xs
xsm
sm
md
lg

จ๊าก กม.พรรคการเมืองเข้มสกัดทุนครอบ-ประวัติด่างพร้อยห้ามเข้า !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



“ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำกฎหมายปฏิรูปพรรคการเมือง โดยฝ่ายกฎหมาย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องพูดคุยกันอยู่ว่าพรรคการเมืองจะทำอย่างไร แต่ต้องยึดโยงกับคำว่าประชาธิปไตยสากล แต่ของเรามันหลุดจากกรอบไปเยอะ สิ่งสำคัญเราจะทำอย่างไรจะได้คนดีเข้ามาสู่ระบบการเมือง จะไปออกระเบียบอะไรมันก็ไม่ได้อีกถ้าคนไม่ดี ดังนั้น ต้องมีระบบคัดกรองที่ดี วันนี้รัฐธรรมนูญร่างมาเพื่อให้คนที่ไม่มีปัญหาเข้ามาก็ยังโดนต่อต้านเยอะแยะไปหมด”

“เรื่องนายทุนอะไรต่าง ๆ นั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการเป็นพรรคการเมือง นักการเมืองต้องใช้เงินอะไรมากน้อยไหน เพราะวันนี้ผมก็ไม่ได้ใช้เงินเหล่านั้นเลย ที่จะทำให้คนต้องมารัก แต่เขาอาจจำเป็นหรือไม่ในการที่ต้องใช้เงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปดูแลประชาชน ที่เขาบอกว่าต้องมี แล้วมาจากไหน อย่างวันนี้นักธุรกิจใหญ่ ๆ ก็ต้องอยู่ในประเทศไทย ก็ร่วมมือกับผมดีในการทำงาน และไม่เห็นต้องเสียสตางค์ให้สักคน”

“ไม่ต้องบำรุงพรรคผม ผมต้องไปดูกฎหมายการบำรุงพรรคอะไรทำนองนี้ เขาดูหมด ทั้งบุคคล การเข้าสู่การเมือง ดูไปถึงบทลงโทษ กำลังพิจารณากันอยู่ การปฏิรูปการเมืองอยู่ประเด็นที่ต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง อย่างน้อยเป็นกติกาที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาในการเมือง”

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติกล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายเร่งด่วนหนึ่งในสี่ฉบับที่ต้องเร่งดำเนินการออกมาก่อนเพื่อรองรับการเลือกตั้งในปลายปี 2560

จากคำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมพอมองเห็นอนาคตข้างหน้าได้ชัดเจนขึ้นสำหรับพรรคการเมือง และนักการเมือง ว่า จะต้องมีการออกกฎออกมาควบคุมเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดคุณสมบัติของนักการเมือง การใช้เงิน การบริจาคเข้าพรรคการเมืองที่คาดว่าจะต้องมีรายละเอียดมากกว่าเดิมแน่นอน

แน่นอนว่า จากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ย่อมต้องมีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวความคิดไม่มากก็น้อย แม้ว่าในรายละเอียดการกำหนดออกมาเป็นกฎหมายจะเป็นหน้าที่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ต้องฟังจาก คสช. ด้วย

ดังนั้น คำพูดที่กล่าวถึง “นายทุนพรรค” เรื่องการ “คัดกรองคนดี” เข้ามาจะต้องมีการกำหนดเป็นคุณสมบัติที่เข้มงวดแน่นอน ซึ่งมีสัญญาณให้เห็นชัดแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามของนักการเมือง หรือคนที่จะลงสู่สนามการเมืองเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะข้อห้ามลงสนามตลอดชีวิต

แน่นอนว่า การสกัดคนชั่ว คนโกงไม่ให้ลงสู่สนามการเมือง เพื่อเข้าสู่อำนาจ โดยกำหนดคุณสมบัติควบคุมเข้มงวดแบบนี้ แม้ชาวบ้านจะชอบใจ ในบรรยากาศที่เสื่อมศรัทธานักการเมืองย่อมให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่สำหรับพวกนักการเมือง นักเลือกตั้งทั้งหลาย ย่อมไม่พอใจจะอ้างว่านี่คือการสกัดกั้นพวกเขา เป็นการควบคุมที่ไม่ยุติธรรม อ้างว่าคนที่มาออกกฎเข้มงวดนี้ไม่ได้มาจากประชาชน มาจากเผด็จการ อะไรประมาณนี้ ถือว่าไม่ชอบธรรมจึงไม่ยอมรับ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากคุณสมบัติที่เข้มงวดดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบกับพวกนักการเมือง “เขี้ยวลากดิน” หลายคนจะหายไปจากระบบการเลือกตั้งมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น พวกที่เคยต้องคดีจำคุก คดีทุจริต เคยถูกถอดถอนถูกยึดทรัพย์ เหล่านี้ เป็นต้น และแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองใหญ่ ที่บรรดา “ขาใหญ่” ทั้งหลายจะโดนเกือบเกลี้ยง

หากโฟกัสไปที่พรรคเพื่อไทยในอนาคต แม้ว่าจะยังไม่ทราบว่าจะเป็นแบบไหน เพราะยังอีกนานพอสมควรว่าใครจะได้รับมอบหมายให้มาเป็น “หุ่นเชิด” รายใหม่ แต่เชื่อว่าจะต้องได้รับผลกระทบหนักกว่าใคร เพราะเมื่อฟังจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้างต้นแล้วทำให้มองเห็นว่าจะมีการควบคุม “เงินบริจาค” กันอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันนายทุนครอบงำพรรค ครอบงำ ส.ส. ซึ่งหากพิจารณากันในทางลึกแล้วมันก็เหมือนกับการ “ตอน” พรรคการเมืองทางอ้อมได้อีกด้วย นั่นคือ ด้วยระบบแบบนี้จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนได้ ส.ส. จำนวนมาก เพราะจะไม่มีการควบรวมพรรค การกวาดต้อน ส.ส. ทำได้ยาก

ในทางตรงกันข้าม ผลของกฎเข้มดังกล่าวจะทำให้มีโอกาสที่จะมีพรรคการเมือง ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มากขึ้น ซึ่งจะไปสอดคล้องกับระบบการเลือกตั้ง การนับคะแนนเสียงการเลือกตั้งโดยเฉลี่ยที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่บรรดานักการเมืองออกมาประสานเสียงโวยวายก่อนหน้านี้เป็นการ “บันไซ” พรรคการเมืองไม่ให้เติบโต เป็นความประสงค์ให้เกิดรัฐบาลผสมให้มีความอ่อนแอ เป็นต้น ที่สำคัญ จะทำให้เอื้อต่อ “นายกฯคนนอก” อีกด้วย อย่างน้อยก็ในช่วงห้าปีแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ดังนั้น เมื่อเห็นสัญญาณโหดดังกล่าวที่คาดว่าจะออกมา แม้จะเชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะสนับสนุน แต่สำหรับนักการเมือง และพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ย่อมร้องจ๊ากแน่ เพราะโดนเข้าไปเต็ม ๆ และอาจไม่ใช่เรียกว่า “เซ็ตซีโร” แต่หากมาแบบนี้จริงถึงไม่ตายก็โตยาก !!
กำลังโหลดความคิดเห็น