xs
xsm
sm
md
lg

ศาลตีกลับร่างแก้ไขรธน. “สมพงษ์”ค้าน"ป๋าเปรมโมเดล"ดัน"บิ๊กตู่"นายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30 ส.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 29 ส.ค. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 29 ส.ค. เรื่องร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย ที่แก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ว่าเป็นการชอบด้วยกับผลออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 37 / 1 ต่อมาเมื่อวานนี้ (30ส.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานประธานรัฐสภา ฝ่ายเลขานุการกรธ. มารับหนังสือเอกสารดังกล่าวคืน เพื่อนำกลับไปปรับปรุง และจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่นายมีชัย ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับร่างแก้ไขรธน.คืน เป็นเพราะเอกสารที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของคำร้อง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดศาลรธน. ว่าด้วยวิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ที่ระบุเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดี ทางเจ้าหน้าที่ศาลรธน.จึงประสานเป็นการภายใน ไปยังผู้ที่รับผิดชอบให้ไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ศาลกำหนด ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาทางเทคนิคที่ต้องส่งคำร้องในรูปแบบที่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะรับไว้พิจารณาได้
สำหรับข้อกำหนดศาลรธน. ว่าด้วยวิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 หมวด 3 เรื่องการยื่น การถอน และการจำหน่ายคำร้อง กำหนดไว้ว่า คดีที่จะขอให้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่มีบัญญัติไว้ในรธน. ให้ยื่นคำร้องโดยทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ คือ 1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ถูกร้อง 2 . ระบุมาตราของรธน. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง 3. ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง 4 .คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง และ 5. ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่กรณีที่เป็นการทำ และยื่น หรือส่งคำร้องแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบฉันทะ ให้ทำการดังกล่าวมาด้วย แต่ในเอกสารทีกรธ. ยื่นต่อศาลรธน.นั้น มิได้มีการลงลายมือชื่อผู้ร้อง ซึ่งหมายถึง กรธ.ทั้งหมดไว้ อีกทั้งไม่ได้มีการแนบใบมอบฉันทะ กรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทน จึงถือเป็นคำร้องที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนด ทำให้มีการประสานเป็นการภายใน ให้กรธ. นำกลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง
ด้านนายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การนำเอกสารกลับคืน เป็นปัญหาเรื่องการรับรองเอกสารเท่านั้น ไม่ได้นำกลับคืนมาเพื่อปรับแก้เนื้อหาสาระ โดยยังคงยืนยันตามหลักการเดิมที่กรธ.มีมติออกมาทั้งหมด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มานายกฯคนนอก แบบ"เปรมโมเดล" ว่า ตนไม่ทราบจริงๆ ยังตอบไม่ถูกว่าวิธีไหน ส่วนของศาลรธน. ที่จะมีการวินิจฉัย เรื่องของการแก้ไขร่างรธน.ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงนั้น ศาลรธน.ไม่มีสิทธิไปแก้ไขอะไร มีหน้าที่เพียงบอกว่า ถูก หรือผิด ถ้าผิดต้องไปเพิ่มให้ถูกต้อง และถึงแม้ สนช.จะไม่แจ้งไปว่า ขอให้ความเห็น ทางศาลรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิเรียกมาถาม ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เป็นเรื่องเล็กที่สุด ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของศษลรธน.แล้ว พอศาลสั่ง ก็จบ คาดว่าจะประกาศใช้ในช่วงเดือน พ.ย.59
ด้านนายสมพงษ์ สระกวี กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในลักษณะ "ป๋าเปรมโมเดล" ตามที่นายวันชัย สอนศิริ สปท.เสนอ ว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันการเมืองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ขณะนี้ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ปฏิรูปพรรคการเมือง และเกิดประชาธิปไตย จึงต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปพรรคการเมือง ให้เป็นของประชาชน การไปยึดติดตัวบุคคลเป็นหลักตาม แนวทาง ป๋าเปรมโมเดล คงไม่เหมาะ จึงไม่เห็นด้วยหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกฯ ตามแนวทางดังกล่าว
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปนักการเมือง และพรรคการเมือง ให้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจนายทุนพรรค ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำกฎหมายปฏิรูปพรรคการเมือง โดยฝ่ายกฎหมาย สปท.-สนช.-กรธ. ต้องพูดคุยกันว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะได้คนดีเข้ามาสู่ระบบการเมือง จะไปออกระเบียบอะไรมันก็ไม่ได้อีก ถ้าคนไม่ดี ดังนั้นต้องมีระบบคัดกรองที่ดี วันนี้รธน.ร่างมา เพื่อให้คนที่ไม่มีปัญหาเข้ามา ก็ยังโดนต่อต้านเยอะแยะไปหมด
“เรื่องนายทุนอะไรต่างๆนั้น ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการเป็นพรรคการเมือง นักการเมือง ต้องใช้เงินอะไรมากน้อยไหน เพราะวันนี้ผมก็ไม่ได้ใช้เงินเหล่านนั้นเลยที่จะทำให้คนต้องมารักผม แต่เขาอาจจำเป็นหรือไม่ ในการที่ต้องใช้เงินของส.ส. ไปดูและประชาชนที่เขาบอกว่าต้องมี แล้วมาจากไหน อย่างวันนี้นักธุรกิจใหญ่ๆ มันก็ต้องอยู่ในประเทศไทย ก็ร่วมมือกับผมดีในการทำงาน และไม่เห็นต้องเสียสตางค์ให้ผมสักคน ไม่ต้องบำรุงพรรคผม ผมต้องไปดูกฎหมายการบำรุงพรรคอะไรทำนองนี้ เขาดูหมดทั้งบุคคล การเข้าสู่การเมือง ดูไปถึงบทลงโทษ กำลังพิจารณากันอยู่ การปฏิรูปการเมืองอยู่ประเด็นที่ต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง อย่างน้อยเป็นกติกาที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาในการเมืองW
ต่อข้อถามว่า แล้วกฎหมายที่จะออกมาจะสามารถดึงคนที่ดีๆ หรือนักการเมืองสายเลือดใหม่เข้ามาได้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ มีใครไหมล่ะ ไปหามาซิ ที่ผมเป็นรัฐบาลมา 2 ปี หาคนใหม่ๆ เข้ามา ไม่มีใครเข้ามากับผมสักคน อาจจะไม่เฉพาะกลัวว่าเป็นรัฐบาลรัฐประหารหรอก แต่เขาไม่อยากให้ประวัติมาเสียหาย กับการที่ไปเป็นคนสาธารณะ ซึ่งบางเรื่องมันก็ก้าวล่วงชีวิตส่วนตัวเขามากเกินไป เป็นปัญหาสำคัญของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่เข้ามา เรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน เขาไม่ตั้งใจจะโกง ทรัพย์สินเขามีอยู่แล้ว แต่ต้องมาตีแผ่ให้คนสงสัย เขาก็รับไม่ได้ ถึงไม่อยากเข้ามา แต่เข้ามาอย่างไรก็ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน บางอันเป็นกรรมการทางธุรกิจนี่โน่น ก็ต้องยกเลิกหมดเลยเพราะมันผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วต้องมารับเงินเดือนนิดหน่อย เขาไม่อยากมาหรอก คือเขาไม่อยากมีประวัติใหม่ ไม่ต้องการจะโกง แล้วต้องมาถูกตีแผ่ และการบริหารเชิงรุกของเขามันทำไม่ได้นั่นแหละมันติดขัดที่คนรุ่นใหม่ไม่กล้าเข้ามา คนรุ่นใหม่เขาตั้งใจดี ที่ผมขับเคลื่อนอยู่ก็ได้ความคิดจากคนเหล่านี้แหละ แต่ถามว่ามาเป็นไหม ไม่เป็นหรอก ถามว่า เป็นส.ส.ไหม ไม่สมัคร เขาก็ไม่ชอบ ไม่มีใครชอบหรอก ผมก็ไม่ชอบ แต่ผมจำเป็นต้องทำตอนนี้แค่นั้น ผมขอให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ไม่มีใครเข้ามาสักคน”นายกฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น