xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

CONSPIRACY BOMB ทฤษฎีสมคบคิดกับสิ่งที่ “พล.อ.ประวิตร” ต้องรับผิดชอบ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทำไมต้อง 12 สิงหาคม?
ทำไมต้องหลังการทำ “ประชามติ”?
ใครเป็น “คนทำ”?
และที่สำคัญที่สุดคือ ใครได้ “ประโยชน์” จากเหตุการณ์ครั้งนี้มากที่สุด?

เหล่านี้คือคำถามสำคัญหลังเกิดเหตุที่ต้องใช้คำว่า “วินาศกรรม” ใน 7 จังหวัดภาคใต้ของไทยประกอบด้วย “ประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรังและกระบี่”

แน่นอน การเกิดเหตุวินาศกรรมที่มีขอบข่ายกว้างขวางเยี่ยงนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันง่ายๆ เพราะต้องผ่านการวางแผนอย่างเป็นระบบ ต้องเพียบพร้อมไปด้วยกำลังคน กำลังทรัพย์ ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องมีการทำงานในลักษณะของ “องค์กร” หรือมี “แนวร่วม” ที่มีเป้าหมายสอดคล้องกัน และเป้าหมายที่ว่านั้นก็ย่อมหนีไม่พ้นมี “การเมืองทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก” เข้ามาเกี่ยวข้อง

นี่คือ CONSPIRACY BOMB ที่มุ่งหวังทำร้ายประเทศไทยอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ งานนี้หน่วยงานทางด้านความมั่นคงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบจากการที่ปล่อยให้เกิดวินาศกรรมถึง 7 จังหวัดพร้อมๆ กัน

7 จุดบึ้ม 7 จังหวัดใต้...เป้าหมายก่อการ

ไอ้ชั่ว...
เลว...
ระยำ...

มันไม่สมควรที่จะเกิดบนผืนแผ่นดินแม่แห่งนี้...

สิ้นเสียงระเบิด ประเทศไทยที่ทำท่าว่าจะสงบหลังผลประชามติออกมาก็เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านอีกครั้ง พร้อมกับเสียงก่นด่าถึง “ผู้บงการ” ที่อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมครั้งนี้

แต่ให้ตายเถอะ ไม่ว่าคุณจะสาปแช่งหรือประณามการก่อเหตุครั้งนี้อย่างไร ก็มิได้สะเทือนหัวจิตหัวใจของผู้ลงมือกระทำและผู้บงการอยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน เพราะถ้าพวกเขามีความเป็นมนุษย์ในหัวใจก็คงจะไม่ก่อเหตุวินาศกรรมขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะวิเคราะห์ลงไปถึงกลุ่มผู้บงการและมูลเหตุในการก่อวินาศกรรม คงต้องไปตรวจสอบประจักษ์พยาน ตลอดรวมถึงหลักฐานที่พบในสถานที่เกิดเหตุเสียก่อน เนื่องเพราะมีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน

กล่าวสำหรับแก๊งป่วนเมืองที่ลงมือก่อวินาศกรรมสร้างสถานการณ์กระจายไปหลายพื้นที่โดยเน้นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทั้งวางระเบิดแสวงเครื่องและลอบวางเพลิงทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากใน 7 จังหวัดภาคใต้นั้น เริ่มต้นด้วยการวางระเบิดที่ตลาดยามเย็นเซ็นเตอร์พอยต์หรือตลาดคนเดิน ถนนรื่นรมย์ ต.ทับเที่ยงอ.เมืองตรัง เมื่อบ่ายสามเศษวันที่ 11 ส.ค.ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ศพ บาดเจ็บอีก 7 คน และรถจักรยานยนต์เสียหายอีกหลายคัน

จากนั้นในเย็นวันเดียวกันได้พบระเบิดเพลิงจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ 2 แห่งในย่านหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตคือที่ร้านขายเสื้อผ้าหน้าโรงแรมพาราไดซ์ ถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปี ต.ป่าตอง และภายในร้านขายเสื้อผ้า ตลาดไชน่าทาวน์ ถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปี เดชะบุญที่ชุดเก็บกู้ระเบิดหรืออีโอดีเก็บกู้ไว้ได้

ทว่า ระเบิดสองจุดแรกก็ยังมิได้เป็นที่น่าผิดสังเกตเท่าใดนักว่าจะเป็นการวางแผนก่อวินาศกรรมในอีกหลายพื้นที่ กระทั่งตกกลางคืนของวันที่ 11 ส.ค.ช่วงเวลาสี่ทุ่มเศษ ได้เกิดเหตุหน้าร้านบาร์เบียร์จอห์นนี่ 56 ผับแอนด์เรสเตอรองต์ ถนนหลังโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหิน เขตเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซ้ำร้ายระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบจุดระเบิดที่จุดแรกปรากฏว่าเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นอีกแห่งห่างจากจุดแรกประมาณ 80 เมตร บริเวณหน้าโรงแรม “เรนทรีสปา” ซึ่งแรงระเบิดทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงมีผู้เสียชีวิต 1 คนคือ นางสาวสกนธัช ดีสุคนธ์
เหตุระเบิดที่หัวหิน
ไม่เพียงเท่านั้นเพราะช่วงเช้าของวันที่ 12 ส.ค. หลังนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม นายอำเภอหัวหินนำข้าราชการพร้อมประชาชนกว่า 500 คนร่วมกันทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์กว่า 100 รูปบริเวณสามแยกหอนาฬิกาหัวหิน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุเมื่อคืนที่ผ่านมาประมาณ 50 เมตร ก็ได้เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นอีก 2 ลูกและส่งผลทำให้ น.ส.ณัชชา สุวรรณพรมเสียชีวิต

และตามต่อด้วยการพบวัตถุต้องสงสัย ซึ่งในเวลาต่อมาพบว่าเป็นระเบิดปลอมถูกวางไว้อีก 3 ลูกที่หน้าโรงเรียนหัวหินวิทยาคม หน้าสถานีรถไฟหัวหินและที่หน้าธนาคารเกียรตินาคิน สาขาหัวหิน

อย่างไรก็ตาม เหตุวินาศกรรมไม่ได้มีแค่ที่หัวหินและภูเก็ตเท่านั้น หากแต่เมื่อประมวลสถานการณ์โดยภาพรวมพบว่า การก่อวินาศกรรมได้ขยายวงออกไปในอีกหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงวันที่ 11 ส.ค.ต่อเนื่องวันที่ 12 ส.ค. จุดแรกคือที่ภูเก็ต โดยเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ตู้ควบคุมการจราจรซอยบางลาและบริเวณสวนสาธารณะโลมา จุดที่สองเกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 แห่ง ลูกแรกเกิดที่ถนนริมเขื่อนน้ำตาปีบริเวณหน้าสถานี ตำรวจน้ำสุราษฎร์ธานี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจวนผู้ว่าราชการจังหวัด และมีผู้เสียชีวิต 1 รายคือนางจงกลดี ทุ่มกระจ่าง ลูกที่สองเกิดที่ริมถนนหน้า สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ห่างจากจุดแรกประมาณ 500 เมตร โดยระเบิดที่ใช้เป็นแบบแสวงเครื่องจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุงฮีโร่เช่นเดียวกัน

จุดที่สามเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคนร้ายใช้ระเบิดเพลิงจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือที่บริเวณห้างเทสโก้ โลตัส สาขานครศรีธรรมราช จุดที่สี่เกิดที่จังหวัดกระบี่ เป็นเหตุเพลิงไหม้ร้านค้าขายของที่ระลึกย่านแหล่งท่องเที่ยวที่หมู่ 2 ต.อ่าวนาง และลุกลามขยายวงไหม้ทั้งหมด 5 ห้องมูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท จุดที่ห้าที่จังหวัดตรัง เป็นเหตุวางระเบิดตลาดยามเย็นเซ็นเตอร์พอยต์หรือตลาดคนเดิน ถ.รื่นรมย์ อ.เมืองตรัง รวมทั้งเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าลีมาร์ท ซุปเปอร์ค้าส่ง ซึ่งตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟตรัง และจุดที่หกที่จังหวัดพังงา เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดนัดย่านแหล่งท่องเที่ยวเขาหลัก บ้านบางเนียง หมู่ 5 ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่ว

นั่นคือการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาล “วันแม่” วันที่คนไทยกำลังมีความสุขทั้งประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บ 32 คน
สุราษฎร์ธานี
การวางระเบิดที่ตลาดยามเย็นเซ็นเตอร์พอยต์หรือตลาดคนเดิน ถนนรื่นรมย์ ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ “วิธีประกอบระเบิด” เพราะทำให้เห็นร่องรอยของ “กลุ่มผู้บงการ” ได้เป็นอย่างดี โดยเหตุเพลิงไหม้ที่สุราษฎร์ธานี ภูเก็ตและพังงา ใช้ “ระเบิดเพลิงแสวงเครื่อง” รูปแบบเดียวกัน กล่าวคือคนร้ายใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ “ซัมซุง” รุ่น “ฮีโร่” เป็นอุปกรณ์ในการตั้งเวลาและจุดชนวน โดยมีขดลวดความร้อนต่อกับวงจรตั้งเวลาและใช้แอลกอฮอล์เหลวเป็นตัวจุดไฟ เมื่อเกิดประกายไฟขึ้นเพลิงจะลุกติดไปตามแอลกอฮอล์เหลวที่เป็นตัวเชื้อเพลิงอย่างรวดเร็ว และเป็นไปอย่างรุนแรงจนสามารถทำหลายหลักฐานต่างๆ ในที่เกิดเหตุได้ด้วย

โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงานในบางจุดและเจ้าหน้าที่พบได้ทัน จึงทำให้ทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งระเบิดลักษณะนี้พบเจอบ่อยในเหตุความรุนแรงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ส่วนระเบิดชนิดที่ 2 เป็นระเบิดเพลิงแสวงเครื่องที่มีเป้าหมายในการสร้างอันตรายถึงแก่ชีวิต ลักษณะการทำงานจะคล้ายกับระเบิดเพลิงที่สุราษฎร์ธานี ภูเก็ตและพังงาเพียงแต่เปลี่ยนจากแอลกอฮอล์เป็น “บอล-แบริ่ง” เป็นสะเก็ดระเบิดแทน และระเบิดแบบนี้ก็เคยถูกใช้มาแล้วในช่วงการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553

แต่ที่สำคัญที่สุดและจำต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ โทรศัพท์และซิมการ์ดที่ใช้ก่อเหตุนั้นมีจำหน่ายเฉพาะใน “ประเทศมาเลเซีย” เท่านั้น

“รับจ้างบึ้ม” ชำแหละไอ้โม่งผู้สั่งการ

เมื่อปรากฏหลักฐานเช่นนี้ ก็มาถึงประเด็นสำคัญก็คือ ใครเป็นคนทำ และใครได้ประโยชน์ จากการก่อวินาศกรรมที่มีรัศมีการทำงานกว้างที่สุดนับตั้งแต่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยคือเกิดถึง 7 จังหวัดด้วย โดยเฉพาะประเด็นหลังคือ ใครได้ประโยชน์จากการก่อวินาศกรรม ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่จำต้องขบคิดให้แตก
คนร้ายใช้ระเบิดเพลิงจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือที่บริเวณห้างเทสโก้ โลตัส สาขานครศรีธรรมราช
เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดนัดย่านแหล่งท่องเที่ยวเขาหลัก บ้านบางเนียง หมู่ 5 ตำบลคึกคัก จังหวัดพังงา
กลุ่มการเมือง ใช่หรือไม่

กลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ใช่หรือไม่

กลุ่มก่อการร้ายระดับโลกอย่างกลุ่มไอเอส กลุ่มตอลิบันหรือกลุ่มอัลกออิดะห์ ใช่หรือไม่

หรือกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกจับมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

หรือกลุ่มก่อแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ “รับจ้าง” กลุ่มการเมืองลงมือก่อวินาศกรรม

หรือจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย หากแต่เป็นฝีมือของ “ฝรั่งตาน้ำข้าว” ประเทศมหาอำนาจจากซีกโลกตะวันตก ที่ไม่ชอบขี้หน้ารัฐบาลทหารได้ จึงให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุ โดยความร่วมมือกับกลุ่มการเมืองผู้สูญเสียอำนาจเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นมาแล้วหลายครั้งในหลายประเทศเมื่อพวกเขาไม่พอใจรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ กับประเทศตุรกีเมื่อไม่นานมานี้

หรือหวยจะออกมาเป็น “ทหาร” ทำเองเพื่อสร้างสถานการณ์

นั่นเป็นสมมติฐานที่สามารถเป็นไปได้ทั้งสิ้นในช่วงที่บ้านเมืองแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย

กระนั้นก็ดี เมื่อพุ่งเป้าไปที่ประเด็นใครได้ประโยชน์จากการก่อวินาศกรรมมากที่สุด ก็ทำให้เห็น “ป่าทั้งป่า” อันเป็นคำตอบว่า “ใครก่อวินาศกรรม” ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

กรณีทหารทำเอง เป็นประเด็นแรกที่สามารถตัดทิ้งไปได้ในทันทีโดยไม่ต้องขบคิด เพราะไม่มีเหตุผลที่ทหารจำต้องทำ เนื่องจาก ณ เวลานี้ ความศรัทธาของประชาชนที่มอบให้ผ่านการทำประชามติได้ทำให้อำนาจของทหารก้าวเข้าสู่จุดสูงสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่กลุ่มไอเอส กลุ่มตอลิบันหรือกลุ่มอัลกออิดะห์นั้น เมื่อประมวลสถานการณ์ วิธีการประกอบระเบิด ทำให้สามารถสรุปได้เช่นกันว่า ไม่ใช่ผู้บงการอย่างแน่นอน เพราะถ้ากลุ่มดังกล่าวข้างต้นทำจริง ก็จะมีการแสดงตัวออกมาชัดเจนว่าเป็นฝีมือของพวกเขา

ถัดมาก็คือเป็นการลงมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งต้องการแสดงพลัง ต้องการแสดงแสนยานุภาพให้เห็นว่า มีขีดความสามารถในการก่อวินาศกรรมได้ในหลายจังหวัด ไม่ใช่แค่เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และบางอำเภอในจังหวัดสงขลาเท่านั้น

ประเด็นนี้ก็เป็นสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงจากหลักฐานคือระเบิดที่พบ เนื่องจากเป็นรูปแบบเดียวกับที่ใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แถมโทรศัพท์ที่ใช้ก่อเหตุคือซัมซุงฮีโร่ก็เป็นโทรศัพท์รุ่นที่มีจำหน่ายเฉพาะในมาเลเซียเท่านั้น

ขณะเดียวกันผลของ “ดีเอ็นเอ” ที่ตรวจพบบนชิ้นส่วนระเบิดที่หาดป่าตองจังหวัดภูเก็ตก็ตรงกับ “นายอะหามะ เลงหะ” ชาว ต.เกาะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งก่อเหตุในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาสมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 ซึ่งศาลทหาร มทบ.41 ก็ได้อนุมัติหมายจับตามที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนคดีระเบิดและเหตุวางเพลิงใน 7 จังหวัดภาคใต้

แต่คำถามก็คือ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดน ไม่ว่าจะเป็นอาร์เคเคหรือบีอาร์เอ็นจะได้จากการที่สุ่มเสี่ยงมาก่อวินาศกรรมใน 7 จังหวัด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก็แทบมองไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์โพดผลอะไรขึ้นมา เพราะถึงอย่างไรมวลชนในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ก็มิได้ให้การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนเหมือน 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่แล้ว

จะบอกว่าทำโชว์เพื่อเรียกเงินสนับสนุนจากต่างประเทศก็ไม่น่าจะใช้
ไฟไหม้ร้านขายสินค้าที่ระลึกย่านหาดอ่าวนาง จ.กระบี่
เหตุระเบิดขึ้นที่ตู้ควบคุมการจราจร จ.ภูเก็ต
ทว่า มิได้หมายความว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนจะมิได้เป็นผู้ลงมือกระทำ เพียงแต่เชื่อเหลือเกินว่า อาจไม่ได้ขบคิดและลงมือทำตามลำพังแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น

กลุ่มถัดมาคือกลุ่มการเมืองผู้สูญเสียอำนาจ กลุ่มนี้มีความเป็นไปได้สูงที่อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุในพื้นที่หัวหิน ยิ่งเมื่อเกิดเหตุในช่วงวันแม่ 12 สิงหาคม ยิ่งเมื่อเกิดเหตุหลังการทำประชามติด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้มีความน่าจะเป็นสูงว่ามีเจตนาที่จะก่อความวุ่นวายขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทหารกำลังได้รับความนิยมสูงสุด

กรณีที่เกิดขึ้นที่หัวหินแสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่า ผู้บงการต้องการสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ และก็เป็นที่รับรู้กันว่า มวลชนของกลุ่มการเมืองจำนวนไม่น้อยเป็น “พวกล้มเจ้า” โดยเฉพาะ “พวกซ้ายอกหัก” ที่เป็นมันสมองในการขับเคลื่อนการเมืองให้กับ “นายใหญ่”

ขณะเดียวกันผลของการทำประชามติซึ่งทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ก็น่าจะเป็นชนวนเหตุสำคัญ เพราะถ้าขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เกมการต่อรองทางการเมืองก็จะยิ่งลดน้อยลงไปตามลำดับ ไหนจะคดีความที่กำลังงวดเข้ามาทุกทีและมองไม่เห็นทางรอดว่า จะรอดคุกรอดตะรางได้อย่างไร

และที่น่าขบคิดที่สุดก็คือ ทำไมเหตุวินาศกรรมถึงเกิดเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และเกิดในจังหวัดที่มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเท่านั้น ทำไมถึงไม่เกิดในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือภาคอื่นๆ ของประเทศ

รวมทั้งมีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะไปเชื่อมโยงกับประเทศมหาอำนาจเพราะเป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า ชอบแทรกแซงกิจการภายในเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอยู่เสมอดังเช่นที่เกิดในประเทศตุรกี ซึ่งความผิดสังเกตประการสำคัญคือการที่เจ้าหน้าทูตของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งเดินทางลงไปในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก่อนการลงประชามติ ทั้งๆ ที่ถ้าจะว่าไปแล้วไม่ว่ามองมุมไหนก็ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องลงไปในพื้นที่ภาคใต้แต่ประการใด

เป็น SIGNATURE เดิมๆ ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมจากฝีมือของชาวอุยกูร์ ซึ่งข้อมูลหลายสายรายงานงานตรงกันว่า เป็นความร่วมมือของกลุ่มการเมืองในประเทศไทยกับหน่วยสืบราชการลับของประเทศมหาอำนาจ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้รับผิดชอบความมั่นคงของประเทศ
“ขอให้คิดเอาว่า มันเกิดเหตุอะไรในช่วงนี้ ตั้งแต่ก่อนทำประชามติ จนหลังทำประชามติ ทำไมเกิดในช่วงที่บ้านเมืองกำลังดีขึ้น กำลังเป็นหลักเป็นฐานมากขึ้น เศรษฐกิจกำลังดีขึ้น การท่องเที่ยวกำลังดีขึ้น ต้องถามว่า ทำไม ใครที่ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย”

นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งแต่ละคำ แต่ละวลี แต่ละประโยคล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญทั้งสิ้น ซึ่งสอดรับกับสิ่งที่ “สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล “สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” ออกมาตั้งประเด็นว่า ความน่าจะเป็นของการก่อวินาศกรรมมี 2 กรณีคือ 1. การกระทำของคนในพื้นที่ 2. คนนอกพื้นที่ แต่สร้างระเบิดให้เหมือนกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เฉกเช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมมั่นใจว่าไม่ใช่การขยายพื้นที่ของผู้ก่อเหตุจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่อาจจะมีคนมาจากทาง 3 จังหวัดเป็นคนเอามาทำ แต่ทำเรื่องอะไรผมไม่รู้”

ที่สำคัญคือมีรายงานจากหน่วยงานทางด้านความมั่นคงระบุด้วยว่า มีกลุ่มวัยรุ่นแนวร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าไปพบนักการเมืองท้องถิ่นภายในบ้านพัก ทั้งที่ จ.ปัตตานีและยะลา

ขณะที่ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(ศรภ.) ก็ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ผู้ก่อเหตุครั้งนี้มีเป้าหมาย 2 อย่างคือ ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นฝีมือของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกันก็พยายามทำให้รู้ว่าเป็นรูปแบบการต่อสู้ทางการเมือง เช่น การเลือกจังหวัดที่มีคะแนนการรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเกิน 80% รวมถึงการออกมาแสดงความดีใจของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเดิมผ่านโซเชียลมีเดียหลายคน...”

ด้วยเหตุดังกล่าว คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า เหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นนั้นได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับ “สถาบันหลักของชาติ” อย่างมีนัยสำคัญชนิดที่ไม่อาจมองข้าม และ คสช.ในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์จำต้องทบทวนแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่ได้แล้ว
โฉม 3 ผู้ต้องสงสัยร่วมกันก่อเหตุวางระเบิดในย่านบาร์เบียร์ และบริเวณหอนาฬิกาหัวหิน
ทฤษฎีสมคบคิดกับสิ่งที่ “พล.อ.ประวิตร” ต้องรับผิดชอบ

เมื่อประมวลความน่าจะเป็นแล้ว ก็มาถึงคำถามสำคัญว่า ใครควรจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ กระทรวงไหน หน่วยงานใด หรือรัฐมนตรีคนไหน และจำต้องมีแสดงความรับผิดชอบบ้างหรือไม่ หรือจะปล่อยให้เลยตามเลย

หลังเหตุการณ์คลี่คลาย “สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล “สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” ออกมายอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของหน่วยข่าวและจำต้องปรับปรุงการทำงาน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้แก้ไขและปรับปรุงการทำงานแล้ว

นั่นหมายความว่า สำนักข่าวกรองแห่งชาติกำลังมีปัญหา หน่วยข่าวกำลังมีปัญหา

แต่ถ้าจะว่าไปแล้วก็มิอาจปฏิเสธความจริงได้ว่าหน่วยงานทางด้านความมั่นคงกำลังมีปัญหา เพราะการปล่อยให้เกิดเหตุวินาศกรรมได้ถึง 7 จังหวัด และที่สำคัญที่สุดก็คือเกิดในพื้นที่อำเภอหัวหิน ซึ่งมีความอ่อนไหวมากที่สุด ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ทำไมหน่วยงานทางด้านความมั่นคงถึงรู้ระแคะระคายมาก่อนล่วงหน้าบ้าง ยิ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัดก็ย่อมต้องหมายความว่า ต้องมีการเตรียมการมาเป็นเวลาพอสมควร และต้องใช้กำลังคนในการทำงานเป็นจำนวนไม่น้อย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานทางด้านความมั่นคงจะตอบคำถามนี้อย่างไร และจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบกับเหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ เพราะการกำกับดูแลหน่วยงานทางด้านความมั่นคงมิได้หมายความเพียงแค่การดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายเท่านั้น หากแต่จะต้องป้องกันมิให้เกิด “ความไม่มั่นคง” หรือ “ความเสียหาย” แก่ประเทศชาติในทุกทาง ใช่หรือไม่

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ ในห้วงเวลาแบบนี้ เหตุการณ์นั้นก็คือกรณีระเบิดที่บริเวณศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังกิจกรรม Bike for Mom เพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ทั้งสองเหตุการณ์ถือเป็นการก่อวินาศกรรมภายใต้ทฤษฎีสมคบคิดที่จำต้องมีคนรับผิดชอบ โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่เกิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่จับมือใครดมไม่ได้ และไม่สามารถสาวถึงไอ้โม่งที่สั่งการอยู่เบื้องหลัง....




กำลังโหลดความคิดเห็น