xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ไม่สนถูกเซตซีโร่ ชี้ รธน.เขียนมัดต้องไม่ให้พรรคถูกครอบงำ ติงอย่าใช้ 250 ส.ว.ต่อรองอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ไม่ห่วงเซตซีโร่พรรคการเมือง ปชป.พร้อมทำตามกติกา ระบุร่าง รธน.เขียนมัด กรธ.ต้องบัญญัติไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำ รับทำจริงพรรคเก่าเสียเปรียบเปิดทางพรรคเฉพาะกิจเกิด ไม่หวั่นลูกทีมไหลออก บอกพรรคจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับประชาชน แนะอย่าคิดใช้ 250 ส.ว.ต่อรองอำนาจ เหตุจะนำการเมืองสู่ระบบเก่า



นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงขั้นตอนการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติว่า ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมป ไม่น่าจะมีคำถามเรื่องนี้อีก เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนที่ไปลงคะแนน โดยกรอบเวลามีอยู่แล้วคือนำคำถามพ่วงมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญก่อนจะประกาศใช้ จากนั้นทำกฎหมายลูก เมื่อ คสช.ได้รับฉันทามติจากประชาชนได้เดินหน้าอย่างนี้ก็เดินหน้าไป

ส่วนที่กำหนดเวลา 8 เดือนในการทำกฎหมายลูกเป็นกรอบเวลาสูงสุด แต่หากทำเร็วกว่านี้การเลือกตั้งก็จะเร็วขึ้น สำหรับการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองต้องระวังเพราะการจะให้ความเห็นอาจถูกมองว่าเป็นประโยชน์ของพรรคการเมือง ดังนั้นการจะปฏิรูปพรรคการเมืองต้องฟังทุกฝ่ายไม่ใช่ฟังพรรคการเมืองอย่างเดียว

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการเซตซีโร่ให้พรรคการเมืองมาจดทะเบียนใหม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบ อยู่ที่กรรมาธิการ แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากต้องเซตซีโร่ก็ต้องทำ เพราะการจัดตั้งพรรคต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ยังไม่มีใครทราบว่ากฎหมายจะมีเงื่อนไขอย่างไร

“ผมอยากให้คิดด้วยว่าเราต้องการพรรคการเมืองแบบไหน ถ้าจะต้องตั้งพรรคจัดตั้งให้เป็นสถาบัน มีเครือข่ายกว้างขวางที่เป็นของสมาชิกก็เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าจะตั้งพรรคเฉพาะกิจที่มีบุคคลเป็นเจ้าของก็ตั้งง่าย มีอยู่เท่านี้ ถ้าพรรคไหนที่ต้องอาศัยคนมาร่วมมากๆ ก็จะช้าเสียเปรียบ แต่พรรคไหนที่อยู่กับตัวบุคคลก็ง่าย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้จดทะเบียนใหม่จะแตกต่างอย่างไรจากการยุบพรรคที่เคยเกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหารในอดีต นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความแตกต่างคงอยู่ที่ไม่ได้มีการกำหนดโทษ แต่ให้เริ่มต้นพรรคการเมืองใหม่ อย่างไรก็ตามต้องถามผู้คิดเรื่องนี้ว่ามีเหตุผลอะไรที่จะทำแบบนี้ จึงต้องรอดูการทำงานของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าจะเขียนกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร จึงไม่สามารถให้ความเห็นก่อนได้ แต่มีหลักในรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำได้ง่าย จึงต้องดูว่า กรธ.จะเขียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะเป้าหมายในการปฏิรูปพรรคการเมืองคือให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนการตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ถือเป็นสิทธิ เป็นไปตามกติกาใหม่ที่จะออกมา ทั้งนี้ในทุกสมัยย่อมมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มีการหารือกันโดยตลอด แม้ว่าการลงออกเสียงประชามติจะมีบางส่วนที่เห็นแตกต่างกัน เมื่อผลออกมาทุกคนก็ยอมรับและตนมองว่าหน้าที่ของพรรคคือต้องช่วยทำให้สถานการณ์เดินไปอย่างราบรื่นตามโรดแมปเพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งโดยไม่มีปัญหา และไม่ว่าระบบจะออกแบบอย่างไรพรรคการเมืองมีหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ปัญหาให้แก่ประเทศและประชาชน จึงมองไปข้างหน้าว่าในช่วงปีเศษๆ จะมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเพื่อให้เกิดการปฏิรูปแก้ปัญหาความขัดแย้งและดูแลความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไร

“สุดท้ายต้องประเมินถึงเป้าหมายในการดำเนินงานทางการเมืองว่าต้องการอะไร ถ้าต้องการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในระบบการเมือง คนที่เชื่อเรื่องคุณธรรม ความโปร่งใสก็ต้องทำให้ตัวเองมีเอกภาพในการต่อสู้ แต่ถ้ายิ่งแบ่งแยกฝ่ายที่ต้องการให้การเมืองมีปัญหาแบบเดิมๆ ก็มีปัญหามากขึ้น ผมไม่สามารถตอบแทนทุกคนได้ แต่คิดว่าได้คุยพอสมควรว่าเป้าหมายของพรรคเหมือนเดิม ทั้งจุดยืนและแนวคิดที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับประเทศ ส่วนพรรคเราจะเล็กลงหรือไม่ผมคิดว่าพรรคจะใหญ่ หรือเล็กไม่ได้ถูกกำหนดโดย ส.ส.แต่ถูกกำหนดโดยประชาชน”

ต่อข้อถามว่า ที่นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตแกนนำไทยสปริงส์ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ว่า ส.ว.250 คนจะเป็นฐานทางการเมืองให้แก่ คสช.นำไปสู่การบีบทุกพรรคกการเมืองให้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงยังพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะนับจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งยังมีปัจจัยอีกมาก จึงอยากให้มุ่งที่ปัญหาของประเทศก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง คสช.พรรคการเมือง และทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน ไม่ใช่คิดถึงแต่อำนาจต่อรอง เพราะถ้าคิดเช่นนั้นการเมืองจะกลับไปเหมือนเดิม

“บทบาทของ ส.ว.250 คนไม่ได้อยู่ที่เรื่องการตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว แต่ต้องดูต่อไปว่าคนที่เข้ามาเป็นนายกฯ ต้องบริหารประเทศได้ แต่ถ้าเสียงสนับสนุนในสภาไม่พอก็จะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย เมื่อระบบออกมาอย่างนี้ก็ต้องดูผลการเลือกตั้งว่าจะทำอย่างไรให้ระบบเดินได้ ผมได้เคยแสงดความเป็นห่วงว่า ส.ว.250 คนจะกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ของความขัดแย้ง วันนี้ก็ได้แต่หวังว่าผมจะคิดผิด เพราะเมื่อประชาชนตัดสินใจอย่างนี้ก็ต้องช่วยกันทำให้ไม่เกิดความขัดแย้ง แม้จะมีความห่วงใยเหมือนเดิมแต่ทุกคนต้องช่วยกันให้เดินต่อไปได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น