในภายหลัง

ภายหลังการพิจารณา นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกล่าวว่า ตนยังมีความมั่นใจว่า ศาลปกครองจะพิจารณาเพิกถอนมติครม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 เกี่ยวกับการเห็นชอบการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ตามที่ชาวบ้านร้องขอ เนื่องจากมติครม.ดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ตามที่รธน.50 มาตรา 67 วรรคสอง ให้การคุ้มครองไว้ แต่ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี ที่เสนอให้ยกฟ้องนั้น เป็นการอ้างข้อบัญญัติ มาตรา 58 ของรธน.ฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านประชามติ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น