xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ว่าด้วย“วันหยุดยาว”ของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ใคร “ได้-เสีย-ผลประโยชน์"เทศกาลหยุดฟันหลอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อเสนอเป็นข่าวท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศจาก “นายยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะอัดแผนท่องเที่ยวปลายปี 2559 ดึงรายได้ทดแทนความเสียหายเหตุระเบิดใน 7จังหวัดภาคใต้ โดยเล็ง จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอวันหยุดยาว 4 วัน ในช่วงวันที่ 24-27 กันยายน 2559

ข่าวนี้ สร้างกระแสฮือฮา ในสังคมออนไลน์ไม่น้อย ปากต่อปากของคนภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจกว่า 5 แสนคน ยังไม่รวมคนจากเอกชน (ที่ไม่รู้จะได้หยุดด้วยหรือเปล่า) เตรียมจองคิวหาสถานที่ท่องเที่ยวกันอีกแล้ว แถมผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางรายก็อาจจะกำลังกำหนดแคมเปญ ไว้เผื่อรัฐบาลจะหยุดให้จริง ๆ

ไม่ทันข้ามวัน “นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า ได้เตรียมหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความคิดเห็นเรื่องวันหยุดพิเศษกระตุ้นการท่องเที่ยวในวันที่ 24-27 กันยายนนี้ จริง!! “แต่มองว่ายังไม่มีความจำเป็นมากนัก”

ขณะเดียวกันสถานการณ์การท่องเที่ยว เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถึงแม้ว่ามาตรการวันหยุดจะเปิดโอกาสให้เพียงข้าราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์ แต่ในส่วนของภาคแรงงานเอกชน ก็จะต้องมีข้อเรียกร้องต่าง ๆ เช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ควรจะมองเรื่องการเตรียมความพร้อม เช่น มาตรการดูแลและเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมากกว่า

วันต่อมา กระแสวันหยุดยาวยังไม่จาง คนยังถามหากันว่า รัฐบาลจะหยุดให้จริงหรือเปล่า

ทำเอา“พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาแถลงข่าวว่า ตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะกำหนดให้มีวันหยุดยาว ระหว่างวันที่ 24 - 27 ก.ย.นี้ ขอยืนยันว่า “จะไม่มีวันหยุดยาวอย่างที่เป็นข่าว”และขณะนี้ยังไม่มีเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมครม. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชารติ (คสช.) เคยระบุไว้ว่า ในหนึ่งปีจะต้องมีการควบคุมวันหยุดให้อยู่ในจำนวนที่สมควร ซึ่งจะหยุดโดยคำนึงถึงการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจด้านอื่นๆ มาประกอบกัน

แม้กระทั่ง เพจเฟซบุ๊ค “ศูนย์บริการข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี” ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า “ ขอแจ้งข่าวสารจากการประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันนี้ 17 สิงหาคม 2559 ว่า ที่มีกระแสข่าวลือว่าจะประกาศให้มีวันหยุดในวันที่ 26 กับ 27 กันยายน 2559 นั้น ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ไม่มีเรื่องนี้เสนอเข้าครม.แต่อย่างใดค่ะ จึงแจ้งมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน”

ยืนยันอีกครั้ง “จันทร์ที่ 26 และอังคารที่ 27 กันยายน ที่จะถึงนี้ ไม่ใช่วันหยุด ทำงานกันปกติ”

ทีนี้มาดูว่า ทำไม ททท.ถึง เสนอให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุด “นายยุทธศักดิ์ สุภสร” ททท. ออกมาย้ำถึงกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างรายได้ทดแทนมูลค่า ที่อาจเสียไปประมาณ 5 พัน-1 หมื่นล้านบาท จากเหตุระเบิด ใน 7 จังหวัดในภาคใต้ ว่า ททท. มีกลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว คือ การเร่งประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ที่วางแผนดำเนินการไว้แล้วในช่วงปลายปี อาทิ กิจกรรม "ไทยเที่ยวไทย", การรณรงค์ "รุ่นใหญ่เที่ยวไทย", เทศกาลประเพณีเนื่องในวันออกพรรษา

จึงมีแผนที่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง โดยขอให้วันอังคารที่ 27 กันยายน 2559 ซึ่งเป็น”วันท่องเที่ยวโลก” ให้เป็นวันหยุดราชการ และขอให้วันจันทร์ที่ 26 กันยายน เป็นวันหยุดพิเศษ ดังนั้นจะมีวันหยุดต่อเนื่องถึง 4 วัน กิจกรรมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ร่วมกิจกรรม "วิ่งเล่น เต้น กิน หัวหิน เฟสติวัล" อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำหนดจัดงานในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน โดยจะมีกิจกรรมที่มีความหลากหลาย และจากกิจกรรมที่ ททท. ดำเนินการเพื่อกระตุ้นตลาดเหล่านี้

“เชื่อว่าจะสามารถทดแทนรายได้ที่อาจสูญเสียไปและยังคงสามารถนำรายได้เข้าประเทศ 2.41 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายในปี 2559 ที่ ททท. ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน”
 
มีการยกตัวอย่างวันหยุดยาว 3 วัน ในช่วงหยุดวันแม่แห่งชาติที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมตลาดคนไทยยังท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 1.96 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้ประมาณ 8.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.46 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 3.08 แสนคน เพิ่มร้อยละ 6 สร้างรายได้ 1.48 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6

ทีนี้มาดู “ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว”ที่ต้องบอกว่าเป็นเส้นเลือดของประเทศ ในขณะนี้ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว แสดงความหวังว่า หากรัฐบาลอนุมัติให้เพิ่มวันหยุดยาวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24-27 กันยายนนี้ ให้เป็น “วันท่องเที่ยวโลก” และ “วันหยุดราชการพิเศษ” เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ที่กำลังประสบปัญหาชะงักงัน นักท่องเที่ยวขอเลื่อนกำหนดการเดินทางและยกเลิกห้องพักไปแล้วกว่า 10% เพราะเกิดความวิตกกังวล จากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเร่งปรับแผน หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าการประกาศวันหยุดยาวจะสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวเพิ่มได้กว่า 10% รวมทั้งเห็นว่ารัฐบาลต้องเข้มงวดด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ดูแลนักท่องเที่ยว รวมถึงประกาศให้ภาคราชการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา เน้นในพื้นที่ 7 จังหวัด จะเป็นแรงหนุนเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้

นอกจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชน ก็เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการนำของดีขึ้นชื่อมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะช่วงปลายปี ยังมีเทศกาลวันหยุดยาวของจีน เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากขึ้น เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 1 ล้านคน มาอยู่ที่ 33 ล้านคน
 
ย้อนกลับไปดูวันหยุดยาวที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ เคยประกาศไว้ ประกอบด้วย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 เป็นวันหยุดเพิ่มเติม 4 วันเพื่อให้ช่วง “วันฉัตรมงคล” มีวันหยุดยาว ตั้งแต่วันที่ 5-8 พฤษภาคม 2559 มีวันหยุดช่วง “วันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา” อนุมัติให้เป็นวันหยุดยาว 5 วัน (16-20 กรกฎาคม 2559)

ตอนนั้น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” หวังไว้ว่า ประชาชนที่ท่องเที่ยว จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของรัฐบาล ให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่นชุมชนจนถึงระดับประเทศ ตอนนั้น รัฐบาลมีแพกเก็จนำใบกำกับภาษีจากการซื้อแพกเกจทัวร์ หรือค่าที่พักในโรงแรมภายในประเทศตลอดปี 59 ไปหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท

หากย้อนกลับไปดูหลายรัฐบาลประกาศให้วันทำงานที่อยู่ระหว่างวันหยุด หรือ “วันฟันหลอ” เป็นวันหยุดต่อเนื่องเพิ่มไปจากวันหยุดตามเทศกาลหรือวันหยุดราชการต่างๆ โดยหลักปฏิบัติดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ครั้ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อเป็นของขวัญให้แก่ประชาชน ข้าราชการ ที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งปี หลัง ๆ ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง บางรัฐบาลในอดีตให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้นมาเฉย ๆ จนถูกมองว่า มีนัยยะเป็นประโยชน์ธุรกิจเพื่อตัวเองก็มี

ในอดีตจะกำหนด “วันหยุดของธนาคาร” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการหยุด “ฟันหลอ”ที่อาจจะส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการธุรกิจ เช่น ภาคการผลิตที่ไม่สามารถหยุดทำงานได้ก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานเท่ากับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หรือบางหน่วยการผลิตอาจจะถึงขั้นขาดแรงงานที่จำเป็นต้องทำงานไป บางครั้งวันหยุดยาว ๆแทนที่คนไทยจะเที่ยวไทยกลายไปว่า คนไทยนิยมไปต่างประเทศมากกว่า เพราะบางประเทศไม่ต้องขอวีซ่า ย่อมหมายถึงเงินจำนวนมากต้องไหลออกไปยังต่างประเทศ

แม้จะวันที่ 26-27 กันยายนนี้ จะไม่มีการประกาศเป็นวันหยุด และไม่มีการนำเข้าที่ประชุม ครม. ก็เชื่อว่า ครม.หลายท่าน คงจะคิดว่า หากไปเพิ่มวันหยุดขึ้นมาอีก จะเป็นการไปเพาะนิสัยให้คนไทยขาดวินัย, ความอดทน และความรับผิดชอบต่อการทำงาน เพราะเท่าที่ผ่านมาทุกเทศกาลที่มีการประกาศวันหยุดพิเศษเพิ่มให้ของทุกปีแล้ว

 โดยเฉพาะแค่ยุครัฐบาลชุดนี้ มีวันหยุดราชการ และหยุดวันฟันหลอ อ(รวมช่วงเสาร์อาทิตย์ ) ที่รัฐบาลประกาศ รวมแล้ว 44 วัน จาก 365วัน และปี 2560 อาจจะมีวันหยุดอีกไม่ต่ำกว่า 40 วัน จากวันหยุดปกติเพียง 24 วันต่อปีตาม“วันหยุดของธนาคาร”.


กำลังโหลดความคิดเห็น