ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอีก 1 นักการเมืองในเครือข่ายของนายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอดีตรัฐมนตรีหลายคนถูก สนช.ลงมติถอดถอนไปแล้ว เนื่องจากมีพฤติกรรมทุจริต หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต
โดยกรณีของ พล.อ.อ.สุกำพลนั้น สนช.ได้เริ่มพิจารณากระบวนการถอดถอนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ในข้อหาใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเข้าไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมโดยมิชอบ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น และพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ขัดต่อมาตรา 268 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกอบมาตรา 266 (1), (2) และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ข้อ 15 พ.ศ. 2551 มีมูลส่อว่าจงใจในการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ด้วย
คดีนี้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้แถลงเปิดสำนวนต่อที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 พล.อ.อ.สุกำพลได้นำ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อให้สนับสนุนเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2555 เวลา 10.00 น.ได้มีการเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ โดยไม่ได้มีการพิจารณาของคณะกรรมการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แต่มาพิจารณาในตอนบ่ายและมีการรับรองชื่อในวันที่ 20 สิงหาคมปีเดียวกัน ถือเป็นแทรกแซงและไม่ปฏิบัติตามมาตรา 25 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ในข้อที่ 11 ซึ่ง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือทักท้วงไปว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้ เนื่องจาก พล.อ.ทนงศักดิ์สังกัดกองทัพบก ตามข้อบังคับการแต่งตั้งของกระทรวงกลาโหมจากส่วนราชการหนึ่งไปอีกส่วนราชการ หนึ่งต้องให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำการตกลง แต่ปรากฏว่าไม่มีการตกลงใดๆ ทั้งสิ้น
น.ส.สุภาแถลงอีกว่า ตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่มุ่งทำให้เกิดดุลภาพในเรื่องการบริหารกองทัพ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งและห้ามเข้ามาล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้าย แต่การกระทำที่กล่าวมาข้างต้นชี้ให้เห็นเจตนาอย่างชัดเจนว่า พล.อ.อ.สุกำพลใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในหน้าที่ประจำของข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่นโยบาย เป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักการการบริหารที่ดี ย่อมทำให้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศขาดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจใช้บังคับได้ผล เป็นการทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน เป็นการทำลายระเบียบ มาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงสมควรถูกถอดถอนและตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพลแถลงเปิดสำนวนตอนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงในกรณีที่การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลในวาระเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งข้อกฎหมายและข้อบังคับก็ตรงกับ ป.ป.ช. 2 ฉบับ นั่นคือยึดการประชุมของคณะกรรมการระดับกระทรวงกลาโหมที่ตนเป็นประธาน โดยกลาโหมขอให้หน่วยที่ขึ้นตรงต่างๆ ส่งรายชื่อนายทหารทั้งหมดที่จะโยกย้ายให้มาถึงที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2555 แต่เมื่อถึงกำหนดก็ไม่มีหน่วยไหนส่งรายชื่อมาเลย แม้แต่สำนักงานปลัดกลาโหมก็ไม่มี จึงเป็นจุดสำคัญที่ตนต้องตัดสินใจ เพราะวาระการแต่งตั้งโยกย้ายในเดือนสิงหาคมน่าจะไม่เสร็จทันตามกำหนดที่จะต้องทำให้เสร็จเพื่อส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินต่อ ซึ่งหน่วยต่างๆ จะต้องส่งรายชื่อมายังตนวันที่ 3 กันยายน 2555 มีเวลาให้ตนพิจารณาเพียง 5 วัน จึงได้ตัดสินใจนัดประชุมโดยให้ปลัดกลาโหมนัดประชุมด้วยวาจาในวันที่ 17 สิงหาคม 2555 เวลา 10.00 น.และเป็นรับทราบทั้งหมด เว้นแต่ ผบ.ทอ.เท่านั้นไปราชการต่างประเทศจึงไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ตนได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าอยากหาข้อยุติในเรื่องปลัดกลาโหมเพียงวาระเดียว เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ โดยมีการแจ้งชัดเจนว่าไม่ให้จดบันทึกการประชุม เพราะมีวาระเดียวจำเอาไว้และป้องกันความลับรั่วออกไป เพราะรั่วทุกปี
พล.อ.อ.สุกำพลได้โต้แย้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ยืนยันว่าการประชุมแต่งตั้งในวันที่ 17 สิงหาคม 2555 เป็นการประชุมที่ครบองค์ประชุมเพื่อพิจารณาตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมเพียงตำแหน่ง โดยตนเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ.เป็นปลัดฯ ส่วน พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นเสนอ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งตนได้ถามที่ประชุมทีละคนว่าจะเลือกใคร ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 ต่อ 1 เห็นชอบ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมตามที่ตนเสนอ
ส่วนที่ ป.ป.ช.กล่าวหาว่า การแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมไม่เป็นไปตามข้อบังคับนั้น ยืนยันว่าการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 เป็นไปตามข้อบังคับทุกประการ และองค์ประกอบครบ โดยที่ประชุมมีมติ 4 ต่อ 1 เห็นชอบ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว
หลังการแถลงเปิดสำนวนของทั้งสองฝ่าย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 7 คน พร้อมกำหนดวันประชุมเพื่อซักถามถามคู่กรณี วันที่ 9 กันยายนนี้
เมื่อกระบวนการสอบถามคู่กรณีเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะมีการนัดวันประชุม สนช.เพื่อลงมติถอดถอนต่อไป ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพลต้องไปลุ้นต่อว่าจะรอดพ้นจากการถูกถอดถอนหรือไม่
หลังจากที่ ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูก สนช.ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการเบิกร่องไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 กรณีไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด
ตามด้วย นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ถูก สนช.ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ตามข้อกล่าวหาทุจริตในการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 นายประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เพิ่งถูก สนช.พิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเมื่อปี 2555 มีการร้องเรียนการทุจริตโครงการปรับปรุงอาคารทรงไทย สำนักงานองค์การตลาด จ.ฉะเชิงเทรา และที่ประชุมคณะกรรมการองค์การตลาด (อ.ต.) กำลังประชุมพิจารณาเลิกจ้างนายธีธัช สุขสะอาด ผอ.องค์การตลาด นายประชาได้โทรศัพท์ไปหาประธานบอร์ด อ.ต.ให้เลื่อนการประชุมออกไป 2 ครั้ง และเมื่อบอร์ด อ.ต.จัดประชุมลงมติเลิกจ้างนายธีธัช นายประชาได้แสดงความไม่ใจและสั่งปลดบอร์ด อ.ต.4 คน พร้อมบอกว่ามติเลิกจ้างนายธีธัชไม่มีผลผูกพัน
ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนายประชาเข้าข่ายการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการ อ.ต. และที่ประชุม สนช.ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนน 182 ต่อ 7 เสียง
ส่งผลให้นายประชาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรับตำแหน่งทางราชการ เช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส ที่ถูกถอดถอนไปก่อนหน้านี้