xs
xsm
sm
md
lg

ยึดทรัพย์คดีข้าว "บิ๊กตู่"ใช้ม.44ปลดล็อก ยันรู้ผลก่อนก.พ.60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"บิ๊กตู่" เซ็นใช้ม.44 คุ้มครองเจ้าหน้ารัฐดำเนินการระบายมันและข้าวโพดที่เสื่อมสภาพ พร้อมตั้งกรมบังคับคดี มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับคดีจำนำข้าว แทรกแซงมันและข้าวโพดด้วย เหตุความเสียหายมโหฬาร กระทรวงพาณิชย์ทำไม่ไหว ยันไม่ได้สั่งให้เข้าไปยึดทรัพย์ทันที แต่เพื่อปลดล็อกกรณีมีคำสั่งทางปกครองออกมา เบรกระบายข้าวในโกดัง หวั่นทำข้าวฤดูกาลใหม่ราคาตก ยันคดีเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวปิดทัน ก.พ. 60

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 56/2559 ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2547 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินต่อผู้ต้องรับผิด โดยลงนามและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา หลังได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

โดยสาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ ได้ให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการโดยสุจริตในการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต๊อกของรัฐ ที่เสื่อมสภาพและอยู่ระหว่างการดำเนินการระบาย เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐอีกต่อไป ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับกรณีมีคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแล้วแต่กรณี ที่จะมีต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/49 จนถึงปี 2556/57 โครงการแทรกแซงมันสำปะหลัง ปี 2551/52 จนถึงปี 2555/56 และโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/52 โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการออกคำสั่ง และการปฏิบัติตามคำสั่ง จะได้รับการคุ้มครองด้วย

วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อติดตามความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในการลดต้นทุนการผลิต และมาตรการรับมือกับผลผลิตข้าวเปลือกที่กำลังจะออกมา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มาตรการลดต้นทุนการผลิต ขณะนี้ได้ดำเนินการไปหมดแล้ว และยังได้เตรียมมาตรการรับมือผลผลิตข้าวที่จะเริ่มออกมา โดยเฉพาะการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางช่วงผลผลิตออก เพื่อดึงผลผลิตไม่ให้เข้าสู่ตลาด ส่วนการระบายข้าวในสต๊อก ได้มีมติให้ระงับการระบายข้าวออกไปก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะเริ่มออกตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นไป

ส่วนกรณีการออกคำสั่ง คสช. 56/2559 นายกฯ ชี้แจงว่า ไม่ใช่คำสั่ง มาตรา 44 เพื่อยึดทรัพย์เขา แต่ต้องให้มีคำสั่งทางปกครองออกมาก่อน บอกให้เข้าใจตรงกันว่าเมื่อมีผลสรุปออกมาแล้ว มีมติออกมาแล้ว ก็ดำเนินการการยึดทรัพย์ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รู้อยู่แล้วว่า เขาไม่มีขีดความสามารถในการยึดทรัพย์ตรงนี้ ซึ่งคำสั่งมาตรา 44 ตนเพียงแต่ให้กรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการในส่วนนี้ อย่าไปบอกว่าใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ ตนไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว จะผิดจะถูกคณะกรรมการเขาสอบสวนมาก็ตามนั้น ขณะเดียวกันทางคดีอาญาก็ว่ากันต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคนละเรื่อง

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องคำสั่งทางปกครองในคดีรับจำนำข้าว นั้น ต้องไปถามอัยการ กับศาล เดี๋ยวทำให้ทัน มันมีระยะเวลาอยู่แล้ว จะต้องเสร็จไม่เกินเดือน ก.พ.60 ขณะนี้คณะกรรมการที่รับผิดชอบกำลังพิจารณาข้อสรุปออกมา เรื่องนี้ตนจะไม่ไปทาบทับ เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการต้องสรุปมาตามกฏหมาย ตามระเบียบการ วิธีปฏิบัติ ก็ต้องฟังเหตุผลเขาบ้าง อย่าใช้ความรู้สึก ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่จะทำงานลำบาก

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 56/2559 ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ให้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้แล้ว แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นการเพิ่มพืชอีก 2 ชนิด คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด

ส่วนการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีนั้น เป็นไปตามที่ได้บอกไว้ว่า จะไม่มีการใช้ ม.44 ตัดสินความผิด แล้วยึดทรัพย์เป็นอันขาด ทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ติดตรงที่การจะออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องข้าวนั้น ในกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก ซึ่งหลักการปกติ เป็นหน้าที่ของกระทรวงต้นสังกัดที่รับผิดชอบ ที่ต้องยึดทรัพย์กันเอง แต่ครั้งนี้เป็นการยึดทรัพย์จำนวนมาก ทางกระทรวงพาณิชย์ จึงออกปากบ่นว่าไม่มีคน และหากยึดมาได้ ไม่มีที่จะเก็บ

"จึงต้องให้กรมบังคับคดีเข้าไปจัดการ ดังนั้นจึงต้องใช้ ม. 44 กำหนด แต่ไม่ใช่ว่าใช้ ม.44 ไปยึดทรัพย์ แต่ยึดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 ที่เปลี่ยนจากกระทรวง มาเป็นกรมบังคับคดี ส่วนจะยึดได้มาก หรือน้อยเพียงใด ให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ"

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า นี่เป็นบทเรียน ถามว่าทำไมพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ถึงไม่ได้กำหนดหน่วยงานที่จะยึดทรัพย์ไว้ นั่นเพราะคิดว่า หน่วยงานใครหน่วยงานมัน ให้ยึดทรัพย์กันเอาเอง ไม่คิดว่าชาตินี้จะมีการยึดอะไรใหญ่โตมโหฬาร เพราะลำพังแค่ 10-20 ล้าน เขายึดได้ แต่เรื่องข้าวนั้น เป็นการยึดค่าเสียหาย ซึ่งต้องดูละเอียดมาก มืออาชีพมีอยู่แค่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กับกรมบังคับคดี แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน จึงไม่ใช่หน้าที่ของ ปปง. เพราะชื่อกรมบังคับคดี บอกแล้วว่ามีหน้าที่ไปยึดทรัพย์ แม้จะมีคนบอกว่ามีอำนาจยึดทรัพย์ เฉพาะที่ศาลสั่ง ถ้าหัวหน้าคสช.สั่ง จะตกไป เราจึงใช้ ม.44 ไปรองรับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกคำสั่งครั้งนี้ แสดงว่าการยึดทรัพย์นายบุญทรง กับพวก งวดเข้ามาแล้ว ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะยังไม่ถึงขั้นออกคำสั่งยึดทรัพย์ในเวลานี้ แต่เมื่อออกคำสั่งแล้ว จะต้องดูว่าจะมีการอุทธรณ์ หรือไม่ หากเป็นคำสั่งยึดทรัพย์ ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีจะไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เรื่องจะไปที่ศาลปกครองเลย ซึ่งหากศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว การยึดจะไม่เกิดขึ้น เพียงแต่เราจำเป็นต้องตั้งเจ้าหน้าที่เอาไว้ เพราะเมื่อรู้ผลของคดีแล้ว จะมีการยึดทรัพย์จริง กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ดำเนินการ

รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ที่เอาผิดผู้คุมนโยบายก่อน เพราะผู้คุมนโยบาย ถูกคณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูลก่อน ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน ส่วนการเรียกค่าเสียหายกับผู้ควบคุมนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลัง และนโยบายแทรกแซงข้าวโพด ไม่ทราบว่าเรื่องไปถึงไหน เพราะไม่เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว แต่จะหนักไปตรงที่นำผลิตภัณฑ์การเกษตรเข้ามา และเกิดความเสียหาย เนื่องจากระบายไม่ทัน อย่างค่าเสียหายในนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 300-400 ล้านบาท

ด้านพล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าว จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถระบายสินค้าเกษตรในสต็อกรัฐบาล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และระบายได้เร็วขึ้น เพราะจะได้รับการคุ้มครอง หากดำเนินการโดยสุจริต โดยล่าสุด รัฐบาลมีมันเส้นในสต็อก 3.4 แสนตัน เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเดือนละ 50 ล้านบาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกราว 9.4 หมื่นตัน เสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพ

สำหรับการดำเนินการเรื่องการทุจริต อคส. ได้ดำเนินคดีกับเจ้าของโกดัง บริษัทตรวจสอบคุณภาพ (บริษัทเซอร์เวย์) รวม 108 คดี เพราะพบว่า สินค้าหายไปจากโกดัง โดยมันเส้น สูญหาย 536 ล้านกิโลกรัม (กก.) มูลค่าความเสียหาย 3,708 ล้านบาท และแป้งมัน สูญหาย 46 ล้านกก. มูลค่า 654 ล้านบาท รวมความเสียหาย 4,362 ล้านบาท และยังได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 75 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่ อคส. ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 15 เรื่อง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่อคส.แล้ว 3 เรื่อง
ขณะที่นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจาก คสช. มีคำสั่งให้กรมบังคับคดีมีอำนาจในการปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองในคดีจำนำข้าว กรมฯ จะมีการหารือในรายละเอียดขั้นตอนการทำงานกับกรมบังคับคดีในวันที่ 15 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ยังไม่มีการลงนามในหนังสือคำสั่งทางปกครอง เพื่อให้ข้าราชการและนักการเมือง 6 ราย ชดใช้กรณีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหาย 2 หมื่นล้านบาท โดยมีข่าวว่า จะมีการพิจารณาให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์มาร่วมลงนามในหนังสือคำสั่งด้วย ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ข้อคิดเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผู้มีอำนาจลงนาม คือ นายกรัฐมนตรี หรือรมว.พาณิชย์ หรือลงนามทั้งคู่ ซึ่งนายกฯ มอบให้รมว.พาณิชย์ลงนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น