ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา มีการประกาศใช้กฎหมายการปรับโครงสร้าง“หน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก”ที่ชื่อว่า “องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)” สังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรัฐวิสากิจประเภท เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน และบริการ และดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐบาล ด้านการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากร ธรรมชาติ แต่น่าสนใจ ? ตรง อ.อ.ป. มีผลการดำเนินงานคือ “ไม่ขาดทุน แต่รายได้น่าจะมีมากกว่าที่เป็นอยู่”
แต่ปัญหาขององค์กรแห่งนี้ รัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมามีทั้งแนวคิดจะยุบทิ้งบ้าง บ้างก็เสนอให้ไปปรับโครงสร้าง เน้นเป็นองค์การค้าไม้พาณิชย์ โดยให้เหตุผลเหมือนๆกันว่า สถานภาพของอ.อ.ป.ในทางเศรษฐกิจ ถือว่าประสบความล้มเหลวในการประกอบการอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นภาระของสังคมที่ต้องจัดหางบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีประชาชนมาใช้จ่ายในองค์กรแห่งนี้
โดยปี 2558 อ.อ.ป.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 132,817,500 บาท และปี 2559 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 291,523,500 บาท และปีผ่านๆ มาก็รับจัดสรรงบปีละ 300-500 ล้านบาท แม้จะมีกำไรต่อปีมหาศาล
ตามราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ ระบุตามมาตรา 1 กฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า“พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2559” มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยมีการยกเลิกความในหลายมาตราของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. 2499 มีสาระสำคัญดังนี้
“ให้ อ.อ.ป. มีสํานักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือในจังหวัดอื่นตามความเหมาะสม จัดตั้งสํานักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้”
“ดําเนินกิจการเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ การปลูกฝังทัศนคติและความสํานึกในการคุ้มครองดูแลรักษา บูรณะ และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งการอนุรักษ์และบริบาลช้างเลี้ยงของไทย ตลอดจนดําเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดหาที่พัก การอํานวยความสะดวก หรือการให้บริการในกิจการที่เกี่ยวกับการทัศนาจร หรือกิจการอื่นใด เพื่อประโยชน์แก่การดําเนินการดังกล่าวด้วย”
“ให้ อ.อ.ป. สามารถกู้ ยืมเงินได้ แต่ถ้าเป็นจํานวนเงินเกินกว่าคราวละห้าสิบล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน และการกู้ ยืมเงิน หรือจ่ายเงินล่วงหน้า อ.อ.ป.ต้องมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่กิจการ และยังสามารถออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน”
ในมาตรา 13 ยังให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการของอ.อ.ป. คณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้”มี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ มีหัวหน้ากลุ่มภารกิจในกระทรวงฯ ซึ่งปลัดกระทรวงฯ มอบหมาย อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้แทนกระทรวงการคลัง และกรรมการอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจํานวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการให้ผู้อํานวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้ในตําแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้”
นอกจากนั้น ยังเพิ่มข้อความว่า“รัฐมนตรี มีอํานาจแต่งตั้งและถอดถอน “ผู้อํานวยการ”โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” ส่วนการบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและคนงาน ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของ อ.อ.ป. แต่ถ้าเป็นพนักงานชั้น “รองผู้อํานวยการ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ” ที่ขึ้นตรงต่อผู้อํานวยการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ทั้งหมดนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ทีนี้ย้อนกลับไปดูทุกมิติของอ.อ.ป. เริ่มจากรายได้ที่ถือเป็น“กำไร”ของ อ.อ.ป. จากข้อมูลรายงานประจำปี พบว่า จากปี 2546 มีกำไร 94 ล้านบาท ปี 2547 มีกำไร 72 ล้านบาท ปี 2548 มีกำไร 41 ล้านบาท ปี 2549 มีกำไร 61 ล้านบาท ปี 2550 มีกำไร 123.57 ล้านบาท ปี 2551 มีกำไร 184.07 ล้านบาท ปี 2552 มีกำไร 267.5 ล้านบาท ปี 2553 มีกำไร 107.23 ล้านบาท ปี 2554 มีกำไร 196.64 ล้านบาท ปี 2555 มีกำไร 238.60 ล้านบาท ปี 2556 มีกำไร 28.83 ล้านบาท (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)กำลังตรวจรับรองงบการเงิน) ปี 2557 คาดการณ์ มีกำไร 236.84 ล้านบาท และปี 2558 มีกำไร 50.93 ล้านบาท
โดยปี 2558 อ.อ.ป. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 132,817,500 บาท และปี 2559 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 291,523,500 บาท เน้นแผนงานพัฒนาและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ 19 ล้านบาทเศษ เป็นแผนงานส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 27 ล้านบาทเศษ และแผนงานรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน 244 ล้านบาทเศษ
รายได้ของ อ.อ.ป. คือ การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้ และการปลูกสร้างสวนป่า ซึ่งพื้นที่ดำเนินการจำแนกเป็น 5 ประเภท (โครงการ 1 - 5) จำนวน 124 แห่ง เนื้อที่ทั้งสิ้น 1,118,374.935 ไร่ โดยชนิดพันธุ์ไม้ที่อ.อ.ป.ปลูกสร้างส่วนใหญ่คือ ยูคาลิปตัส และปัจจุบันได้ดำเนินการปลูกยางพาราในพื้นที่สวนป่าเดิม แต่จากข้อมูลปี 2555 ของ “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง” กลับพบว่า อ.อ.ป.เป็นหน่วยงานที่กระทรวงการคลัง ได้ไปศึกษารายละเอียดแล้ว ซึ่งจากข้อมูลที่เสนอมานั้น รัฐบาลมองว่า น่าเสียดายเพราะดูแล้วน่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้มากมายมหาศาล”
โดยเฉพาะในเรื่องของการปลูกป่าเศรษฐกิจ ปัจจุบัน อ.อ.ป.มีไม้สัก ไม้ยางพาราอยู่ประมาณ 25% ของป่าทั้งหมดและมีแผนที่จะพัฒนาไปเป็น 40% ปัจจุบันมีปัญหาเรื่อง GPS ที่เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้รู้ว่า อ.อ.ป.มีพื้นที่ป่าไม้ในไทยจำนวนเท่าไร และอยู่บริเวณใดที่สามารถนำเป็นสินทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ได้
น่าแปลกใจที่ช่วงนั้น อ.อ.ป.มีปัญหาด้านการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก แม้จะมีตัวเลขที่เป็นกำไร ในแต่ละปี อ.อ.ป.ต้องของบสนับสนุนจากรัฐบาลมากถึง 300-500 ล้านบาทในการปลูกทดแทนไม้ใหม่ แต่ไม่ทราบว่า ในสต๊อกของตัวเองมีไม้อยู่เท่าไร อีกทั้งราคาซุงของ อ.อ.ป.ก็ยังเป็นราคาที่ถูกมาก หากมีการปรับปรุงด้านระบบข้อมูล และปรับราคาซุงให้เท่ากับราคาท้องตลาด เชื่อว่าอ.อ.ป.จะเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพด้านการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ได้ไม่ยาก
ในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลขณะนั้นได้รับข้อมูล “ยุบ อ.อ.ป.”ไว้บ้างแล้ว โดยมีแนวคิดจะส่งมอบพื้นที่ “สวนป่า”กลับไปให้ “กรมป่าไม้”บริหาร โดยเฉพาะบันทึกสั่งการของอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ที่ให้ อ.อ.ป. รับทราบและปฏิบัติใน 3 กรณี คือ ให้ชะลอการใช้ประโยชน์สวนป่า ให้ชะลอการพิจารณาอนุญาตปลูกป่าทดแทนในพื้นที่สวนป่าของ อ.อ.ป. และให้ อ.อ.ป.ส่งมอบพื้นที่สวนป่าโครงการที่ 2-5 ที่ได้รับมอบไปดูแลรักษาและใช้ประโยชน์คืนกรมป่าไม้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยอ้างว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น
แต่ “กลุ่มพนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป. ในนามของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้” ได้รวมตัวกันคัดค้านการส่งมอบพื้นที่สวนป่าให้กรมป่าไม้ โดยมีเหตุผลว่า จะทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย เพราะ อ.อ.ป.ได้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์สวนป่า 5 โครงการ มีพื้นที่รวม 1,167,937 ไร่ แต่หากต้องส่งมอบสวนป่าโครงการที่ 2-5 จะเหลือพื้นที่เพียง 223,117 ไร่ จะทำให้ อ.อ.ป.ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย หาก อ.อ.ป.ต้องยุบเลิกไป จะส่งผลให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก
ในอดีตที่รัฐบาลอนุญาตให้สัมปทานทำไม้แก่บริษัทจังหวัดทำไม้ อ.อ.ป.มีหุ้นในบริษัทจังหวัดทำไม้ทุกบริษัท เป็นผู้ได้รับสัมปทานทำไม้รายเกือบทั้งหมดในประเทศไทย และเป็นใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีรายได้จากไม้จากพื้นที่สร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ และการใช้หรือขายไม้ที่อายัดจากการลักลอบตัดไม้หรือการทำไม้เถื่อน เมื่อประเทศไทยยกเลิกสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ.2532 อ.อ.ป. ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ที่ได้รับสัมปทานทำไม้รายใหญ่ของประเทศ ขาดทุนมหาศาล รัฐบาลต้องดูแล อ.อ.ป. ให้อยู่รอด ด้วยการหาประโยชน์จากสวนป่าในทุกโครงการดังนี้
สวนป่าที่ อ.อ.ป.ปลูกโดยใช้งบประมาณของตนเอง (โครงการที่ 1) สวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ของ อ.อ.ป. (โครงการ 2) สวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ของบริษัทจังหวัดทำไม้ (โครงการ 3) สวนป่าที่บริษัทจังหวัดทำไม้ ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ และอ.อ.ป. รับมอบจากกรมป่าไม้มาดูแลใช้ประโยชน์ (โครงการ 4) และสวนป่าที่ปลูกโดยงบประมาณของกรมป่าไม้ซึ่งส่งมอบให้ อ.อ.ป.ดูแลใช้ประโยชน์ (โครงการ 5 ) โดยสรุป จำนวนสวนป่าในความดูแลและใช้ประโยชน์ของ อ.อ.ป.มีทั้งหมด 1,118,374.935 ไร่ ในพื้นที่ 124 สวนป่า
ในอดีตที่ผ่านมา กลุ่มที่เห็นด้วยกับการ “ยุบ อ.อ.ป “ มองว่า อ.อ.ป.ไม่สามารถทำหน้าที่ปลูกฝังทัศนคติให้ประชาชนดูแลรักษาป่าได้ เพราะในสายตาของประชาชนในท้องถิ่นมองว่า อ.อ.ป.คือ “ผู้ที่ทำลายป่าไม้” เมื่อถูกเปลี่ยนจากการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ และการทำสวนป่า แปลงสภาพมาเป็นรูปแบบขององค์กรธุรกิจในการหารายได้ให้องค์กร การให้พื้นที่ป่าซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินของ อ.อ.ป.ในการหารายได้ จึงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้พื้นที่ป่าของไทยลดลงหนักยิ่งกว่าเดิม แถม อ.อ.ป. ยังกระทบกระทั่งขัดแย้งกับชาวบ้านหลายพื้นที่
มีข้อเสนอว่า รัฐควรนำพื้นที่มาจำแนกจัดสรรใหม่ทั้งหมด เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมในการสงวนไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม ให้สิทธิชุมชน ท้องถิ่น และภาครัฐจัดการฟื้นฟูให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ พื้นที่ที่ประชาชนเคยถือครองทำกินมาก่อน ให้นำมาจัดสรรแก่ชาวบ้านผู้เดือดร้อน โดยอาจจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชนหรือรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่วนทรัพย์สินและบุคลากรของอ.อ.ป. รัฐบาลควรมีมาตรการดูแลพนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุข
กลุ่มเห็นด้วยกับการยุบ อ.อ.ป. ยังเห็นว่า อ.อ.ป.พยายามดิ้นรน โดยเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนป่าในรูปแบบต่างๆ เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การปลูกยางพาราในพื้นที่สวนป่า การดำเนินโครงการ 1 สวนป่า 1 โรงไฟฟ้าชีวมวล และการขยายผลจากการปลูกป่าเพื่อเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต โดยขอสนับสนุนเงินแหล่งทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นญี่ปุ่น มาดำเนินการปลูกป่า แล้วเครดิตจากภาวะการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ที่ปลูก จะเป็นของประเทศผู้ให้ทุน
ทั้งนี้ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ว่าด้วยกลไกการพัฒนาแบบสะอาด ( CDM ) แต่อย่างไรก็ตาม การดิ้นรนเหล่านี้ ยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมจากสังคมได้ รวมถึงเรื่องเดิมที่ อ.อ.ป.ได้สร้างปัญหามาแล้วยังไม่ได้แก้ไข อีกมากมาย
สรุปสั้น ๆ“พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2559” ฉบับนี้ ออกมาเป็นทางออกเพื่อให้หน่วยงาน กู้ยืมเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับตัวเอง อนาคตอาจจะถูกปรับลดงบประมาณและที่สำคัญไม่ต้องยุบ หน่วยงานที่มีกำไรมหาศาลเข้ารัฐ ชื่อ “องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้”ทิ้งไปเฉย ๆ