xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลุงตู่ GO!! LEVEL สูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านฉลุยไปแบบม้วนเดียวจบไม่ได้เหนือความคาดหมาย

กับผลการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่า ผู้มาใช้สิทธิ “เสียงส่วนมาก” เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ และทีมงานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเห็นชอบในส่วนของคำถามพ่วงที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ล่าสุดทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตัวเลขก็ไม่ได้ขยับจากผลอย่างไม่เป็นทางการไปมากนัก โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์ 29,740,677 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 59.40 จากผู้มีสิทธิออกเสียง 50,071,589 คน ในจำนวนนี้มีบัตรเสีย 936,209 ใบ

มีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 61.35 หรือ 16,820,402 เสียง ไม่เห็นชอบ ร้อยละ 38.65 หรือ 10,598,037 ล้านเสียง ส่วนคำถามพ่วงนั้นคะแนนเห็นชอบลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 58.07 หรือ 15,132,050 คน ไม่เห็นชอบร้อยละ 41.93 หรือ 10,926,648 คน

คงพูดได้ไม่ผิดนักว่าผลที่ออกมาเป็น “ชัยชนะ” ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ขณะเดียวกันก็เป็นความ “พ่ายแพ้” ของ “ฝ่ายการเมือง” ไม่เพียงเฉพาะพรรคเพื่อไทย กับทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ คนเสื้อแดง เท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ในซีกของ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ “นายหัว” ชวน หลีกภัย ที่แสดงจุดยืนประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปด้วย

จะสังเกตได้ว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง มุ่งไปที่ “ไทม์ไลน์” หรือ “โรดแมป” ก้าวต่อไปของ คสช. อย่างที่ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ได้จั่วหัวตั้งคำถามดักคอไว้ในเล่มก่อน ในท้องเรื่อง “ละครลิง 7 สิงหาฯ มหกรรมแหกตาประชาชี” ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าประชามติจะผ่านหรือไม่ก็ตาม ทุกสิ่งอย่างก็ยังอยู่ในกำมือของ คสช. และขออุปโลกน์ตัวเป็น “หมอเดา” ทำนายว่า ปี 2560 ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าผลออกเสียง 7 สิงหาคมจะออกมาหน้าไหน

อย่างไรก็ตามเมื่อผลประชามติ “เขียวอื๋อ” ไปทั้งประเทศ รัฐบาล คสช.ก็คงบิดพลิ้วออกนอกโรดแมปของตัวเองไม่ได้ เพราะมีกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 กำกับอยู่ ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร หากผ่านการทำประชามติ แต่อย่างน้อยๆก็ได้ยืดจากโรดแมปเดิมออกไปราว 30 วัน เมื่อต้องนำคำถามพ่วงไปบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อน บวกลบแล้วไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้ ประเทศไทยก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

และเมื่อมีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว ก็ต้องยึดกรอบเวลาตามมาตรา 267 ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ กรธ.ของ “ปู่มีชัย” จัดทำกฎหมายลูกรวม 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อเสร็จแล้ว ก็ต้องส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาราว 3 เดือน หากไม่มีปัญหาก็กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

ตีโปร่งกรอบเวลาแบบกว้างๆ ก็จะได้สูตร 2 + 8 + 3 + 5 หรือ 18 เดือน ซึ่งหากนับจากวันนี้ก็ไม่น่าจะมีการเลือกตั้งในภายในปี 2560 แต่ก็การคาดการณ์กันว่ากรอบเวลาการจัดทำกฎหมายลูก โดยเฉพาะ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอาจเสร็จก่อนกำหนด ก็สามารถส่งต่อให้ สนช.และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้เลย

ดังที่ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมาย คสช.ระบุไว้ว่า “กรธ.มีสติปัญญา รู้ว่าคนกำลังรออะไรอยู่ เอาเป็นว่ากฎหมายทั้ง 4 ฉบับ จะออกมาเร็ว จนคนรู้สึกเซอร์ไพรส์ มากชนิดตั้งตัวกันไม่ทัน ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมปการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายในปี 2560 แต่อาจเลื่อนไปจากเดิมที่วางไว้ในเดือนกรกฎาคม 2560 ไปประมาณ 2 เดือน”

ในขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ชี้แจง “โรดแมป” ที่จะเกิดขึ้นต่อไป ตามขั้นตอนที่ว่าไปข้างต้น และแสดงความเชื่อมั่นว่า หากสถานการณ์บ้านเมืองยังคงมีความสงบสุขดังเช่นปัจจุบันนี้ ช่วงปลายปี 2560 ก็จะมีการเลือกตั้ง

ทั้งประโยคที่ว่า “หากบ้านเมืองยังคงมีความสงบสุข...” ของ “บิ๊กตู่” หรือระหว่างบรรทัดของ “รองฯวิษณุ” ที่พูดถึง “บางอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุม” ด้วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560 ตามที่ “บิ๊ก คสช.” ประกาศไว้ หรือตรงกับการคาดเดาของ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ที่จะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ว่า

เอาเป็นว่าเวลานี้ คสช.และองคาพยพก็ต้องเดินตามโรดแมปของตัวเอง ส่วนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ก็ต้องตามดูกันต่อไป

ยังไม่ทันไรก็ได้เห็นฝ่ายการเมืองบางปีกเริ่มขยับปรับโหมดสู่การเลือกตั้งกันเสียแล้ว ตามคิวที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.สรรหาคนดัง ออกมาขานรับผลโหวตเยส โหนกระแสความนิยม คสช. ประกาศตั้งพรรคการเมือง ในชื่อ “พรรคประชาชนปฏิรูป” พร้อมเปิดนโยบายตรงๆไม่อ้อมค้อมว่า “สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ” โดยเคลมว่า เสียง 16.8 ล้านเสียงที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เท่ากับเสียงสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง

เป็น “ไพบูลย์” ขาประจำเวที กปปส. ผู้ออกตัวชัดเจนว่าสนับสนุนรัฐบาล คสช.อย่างชัดเจน และเคยร่วมเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย คสช.ในฐานะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนหมดวาระหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนถูกตีตกไป

แนวทางของ “ไพบูลย์” ใช่ว่าจะเพ้อเจ้อ-เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว อย่างน้อยก็เป็นมุก “โยนหินถามทาง” ที่ คสช.ถนัด อีกทั้งยังคาดการณ์กันว่า ในการเลือกตั้งหนหน้าคงมีพรรคการเมืองหน้าใหม่มาลงประชันไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดาพรรคที่มี “วาระซ่อนเร้น” สอดรับกับกติกาใหม่ที่เปิดช่องให้มี “นายกฯคนนอก”

เพียงแต่ “จังหวะเวลา” ที่จะคิดตั้งพรรคการเมือง ตอนนี้ยังไม่ได้ ทั้งกติกาที่ยังไม่เสร็จ ไม่รู้เหนือรู้ใต้ หรือประกาศ คสช.ที่ยังไม่ปลดล็อกเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แม้แต่ “ลุงตู่” เองก็ดูจะไม่ค่อยปลื้ม เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ เพราะถูกนำชื่อไปโยงประเด็นทางการเมือง เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปต่อยอดเล่นงานเรื่องการสืบทอดอำนาจ

อีกด้านบรรดา “นักเลือกตั้ง” ที่เห็นเงียบๆ แต่ก็มีขยุกขยิกขยับตัวกันไม่น้อย อย่างทาง “พรรคเพื่อไทย” ที่อาจจะผิดหวังกบผลประชามติ แต่เมื่อประเมินถึงเสียง “โหวตโน” ที่อาจจะลดลงจากประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 เล็กน้อย แต่ก็ถือว่าฐานเสียงยังเหนียวแน่นยืนพื้นที่ 10 ล้านเสียง ทั้งที่หยอด “น้ำมันหล่อลื่น” ไปจิ๊บๆแค่เขตละ “ขีดเดียว”

อีกทั้งศึกประชามติที่ผ่านมา ก็เหมือนการทดลองให้ “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น “แม่ทัพ” แบบเต็มตัว โดยการสนับสนุนของ “หญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร เสมือนเป็นการเตรียมปรับทัพล้อไปกับเกมการเมืองกระดานใหม่ที่จะมี “ฝ่ายทหาร” เป็นคนคุมเกม

และหากรูปการณ์ยังเป็นเช่นนี้ “หญิงหน่อย - หญิงอ้อ” คงจะเข้ามามีบทบาทในการบัญชาการเกมในช่วงที่ทหารเรืองอำนาจ แบะท่าพร้อมที่จะ “เกี๊ยะเซียะ” มากกว่าทีมของ “คุณหนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่ดูจะจูนกับทางทอปบูตไม่ค่อยติด

สนุกหน่อยคงเป็นฟากของ “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ ที่คราวนี้แทงหวยผิดไปถือหาง “โหวตโน” ทำเอา “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เสียเชิงไปไม่น้อยกับเสียงโหวตในพื้นที่ กทม. รวมทั้งแดนปักษ์ใต้โหวตสวนจนหน้าหงาย ทั้งที่มี “นายหัว” ชวน หลีกภัย ออกมาให้ท้ายเต็มตัว แล้วก็ทำท่าว่าจะโดน “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ แห่ง กปปส. เดินเกมรุกไล่หาช่องยึดพรรคอีกคำรบ

ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ทั้ง พรรคชาติไทยพัฒนา ในวันที่ไร้เงา “หลงจู๊” บรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติพัฒนา ของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคพลังชล ของ สนธยา คุณปลื้ม ตลอดจน พรรคภูมิใจไทย ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล ภายใต้ร่มเงา “เสี่นเน” เนวิน ชิดชอบ ก็ไม่ได้อะไรมาก ขอแค่ให้มีเลือกตั้งเร็วๆ แล้วก็พร้อมที่จะยืนข้าง “ผู้ชนะ” เสมอ ไม่ว่าจะเป็นใคร

รอก็แต่ คสช.ปลดล็อคการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง คงสนุกไม่หยอก

ย้อนกลับที่ผลการลงประชามติ ที่นอกเหนือจากทำให้เห็นเค้าลางของการเลือกตั้งที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ยังส่งผลถึง “โมเมนตัม” ทางการเมืองไทยด้วย เพราะต้องยอมรับว่าก่อนการลงคะแนนประชามติ รวมไปถึงช่วงหลังผลออกมาแล้ว ได้มีการสร้างตรรกะให้เกิด “การเลือกข้าง” ด้วยการขนานนามร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” ที่เป็นของแสลงของนักการเมือง

ทำนองว่าถ้า “โหวตเยส” ก็เท่ากับถือหาง “ฝ่ายอำนาจปัจจุบัน” ซึ่งก็คือ คสช. ขณะที่ “โหวตโน” คือจุดยืนของ “ฝ่ายการเมือง” เมื่อคะแนน “โหวตเยส” มากกว่า ก็เท่ากับสนับสนุน คสช. ไม่เอานักการเมือง โดยเฉพาะเมื่อ “นายกฯลุงตู่” ประกาศผ่านรายการในคืนวันศุกร์ก่อนการลงประชามติว่า ส่วนตัวจะโหวตรับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

บ้างก็เลยเถิดกันไปว่ากันไปไกลถึงขนาดว่า โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญเท่ากับพอใจกับการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล คสช. และยังไม่อยากมีเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้าม “ฝ่ายการเมือง” ก็คอมเมนต์ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ผิดหวังผลประชามติ แต่ก็เคารพเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนว่าคนที่ “โหวตเยส” อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

อันนี้ก็เอาที่สบายใจ อยู่ที่การตีความอย่างไรให้เข้าทางตัวเอง

แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า เสียงโหวตเยส 16.8 ล้านเสียงจะถูกใช้เป็นเสียงไว้วางใจการทำงานของ คสช. จนอาจกลายเป็นการนำ คสช.ของ “นายกฯลุงตู่” ไปสู่ “จุดพีค” อีกครั้ง หลังจากที่เคยได้เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญไปเมื่อครั้งรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จากนั้นก็สาละวันเตี้ยลงๆ

หากเปรียบเป็นตัวการ์ตูนในเกม “โปเกมอน โก” ที่กำลังฮอตฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง การผ่านด่านประชามติมาได้ โดยมี 16.8 ล้านเสียงให้การสนับสนุน ก็เหมือนการ “อัพเลเวล” ยกระดับให้ “ลุงตู่ ณ คสช.” กลายเป็น “พยัคฆ์ติดปีก” ที่แข็งแกร่งจนประเมินค่าพลังลำบาก จนนาทีนี้ใครก็ยากที่จะต่อกรด้วย

ในด้านดีย่อมส่งผลให้การทำงานของ “รัฐบาล คสช.” เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ มีเสียงประชาชน 16.8 ล้านเสียงให้การสนับสนุน เหมือนเมื่อครั้งที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เคยใช้คะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง หรือ 12 ล้านเสียงของ “รัฐบาลทักษิณ” ที่ชอบนำมาอ้างเวลาเสียรูปมวย หรือทำอะไรที่ไม่เข้าท่า

แต่ในด้านดี ก็มีเรื่องร้ายเจืออยู่ เพราะก็เท่ากับประชาชนส่วนใหญ่พอใจกับผลงานของรัฐบาล คสช. ทั้งที่ผลงานด้านการปฏิรูป “สอบตก” อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และตั้งท่าโบ้ยไปให้เป็นเรื่องของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

2 ปีกว่าที่ผ่านมา ยังไม่มีประเด็นปฏิรูปเรื่องใดที่สำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งการปฏิรูปตำรวจ หรือการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่มีการขยับหยิบจับอย่างจริงจัง อาจจะมีเพียงแค่การจัดระเบียบด้านสังคม พื้นที่ทางเท้า ปิดผับบาร์ ผู้มีอิทธิพลหางแถว ซึ่งยิบย่อยเกินกว่าที่จะนำมาเป็นผลงานด้านการปฏิรูปได้

ทั้งที่ “วาระการปฏิรูป” ถูก คสช.เองชูเป็น “ธงนำ” ในการอยู่ในอำนาจยาวกว่ารัฐบาลรัฐประหารในอดีต โดยให้เหตุผลหรือข้ออ้างว่า จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ เพื่อวางแนวทางต่างๆให้เป็นไปตาม “โรดแมป คสช.” และวางแนวทางตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามสโลแกน “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

เหมือนคนฝันเก่ง พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำ ทั้งที่มีโอกาสดีสุดๆ กับอำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์” หลังการรัฐประหาร ก่อนจะนำอำนาจเดียวกันนั้นมายัดไว้ใน มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ขยันใช้โชะๆไปเป็นร้อยๆเรื่อง แต่ก็ไม่ได้มีเรื่องการปฏิรูปที่เป็นชิ้นเป็นอัน

การตีความว่าประชาชนพอใจแบบนี้ ก็เท่ากับเลิกฝันเรื่องการปฏิรูปไปได้เลย

ยิ่งหากมองยาวๆว่า งานปฏิรูปประเทศ ตกไปอยู่ในมือของ “รัฐบาลเลือกตั้ง” ก็ยิ่งเลิกหวังไปกันใหญ่ แม้จะเป็น “ลุงตู่” หรือใครก็ตามที่มาจาก คสช.ไปเป็นนายกฯก็ตาม

เพราะตามรูปการณ์รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ย่อมเป็น “รัฐบาลผสม” ประกอบด้วยหลายพรรคการเมือง ตามสูตรที่ล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ “ซือแป๋ กรธ.” ถึงเวลานั้น “ข้ออ้าง” เรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลย่อมถูกนำมาใช้ตอบคำถามว่า ทำไมไม่ปฏิรูปเรื่องนั้น ทำไมไม่ทำเรื่องนี้ ต้อนไม่จนไปเสียอีก

ขนาดคนเรตติ้งดีขนาดนี้ มีอำนาจขนาดนี้แล้ว ปฏิรูปยังไม่เกิด นับประสาอะไรกับรัฐบาลเลือกตั้ง ที่มีผลประโยชน์ตัวเอง-พวกพ้องสำคัญกว่าประเทศชาติ

สรุปง่ายๆเลยว่า ประเทศไทยมาได้แค่นี้แหละ.


กำลังโหลดความคิดเห็น