xs
xsm
sm
md
lg

กทม.งัดคสช. งบ7.6หมื่นล.สะดุด ยื่นกฤษฎีกาตีความ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน360-งบประมาณกทม. ปี 60 วงเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท ส่อวุ่น ฝ่ายบริหารราชการแทน “ชายหมู” งัดข้อ 30 สภา กทม. ชุดที่แต่งตั้งตามคำสั่ง คสช. หลังถูกตัดงบไปแค่เกือบ 1 พันล้านบาท เล่นแรง! เตรียมส่งหนังสือถามกฤษฎีกา มีอำนาจตัดงบหรือไม่ อ้างเหตุในอดีตไม่เคยมีการตัดงบจากงบที่มีการพิจารณามาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหาในเรื่องของการใช้งบประมาณในกรุงเทพมหานคร หลังจากมีกระแสข่าวว่า คณะรองผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหาร กทม. นำโดยนางผุสดี ตามไท ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าฯ กทม. (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หลังจากถูก ม.44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่) เตรียมลงนามในหนังสือ เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ กรณี สภากทม.ได้ตัดงบประมาณตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

โดยในหนังสือดังกล่าว ได้มีคำถามถึงกฤษฎีกาว่า สภากทม.ชุดนี้ สามารถดำเนินการตัดงบประมาณประจำปีที่ผ่านวาระแรกมาแล้วได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา สภากทม. ไม่เคยมีการตัดงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาแล้วมาก่อน ที่ผ่านมา มีแต่การปรับลดตามโครงการต่างๆ เพื่อไปใช้ในโครงการอื่นที่เหมาะสมกว่า

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา สภากทม.เห็นชอบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในวาระ 3 และ 3 งบประมาณ 76,577,417,000 บาท โดยคณะกรรมการวิสามัญงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้มีการตัดงบประมาณไปจำนวน 941.5 ล้านบาท ที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็น คงเหลือ 75,635,821,500 บาท และจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2560 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหาร กทม. เห็นว่า สภากทม.ไม่มีอำนาจในการตัดงบประมาณ จึงยังไม่มีการลงนามเพื่อประกาศใช้ แต่อย่างใด

มีรายงานว่า สภากทม.ได้เห็นชอบให้เป็นงบประมาณเกินดุล (งบเกินดุล) โดยมีหลักการว่า หากผู้บริหาร กทม. สามารถทำการจัดเก็บรายได้ในปี 2560 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 76,000 ล้านบาท งบเกินดุลก็จะตกเป็นเงินสะสมของกทม. ซึ่งฝ่ายบริหาร กทม. สามารถขอเสนอข้อบัญญัติงบประมาณกลางปี เพื่อขอจัดสรรงบประมาณส่วนที่เหลือไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นอื่นๆ ต่อไปได้

สำหรับสภา กทม. ชุดปัจจุบัน มาจากการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2557 ลงนามโดย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.กทม.) ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 86/2557 ลงวันที่ 10 ก.ค.2557 ซึ่งสภากทม.ชุดนี้ มีสมาชิกทั้งสิ้น 30 คน โดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้มาเป็นประธานเปิดประชุมสภา ในวันที่ 24 ก.ย.2557 มี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ อดีตปลัดกทม. ได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ ส่วนรองประธานสภาฯ ได้แก่ พล.อ.คนินทร วงศาโรจน์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม และ นายกิตติ บุศยพลากร ผู้ตรวจการอัยการสำนักอัยการสูงสุด

ล่าสุด สภา กทม. ได้มีการปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2558 มีสมาชิก 30 คน ดังนี้ นายกิตติ บุศยพลากร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ พล.อ.โกญจนาท จุณณะภาต พล.อ.คนินทร วงศาโรจน์ นายคำรณ โกมลศุภกิจ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ พล.ต.โชติภณ จันทร์อยู่ น.ส.ดวงพร รุจิเรข นายธวัชชัย ฟักอังกูร พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล, นายพรชัย เทพปัญญา นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ พล.ต.ท.พลบูรณ์ ชำนาญกูล นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ น.ส.เฟื่องฟ้า เทียนประภาสิทธิ์ นายภาส ภาสสัทธา นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รท.วารินทร์ เดชเจริญ นายวิชาญ ธรรมสุจริต นายสงขลา วิชัยขัทคะ(ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 ก.ค.58) นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ นางสุกัญญา สุวัฒนวงศ์ นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ พล.ต.สุทธิชัย วงษ์บุบผา นายอภิรัตน์ ศิวพรพิทักษ์ และ นายอัครวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
กำลังโหลดความคิดเห็น