-ที่ว่าไม่ธรรมดา ก็เพราะว่า “ป่าเศรษฐกิจ” ได้ผูกโยงเข้าไปในแผนดำเนินการ “เพิ่มพื้นที่ป่า” ของกรมป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 สอดรับแนวทางประชารัฐและแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
-ยุทธศาสตร์นี้ยังเล็งผลเลิศ สร้างรายได้ทั้งกับชุมชนและประเทศชาติ เพียงแต่จะเป็นไปได้จริงหรือ ในเมื่อขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประมาณ 20% ของพื้นที่ประเทศไทยยังถูกคุกคามไม่จบ
-ส่อง “นโยบายไม่ส่งเสริม” ทำให้รักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ไม่ได้
ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรมป่าไม้กำลังดำเนินนโยบายตามแผนเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 % (ป่าเพื่อการอนุรักษ์ไว้ ร้อยละ 25 ป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ) จากที่ผ่านมา กรมป่าไม้ดำเนินการตามแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย แต่นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เป็นต้นมาได้ดำเนินการในสองแนวทางหลัก คือ 1.การฟื้นฟูสภาพป่า 2.การเพิ่มพื้นที่ป่า
เป้าหมายภายในปีนี้จะเร่งฟื้นฟูสภาพป่าไม่น้อยกว่า 5 หมื่นไร่ และเน้นการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยชุมชน หรือป่าเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวคิดให้ป่าสามารถเป็นเงินออมได้ด้วยหลักการขับเคลื่อนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล เรื่องของป่าเศรษฐกิจนั้นครอบคลุมไปถึงเรื่องของการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า เช่นไม้พยุง ไม้ยางนา ไม้สัก ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงนิเวศ เรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่าและเรื่องของการค้าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไม้มีค่า สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในทางปฏิบัติแนวทางประชารัฐ ที่เป็นส่วนสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างประชาคม ภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน ในพื้นที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ รวมถึงในพื้นที่ชุมชนตามแนวกันชนป่า และบางบริเวณที่มีการทำการเกษตร กรมป่าไม้ก็มีแนวคิดที่จะให้เกษตรกร หรือแม้แต่หน่วยงานราชการหันมาปลูกป่า โดยมีประโยชน์ คือ ผลผลิตจากป่า ทั้งเรื่องของไม้มีค่า และผลิตผลจากป่าซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้
“บางพื้นที่เกษตรกรปลูกพืชแล้วราคาตกต่ำก็หันมาปลูกป่าเศรษฐกิจ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อรายได้ของเกษตรกรมากกว่าผ่านการส่งเสริมของรัฐกับภาคเอกชน มีเรื่องของหลักประกันด้านราคา + ช่องทางการตลาด เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ป่าเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน คือทั้งในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า การรักษาระบบนิเวศ การสร้างรายได้ให้กับชุมชน การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” ชลธิศกล่าว
ปลูกป่า ปลูกคน ในแผนฯ 12
ด้าน ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ได้กำหนดทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) มีเป้าหมายชัดเจนกำหนดให้รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 40% ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15% พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มจาก 1.53 ล้านไร่ เป็น 1.58 ล้านไร่ ให้แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ และลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพื่อสร้างสมดุลธรรมชาติ ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า หยุดการทำลายป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไม้ 102.3 ล้านไร่ให้อยู่ต่อไป ให้ทุกภาคส่วนนำระบบสารสนเทศมาใช้บริหารจัดการ บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เร่งแก้ไขปัญหาซับซ้อนแนวเขตที่ดินของรัฐ โดยใช้หลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ( One Map) ให้เสร็จโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ต้องสนันสนุนการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าไม้ด้วยการให้คนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาและยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัส "ปลูกป่า ปลูกคน" โดยประยุกต์จากความสำเร็จโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในการปลูกป่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนไปพร้อมๆ กัน ส่งเสริมการจัดการป่าชุมชน สนับสนุนกฎหมายเกี่ยวกับป่าชุมชน สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและดูแลพื้นป่า เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมาย 15% ของพื้นที่ทั้งหมด ด้วยการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่น ไม้สัก ไม้มะค่าและไม้พะยูง โดยการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนและเกษตรกรรายย่อยปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงให้เปลี่ยนการปลูกไม้เศรษฐกิจระยะสั้นเป็นระยะยาว
สำหรับประเทศไทยนั้น มีศักยภาพด้านการปลูกและพัฒนาไม้มีค่าทางเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะ ไม้สัก เพราะมีความเหมาะสมทางภูมินิเวศและคุณภาพของสายพันธุ์ ไม้พื้นถิ่นของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และมีมูลค่าสูงมาก จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยภาครัฐต้องดูแลทั้งห่วงโซ่การผลิต
หนุนออกพันธบัตรป่าไม้
นอกจากนี้ จะต้องจัดตั้งตลาดกลางค้าไม้ พัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับการค้าไม้และขนส่งไม้ สนับสนุนกลไกทางการเงินเพื่อการปลูกป่า เช่น การออกพันธบัตรป่าไม้ ธนาคารต้นไม้ หรือกองทุนส่งเสริมการปลูกป่า การวิจัยและพัฒนาการปลูกพืชแซมในสวนป่า ทำวนเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในช่วงที่ป่ายังไม่เติบโต วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากไม้ หาแนวทางสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไม้ที่มีรอบตัดระยะยาว การปลูกพืชแซมสวนป่า เพื่อสร้างรายได้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านรายได้ การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้การเติบโตอย่างสีเขียว ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก
สำหรับหน่วยงานหลักที่จะต้องดำเนินการนั้น จะต้องบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน โดยสภาพัฒน์จะต้องร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ โครงการมเหสักข์ สักสยามมินทร์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถาบันการศึกษา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์และภาคเอกชน โดยดำเนินงานในรูปแบบคณะทำงาน เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งระบบ และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินงานตามกรอบของสภาพัฒน์ คือ ปี 2560-2564
อ.อ.ป. กังวลคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ
พิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้แสดงความกังวลต่อความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อป่าเศรษฐกิจกับป่าอนุรักษ์ โดยทั่วไปมองว่า ป่าอนุรักษ์คือ การเก็บ ป่าเศรษฐกิจ คือ พื้นที่ที่เราสร้างขึ้นมาแล้วเอามาใช้ประโยชน์ แต่ตามหลักวิชาการป่าอนุรักษ์ก็ควรเอามาใช้ อยู่ที่ว่าเราจะเอามาใช้อย่างไร เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่การเก็บอย่างเดียว แต่คือทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ความไม่เข้าใจของคนชั้นกลางในเมืองที่เป็นห่วงและไม่มั่นใจการบริหารจัดการป่าของรัฐ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของอ.อ.ป. หน้าที่กรมป่าไม้ ทำอย่างไรจะทำความเข้าใจกัน"
ผอ.อ.อ.ป.ย้อนเวลากับไปในช่วงปี 2537-2547 ป่าของไทยหายไปนาทีละ 5 ไร่ และตั้งแต่ปี 2541 อ.อ.ป. เริ่มปลูกต้นไม้ จนปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอยู่กว่าล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าสัก ป่าเศรษฐกิจราว 6 แสนไร่ จำนวนดังกล่าวถือว่ายังน้อยมากหากเทียบกับการใช้ไม้ของคนในประเทศ เราเลยต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศสูญเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
ผอ.อ.อ.ป.ตั้งคำถามและบอกว่า ประเทศไทยอยู่ในเส้นศูนย์สูตร ตรงนี้สามารถปลูกป่าได้ภายในระยะไม่นาน ป่าเศรษฐกิจสร้างได้ เอาไม้มาใช้ประโยชน์ได้ แต่ทำไมไม่ดิ้นรนในการสร้าง เราไปซื้อไม้จากต่างประเทศทำไมมากมาย หากเรามีพื้นที่สามารถจะปลูกขึ้นมาใช้งานได้”
ปัญหาที่จะเจอต่อมาคือ ถ้าจะสร้างเราจะมาอาศัยพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ คงจะไม่ได้ คงต้องอาศัยพื้นที่ที่เป็นของเอกชน พื้นที่เอกสารสิทธิ์ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า หรือจะปลูกพืชเกษตรและปลูกป่าควบคู่กันไป