xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งชดใช้สมาชิกสหกรณ์คลองจั่น ฐานปล่อย"ศุภชัย"ทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 897/2557 ที่ นางศิริรัตน์ เฑียรบุญเลิศรัตน์ ยื่นฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทำละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีที่นางศิริรัตน์ เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด มีเงินฝากในบัญชีสหกรณ์รวม 13,141,955.86 บาท ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากกรณีที่ไม่อาจลาออกจากสมาชิกเพื่อถอนเงินค่าหุ้น และไม่อาจจะเบิกเงินฝากในสหกรณ์ได้ เนื่องจากมีประกาศสหกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.56 งดพิจารณาการลาออก โดยมีการแจ้ง นางศิริรัตน์ และสมาชิกอื่นๆว่า สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมการเงินได้ตามปกติ ที่ส่งผลให้สมาชิกไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ และมีประกาศสหกรณ์ วันที่ 6 พ.ย.56 ชะลอความช่วยเหลือสมาชิกตามความจำเป็นเดือดร้อน โดยสหกรณ์ฯ แจ้งเหตุผลเพียงว่า มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ร้องขอให้ศาลบังคับตามคำพิพากษาอายัดสิทธิเรียกร้องเงินในบัญชีสหกรณ์ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาผู้ถูกฟ้อง ชดใช้เงิน 13,141,955.86 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริง ประกอบข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้บริหารสหกรณ์ หรือ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์อย่างจริงจัง โดยปล่อยให้มีการกระทำอย่างยาวนานว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2543 แม้ภายหลัง กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ให้ผู้ตรวจการสหกรณ์ เข้าตรวจสอบในปี พ.ศ. 2546 แล้วพบว่า สหกรณ์ให้กู้กับบุคคลภายนอกโดยไม่ชอบเป็นจำนวนมาก แล้วให้สหกรณ์เรียกเงินคืนภายใน 60 วัน แต่สหกรณ์ไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับการให้กู้ไม่ชอบอย่างต่อเนื่อง ที่มีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2549 มีการให้กู้ไม่ชอบเป็นเงินสูงถึง 1,370.38 ล้านบาท แล้วตั้งแต่ปี 2551–2554 ยังคงมีการจ่ายเงินให้กับสมาชิกสมทบที่เคยเป็นกลุ่มบุคคลภายนอกกลุ่มเดิม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีหุ้นในสหกรณ์ และมีหลักประกันต่ำอีกมากกว่า 2.6 หมื่นล้าบาท โดยปี 2555 ยังจ่ายเงินทดรองให้กับ นายศุภชัย นำไปใช้ในกิจธุระส่วนตัวเพียงคนเดียว สูงถึง 3,398.34 ล้านบาท
การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่รีบดำเนินการ คงปล่อยให้มีการกระทำที่ไม่ชอบเกิดขึ้นต่อเนื่องกว่า10 ปี กระทั่งมีสื่อมวลชนได้นำเสนอพฤติกรรมทุจริตมิชอบในสหกรณ์ฯ อย่างแพร่หลาย แล้วกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงมีหนังสือถึง ผู้ถูกฟ้องที่ 1 เข้าตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินการของสหกรณ์ฯ จึงมีการสั่งปลดคณะ
กรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ แต่การกระทำนั้น ผู้ถูกฟ้องไม่ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดกวดขันตามอำนาจหน้าที่ว่าด้วยสหกรณ์ ทั้งที่ผู้สอบบัญชีรายงานการตรวจพบการกระทำที่ไม่ชอบเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2543 แต่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กลับให้รางวัลประกาศเกียรติคุณ นายศุภชัย ผู้บริหารสหกรณ์ ให้เป็นนักสหกรณ์แห่งชาติ และจัดอันดับสหกรณ์ให้เป็นสหกรณ์มาตรฐานในระดับดีเลิศ ประจำปี 2554 ซึ่งเป็นการให้รางวัลที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง และไม่ชอบตามข้อกำหนดในประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงวันที่ 23 มิ.ย. 53 โดยส่งผลให้เกิดความเชื่อถือแล้วปี 2556 นายศุภชัยได้รับเลือกมาเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 29 อีกครั้ง กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ละเลยต่อหน้าที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งหากได้มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ช่วงแรกที่ตรวจพบการทุจริตความเสียหายที่ร้ายแรงย่อมไม่เกิดกับสหกรณ์ฯ รวมทั้งสมาชิกด้วย
ส่วนที่จะต้องชดใช้นางศิริรัตน์ จำนวนเท่าใดนั้น ศาลเห็นว่า ความเสียหายเกิดจาก 2 ส่วน คือ การกระทำทุจริตของคณะกรรมการสหกรณ์ฯ กับการละเลยต่อหน้าที่ ของผู้ถูกฟ้องที่ 1 โดยในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ขณะที่จำนวนเงินค่าหุ้น และเงินฝากที่นางศิริรัตน์ ไม่สามารถเบิกถอนออกมาได้หมด ยังไม่ถือว่าเป็นความเสียหายแท้จริง เพราะสมาชิกสหกรณ์จำนวนมาก ก็ได้ยื่นฟ้องคดีกับสหกรณ์ฯไว้ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้เงิน กระทั่งศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯแล้ว จึงทำให้ผู้ฟ้องในฐานะเจ้าหนี้ยังมีโอกาสได้เงินคืน
ดังนั้นศาล จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายนี้ได้ คงมีแต่ความเสียหายที่ นางศิริรัตน์ขาดไร้ประโยชน์จากดอกผลเงินฝากและเงินค่าหุ้นที่ไม่สามารถถอนไปใช้ได้เท่านั้น ซึ่งส่วนนี้เห็นควรกำหนดให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชำระค่าสินไหมทดแทน นางศิริรัตน์ จำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อย 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับจากวันคดีถึงที่สุด
ส่วนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในการร่วมชดใช้ เพราะตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิด ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ถือเป็นเพียงผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนงานที่ได้รับมอบหมายในการสอบบัญชี ไม่ใช่มีอำนาจหน้าที่นายทะเบียนสหกรณ์โดยตรง ให้ยกฟ้อง
ขณะที่ในคดีอื่นๆ ที่มีการฟ้องคดีลักษณะเดียวกัน ศาลปกครองกลาง ก็มีคำพิพากษาเห็นควรกำหนดกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนกับ นางภัทราพร เกตุวัฒนเวสน์ จำนวน 20,000 บาท นางณัฐธยาน์ เกตุวัฒนเวสน์ 50,000 บาท นายชาญชัย จรูญเกียรติกำจร 20,000 บาท , นายชาญกิจ จรูญเกียรติกำจร 25,000 บาท , นางซิวคิ้ม จรูญเกียรติกำจร 100,000 บาท , น.ส.สุวรรณา จรูญกียรติกำจร 1,000 บาท น.ส.สุกัญญา จรูญเกียรติกำจร 1,000 บาท น.ส.เฉลิมพร โรจน์รัตน์ศิริกุล 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อย7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับจากวันคดีถึงที่สุด
ดังนั้นรวมทั้งหมดที่มีสมาชิกสหกรณ์ฯได้รับความเสียหาย ศาลฯ สั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชำระค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งสิ้น 377,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม คดียังไม่สิ้นสุดตามกฎหมาย เนื่องจากฝ่ายกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ได้อีกภายในวัน 30 วัน นับจากที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา
กำลังโหลดความคิดเห็น