ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่ได้ยินจากปากนายกฯ จนชินหู ก็คือ ปัญหาต่างๆ ของประเทศชาติบ้านเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ปัญหาหมักหมม สะสมมากมาย จนเกินกว่าที่จะแก้ไขให้ลุล่วงในเร็ววัน ให้ทันใจประชาชนได้
สรุปความสั้นๆ ง่ายๆก็คือ ปัญหาเกิดจาก "นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไร้ประสิทธิภาพ" ต้องปฏิรูปกระบวนการคัดกรองคนที่จะเข้าสู่การเมืองกันใหม่
ดังนั้น ความสนใจของนักการเมืองและผู้ติดตามการเมือง ในขณะนี้จึงโฟกัสไปที่ กฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังเร่งยกร่าง เพื่อให้ทันกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ตามโรดแมป ที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางไว้
กฎหมายลูก 4 ฉบับนั้น ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว. และร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง
โจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งไว้คือ ทำอย่างไรถึงจะได้คนดีเข้ามาสู่ระบบการเมือง ทำอย่างไรให้นักการเมือง พรรคการเมือง หลุดพ้นจากการถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน ที่มาในลักษณะเงินบริจาค เงินอุดหนุนพรรค การใช้เงินในการหาเสียง ปัญหาซื้อสิทธิ ขายเสียง รวมทั้งบทลงโทษนักการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชัน เพื่อป้องกันและปราบปรามนักการเมือง และพรรคการเมือง ที่ประพฤติตนเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน
สำหรับสิ่งที่พึงประสงค์ คือ พรรคการเมืองและนักการเมือง ต้องเป็นผู้ที่ศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง ดังนั้น พรรคการเมืองและนักการเมืองใดกระทำการจาบจ้วงล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่ากระทำเองหรือใช้จ้างวานผู้อื่น หรือสนับสนุนผู้อื่นให้กระทำการดังกล่าว หรือรู้เห็นยินยอมให้บุคคลที่กระทำการเช่นนั้น เป็นสมาชิก จะต้องถูกลงโทษสถานหนัก ต้องพ้นฐานะและตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองทันที และ ต้องยุบพรรคการเมืองด้วย
ถ้ามีบทบัญญัติที่ครอบคลุมเช่นนี้ พรรคการเมืองก็จะไปสนับสนุนพวกล้มเจ้าทั้งใน และนอกประเทศไม่ได้
พรรคการเมือง และนักการเมือง จะต้อง บริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากนักการเมือง และพรรคการเมืองใด ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือละเว้นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศและผลประโยชน์ของชาติ จะต้องมีโทษทางอาญาสถานหนัก ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทันที และจะดำรงตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ไม่ได้อีกตลอดชีวิต
ทั้งนี้ เพราะพรรคการเมือง และนักการเมือง เป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการที่จะพัฒนาประเทศชาติให้ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" จึงต้องเป็นพรรคการเมือง และนักการเมืองที่ดี ไม่ใช่เป็นแหล่งซ่องสุมของพวก "โจรปล้นชาติ"
นอกจากโจทย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วยังนี้ยังมีโจทย์จากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเสนอมา อาทิ จากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท. ) เช่น นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ได้เคยเสนอในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ กกต. ในการควบคุมการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงานของกกต. โดยเฉพาะ กกต.จังหวัด ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นผู้ทำสำนวนคดีทุจริตเลือกตั้ง จะต้องมีความรวดเร็ว โปร่งใส รวมถึงควรให้รางวัลนำจับเกี่ยวกับคดีการซื้อเสียงด้วย
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. ได้เสนอว่า ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องช่วยรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เสมือนเป็นเทศกาลสำคัญของชาติ ส่วนการป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง เสนอให้หัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรค มีหน้าที่ป้องกันมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคทุจริตเลือกตั้ง หากเพิกเฉยต่อการทุจริตของผู้สมัคร จะมีบทลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตเพราะถือว่ารู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด โดยประชาชนที่แจ้งเบาะแสจนสามารถเอาผิดผู้ทุจริตได้ ควรได้รับมอบเงินรางวัลตอบแทน 1 แสนบาท
เรื่องเสนอห้ามผู้สมัครลงเลือกตั้ง และส.ส.ให้เงินช่วยเหลือตามงานประเพณีงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช และงานศพ ภายในเขตเลือกตั้งของตนเอง เพื่อป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงทางอ้อม
ส่วนมาตรการลงโทษ ผู้ทุจริตซื้อเสียง ต้องรับโทษที่รุนแรงทั้งทางแพ่ง และอาญา เช่น การตัดสิทธิไม่ให้ลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต การลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี โดยไม่รอการลงโทษ และมีอายุความ 20 ปี โดยให้มีโทษปรับสูงสุด 20 ล้านบาท เป็นต้น
อีกคนที่มีข้อเสนอที่ฮือฮา กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันก็คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง พรรคประชาชนปฏิรูป ได้เสนอว่า ห้ามผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงเลือกตั้ง เพราะเห็นว่า การเลือกตั้งที่ผ่านๆ มานั้น ผู้สมัครส.ส.ต้องหมดเงินไปกับกระบวนการหาเสียงเป็นจำนวนมหาศาล เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวผู้สมัคร จัดทำป้ายหาเสียง เวทีปราศรัย รถแห่ จัดตั้งระบบหัวคะแนน ที่ออกเดินเคาะประตูบ้าน การหาเสียงตามรูปแบบดังกล่าว จึงเป็นต้นเหตุของความเคยชินว่า การเลือกตั้งต้องมี "อามิส สินจ้าง" เป็นองค์ประกอบ ซึ่งก็พัฒนาไปสู่ การซื้อสิทธิ ขายเสียง เงินไม่มา กาไม่เป็น ใครทุ่มเงินมาก ก็มีโอกาสได้เป็นส.ส. มากกว่าคนเงินน้อย
เมื่อต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากเพื่อการได้เป็น ส.ส. ทำให้ผู้สมัครส.ส. ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนธุรกิจการเมือง และผู้สนับสนุนทางด้านการเงินแก่พรรคต้นสังกัด แล้วสุดท้าย ก็วกเข้าสู่วงจรอุบาทว์ คือทุจริต คอร์รัปชัน เพื่อถอนทุนคืน
นายไพบูลย์ เสนอว่า การหาเสียง หรือการแนะนำตัวผู้สมัครให้เป็นที่รู้จักของประชาชนนั้น ยกให้เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการ เช่น ติดประกาศรูป และประวัติ คุณสมบัติของผู้สมัคร ในที่สาธารณะที่จัดไว้ หรือใช้วิธีส่งไปให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทุกครัวเรือน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของผู้สมัคร และให้ผู้สมัครเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งน้อยที่สุด
ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ นายไพบูลย์ บอกว่าได้ตัวอย่างมาจากการหาเสียงเลือกตั้งของประเทศญี่ปุ่น ที่ กกต.กำหนดสถานที่กลางในการติดรูป และ ประวัติผู้สมัคร ส่วนผู้สมัครหากจะหาเสียง อนุญาตให้มีรถหาเสียงได้แค่ 1 คัน เครื่องขยายเสียง 1 ชุด และมีผู้ติดตามได้เพียง 5 คน และต้องไปหาเสียงด้วยตัวเอง ห้ามใช้ตัวแทน หัวคะแนนใดๆ ทั้งสิ้น
อีกอย่างที่นายไพบูลย์ อ้างถึงก็คือ ไม่ต้องหาเสียง ก็เลือกตั้งอย่างมีคุณภาพได้ โดยถอดบทเรียนจากการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพราะประชาชนที่มาออกเสียงประชามติ ไม่ได้มาโดยอามิสสินจ้าง แต่มาจากการใช้ดุลยพินิจในฐานะพลเมือง ไม่มีการรณรงค์ปลุกปั่น บิดเบือน หาเสียง มีแต่การแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดย กกต.จัดส่งสาระสำคัญให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงตามครัวเรือน และผลของประชามติที่ออกมา ก็ได้รับการยอมรับจากสังคม และระดับสากล จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงก็ไม่น้อย คือ 60% ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง
ดังนั้น การเลือกตั้งต่อจากนี้ไป ก็ไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการหาเสียงที่ฟุ่มเฟือยเหมือนในอดีต และผลที่ออกมาก็เป็นการออกเสียงที่มีคุณภาพ มากกว่าปริมาณ เพราะประชาชนจะออกมาใช้สิทธิด้วยจิตสำนึกของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
แน่นอนว่า ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ ในสายตาของนักเลือกตั้งตามขนบเดิมๆ ย่อมมองว่า เป็นข้อเสนอที่ "สุดโต่ง" ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ การรับรู้ของประชาชน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ต้องออกมาคัดค้าน โต้แย้งให้ถึงที่สุด
ขณะที่ฝ่ายที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในขณะนี้ ที่ต้องการปฏิรูปการเมือง ยอมต้องพยายามตั้งกฎ กติกา ที่มุ่งสกัดนักการเมืองหน้าเก่าๆ ตระกูลเดิมๆ ที่ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันเข้ามาหาประโยชน์ ปล้นชาติ ปล้นแผ่นดิน ให้หมดไป ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาสู่การเมืองด้วย
จึงเป็นหน้าที่ของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะเป็นคนตีโจทย์เหล่านี้ แล้วสรุปความออกมาเป็นกรอบกติกา ตามแนวทางอันพึงประสงค์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการ
ขอให้จับตาดูว่า กฎหมายลูก 4 ฉบับที่ออกมา จะเป็นกลไกที่สามารถพลิกโฉมการเมืองไทยได้หรือไม่ .