xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม สนช.ผ่านร่างข้อบังคับแล้ว พ่วงถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช. ประชุมร่างข้อบังคับ “หมอเจตน์ - สมชาย - วัลลภ” หนุนถอดถอนได้ ยกกรณี “จรัล” เคยโดนเมื่อสมัยชุดปี 49 ด้าน “ธานี” แนะลงมติหรือส่งกฤษฎีกา, ศาลรัฐธรรมนูญตีความรูปแบบ ขณะที่ “ตวง - สมเจตน์” ระบุใน รธน. ชี้ชัดให้ทำหน้าที่แทน ส.ส.-ส.ว. ก่อนโหวตผ่านร่าง ด้วยคะแนน 171 ต่อ 2 เสียง



วันนี้ (11 ก.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายพรเพชร ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงพระบรมราชการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายนุรักษ์ มาประณีต ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมทั้งนัดหมายแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อที่ประชุม สนช. ในวันที่ 12 ก.ย. เวลา 10.00 น. จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการประชุมพิจารณา ร่างข้อบังคับ สนช. พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการสามัญยกร่างเสร็จแล้ว ซึ่ง นายพรเพชร แจ้งว่า เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยรอบคอบ จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณาร่างข้อบังคับตามขั้นตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.

ทั้งนี้ สมาชิกส่วน สนช. อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายสมชาย แสวงการ รวมทั้ง นายวัลลภ ตั้งคณานุกรักษ์ ต่างอภิปรายเห็นด้วยกับหมวด 10 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน ว่า สังคมภายนอกมองว่า สนช. ไม่มีอำนาจ เพราะไม่ได้กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เราก็จะเห็นได้ว่า นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็เคยถูก สนช. ปี 49 ถอดถอน และขณะเดียวกัน สังคมก็ไม่สนใจหมวด 9 เรื่องการแต่งตั้งบุคคลของ สนช. ที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน ทั้งที่การแต่งตั้งและถอดเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปด้วยกัน และเราก็จะเห็นได้ว่าทั้งการแต่งตั้งและถอดถอนเป็นอำนาจหน้าที่ สนช. ตามมาตรา 6 ที่ระบุว่า สนช. ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว.และสมาชิกรัฐสภา และมาตรา 13 ที่กำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่ตามกฎหมายอื่นที่มี

ขณะที่ นายธานี อ่อนละเอียด เสนอให้ที่ประชุมหาข้อยุติด้วยการลงมติ หรือส่งให้คณะกรรมาการกฤษฎีกา หรือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนว่า สนช. มีอำนาจถอดถอนหรือไม่ และหากถอดถอนได้จะถอดถอนใครได้บ้าง จะถูกถอดถอนแบบไหน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ใช่หรือไม่ จากนั้นจึงค่อยดำเนินการพิจารณาร่างข้อบังคับกันต่อไป เพราะหมวดการถอดถอนจะถูกมองว่า เป็นการขยายขอบเขตอำนาจของ สนช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงเรื่องการถอดถอน และหากมีปัญหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือประธาน สนช.

ด้าน คณะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับ สนช. อาทิ นายตวง อันทะไชย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กล่าวชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการมีอำนาจยกร่างข้อบังคับ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยสอดคล้องตามมาตรา 6 ที่ระบุว่า สนช. ทำหน้ที่ ส.ส. ส.ว. และสมาชิกรัฐสภา และมาตรา 13 ที่กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ สนช. ด้วยว่า จะต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายอื่นที่มี ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ ของ ป.ป.ช. หรือ กสม. ก็ให้อำนาจ ส.ว. ในการถอดถอน ซึ่งกระบวนการถอดถอน ที่ประชุม สนช. ก็ยังจำเป็นต้องอภิปรายกันอีกว่าจะถอดถอนใครบ้าง และจะถอดถอนอย่างไรต่อไป และในเมื่อยังไม่มีการบรรจุวาระถอดถอนผู้ใด ก็ยังจำเป็นต้องมีมติตามที่ นายธานี เสนอ

ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมให้พิจารณาต่อไป 171 ต่อ 2 เสียง และมีการตั้งกรรมาธิการจำนวน 19 คน มีระยะเวลาในการดำเนินงานภายใน 10 วัน และระยะเวลาการแปรญัตติ 3 วัน

นายธานี กล่าวถึงการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่เห็นด้วยที่จะเขียนข้อบังคับให้ สนช. มีอำนาจถอดถอน เพราะยังมีข้อถกเถียงว่า สนช. มีอำนาจหรือไม่ ถ้าสุดท้ายแล้วไม่มีจะเขียนข้อบังคับได้อย่างไร ตนจึงเห็นว่าควรจะหาข้อยุติก่อน ซึ่งก็มีสองแนวทาง คือ ให้หารือกันในที่ประชุม สนช. เพื่อให้มีมติไปในทางใดทางหนึ่ง หรือที่ประชุมเห็นว่า สนช. มีอำนาจก็สามารถเขียนได้ และอีกทางหนึ่งคือ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความโดยผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน

เมื่อถามว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองเลยหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องหารือกับสมาชิกส่วนใหญ่ก่อน เพราะตนเองมีเพียงเสียงเดียว คงทำอะไรไม่ได้มาก จะเห็นว่าคะแนนที่รับหลักการไปก็ท่วมท้น ตนทำหน้าที่พูดตามหลักกฎหมาย ไมมีใครมาชี้นำ ต่อจากนี้ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจฯ จะเหมาะสมกว่า ตนเองทำหน้าที่แล้วในการชี้ประเด็นให้เห็น

















กำลังโหลดความคิดเห็น