xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไต่สวนถอดถอน “ประชา” นัดแรก 30 มิ.ย. ส่ง “สมเจตน์” แจงศาล รธน.ปมประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิริธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยที่ประชุมเตรียมพิจารณาถอดถอน อดีต รมช.มหาดไทย ยุคยิ่งลักษณ์ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลจุ้นบอร์ด อ.ต.ก.ที่กำลังพิจารณาประเด็นทุจริตของอดีต ผอ. ไต่สวนนัดแรก 30 มิ.ย. ส่งอดีตประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ แจงศาลรัฐธรรมนูญปมกฎหมายประชามติ เชื่อไม่กระทบวันโหวต ยันรอศาลวินิจฉัยก่อนแก้ ยันยังเดินหน้าประชาสัมพันธ์ร่างฯ เหมือนเดิม

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 16.00 น. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า สนช.เตรียมประชุมพิจารณาถอดถอนนายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย กรณีเข้าไปก้าวกายแทรกแซงการทำงานของบอร์ดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่กำลังพิจารณาเรื่องการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด อดีต ผอ.อ.ต.ก.หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการถอดถอนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ซึ่งวิป สนช.ได้พิจารณาและกำหนดวันไต่สวนนัดแรกวันที 30 มิถุนายนนี้

นพ.เจตน์กล่าวถึงกระบวนการชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้มอบหมาย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ พร้อมด้วยนักกฎหมายจากสำนักงานกฤษฎีการ่วมชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว หลังจากนี้ก็คงต้องว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อกำหนดเดิมในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตัดมาตรา 61 วรรคสองออก ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐบาล กับ กกต.คงจะเสนอกลับมายัง สนช.เพื่อแก้ไข และหากเข้าสู่กระบวนการของ สนช.แล้วก็เชื่อว่าจะพิจารณาเสร็จได้ภายในการประชุมครั้งเดียว ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมาเสนอให้ สนช.ชิงแก้ไขโดยตัดมาตรา 61 วรรคสองออกก่อนที่ศาลจะมีคำวินิขฉัยออกมานั้น ตนคิดว่าถ้าชิงแก้ไขก็เป็นการยอมรับว่ากฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.มีปัญหา เพราะตอนที่ผ่านสภาไป สนช.คงเห็นว่ากฏหมายมีความสมบูรณ์แล้ว จึงลงมติเห็นชอบให้ผ่านไป อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทาง สนช.จะเดินหน้ากระบวนประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงได้ต่อไป คงไม่ยุติอย่างที่ฝ่ายการเมืองออกมาเรียกร้อง เพราะวันลงประชามติยังเป็นกำหนดเดิม นั่นคือวันที่ 7 สิงหาคมนี้อยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น