กรรมการการเลือกตั้ง ชี้ ใช้ ม.44 ยุบสภาเลือกตั้งใหม่กรณีตกลงเลือกนายกฯ ไม่ได้ ทำได้ แต่ไม่แน่ใจจะได้นายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ทันทีเลยหรือไม่ ระบุ หากพรรคจับมือยึดเสียงข้างมากเลือกเป็นทางออกที่ดีที่สุด ยันพร้อมจัดโหวตแต่จะคุ้มหรือไม่ ต้องไปคิดเอา ไม่กังวลเซตซีโร่ กกต. รอดูกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เขียนกฎหมายลูกให้อยู่ถึงเมื่อไหร่ ถ้าทำต้องเสมอภาคทุกองค์กร ควรดูวุ่นวายหรือไม่ จ่อออกระเบียบพัฒนาโปรแกรมให้พร้อมก่อน ก.ค. 60
วันนี้ (2 ต.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุ รัฐบาลอาจใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยุบสภา หากรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองได้ ก็เปิดทางให้เลือกนายกฯ จากคนนอกได้ เพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการเดดล็อกทางการเมือง หรือเกิดปัญหาที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ส่วนการยุบสภาถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งทางกฎหมายสามารถทำได้ เพราะถ้าหาก ส.ส. ตกลงกันไม่ได้ที่จะให้มีนายกฯ มาจาก ส.ส. และไม่อยากได้นายกฯ ที่เป็นคนนอก การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็สามารถทำได้
“การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งสูงถึง 3,000 ล้านบาท และไม่แน่ใจว่า การยุบสภาจะได้นายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ทันทีเลยหรือไม่ แต่หากพรรคการเมืองไปตกลงกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวได้เสียงข้างมากในสภาแล้วเลือกนายกฯ ที่เป็น ส.ส. ก็จะได้ไม่ต้องยุบสภา ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้ กกต. ในฐานะผู้ปฏิบัติยินดีที่จะจัดการเลือกตั้ง จะเลือกตั้งกี่ครั้ง เราทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะคุ้มหรือไม่ และเป็นประโยชน์หรือไม่ ก็ต้องกลับไปคิดเอา” นายสมชัย กล่าว
ส่วนข้อเสนอการเซตซีโร่ กกต. นั้น นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้กังวลอะไร เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ 2559 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระไว้ต่างกัน โดยรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระ ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ แต่รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ 2559 กำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระตามบทบัญญัติของกฎหมายลูก ซึ่งต้องดูกฎหมายลูกว่าจะเขียนให้กรรมการองค์กรอิสระอยู่จนครบวาระ หรือจะเขียนให้กรรมการที่มีอยู่เดิมเริ่มต้นนับวาระการดำรงตำแหน่งใหม่ หรือเขียนให้สรรหา หรือ รีเซตกรรมการใหม่ ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่ว่า กรธ. จะเขียนกฎหมายลูกออกมาแบบใด อย่างไรก็ตาม การยกร่างกฎหมายลูกควรคำนึงถึงเหตุและผลการอยู่หรือไป ว่า จะมีผลดีผลเสียมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากจะเซตซีโร่ก็ต้องให้ความเสมอภาคกับทุกองค์กร และคำนึงว่าจะก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายหรือไม่
ทั้งนี้ นายสมชัย ยังกล่าวถึงทิศทางการเมืองภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ว่า กกต. เราเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากนี้ จะมีการออกระเบียบและพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อรองรับการเลือกตั้ง มั่นใจว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ระบบการทำงานทุกอย่างจะสมบูรณ์ พร้อมจัดการเลือกตั้งได้ทุกเวลา