xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Pokémon GO วาระแห่งชาติ ดิจิตอลคัลเจอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -Pokémon GO (โปเกมอน โก) เกมโลกเสมือนที่สั่นสะทือนโลกแห่งความเป็นจริง เปิดตัวในประเทศไทยด้วยกระแสแรงแบบถล่มทลาย ขณะที่สื่อมวลชนทุกสำนักโหมประโคมข่าวปรากฏการณ์ชุลมุนวุ่นวายไม่ต่างจากสถานการณ์ในต่างประเทศที่เปิดให้ดาวน์โหลดเกมไปก่อนหน้า หลากประเด็นทั้งเรื่อง อุบัติเหตุ, อาชญากรรม, ผลกระทบต่อสุขภาพ แม้กระทั่งเรื่องภัยความมั่นคงของชาติ ยกระดับให้เกม โปเกมอน โก กลายเป็นวาระแห่งชาติ

แต่ท้ายที่สุด โปเกมอน โก อาจเป็นเพียงเงาสะท้อนวัฒนธรรมดิจิตอล (Digital culture) ทำให้เราเห็นภาพความเชี่ยวกราดของกระแส กลายๆ ว่าความไม่เท่าทันเกมความไม่เท่าทันเทคโนโลยีของผู้คนต่างหาก ที่เป็นตัวตอที่แท้จริงก่อความโกลาหลขนาดย่อมๆ ไปทั่วโลก

ระเบิดความคลั่ง โปเกมอน โก

โปเกมอน โก เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2558 โดยบริษัทไนแอนติก (Niantic ) เป็นผู้พัฒนาเกม และเริ่มทยอยเปิดให้บริการแก่ผู้เล่นมากกว่า 50 ทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 อาทิ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ไทย, อินโดนีเซีย, ลาว, ฯลฯ เป็นเกมที่นำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) สร้างโลกเสมือนผสานเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง แนว Location base นำข้อมูลแผนที่ระบบนำทาง GPS มาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาเกม โดยผู้เล่นต้องออกเดินทางไปยังสถานที่จริงตามพิกัดต่างๆ เพื่อตามจับบรรดามอนสเตอร์ หรือ โปเกมอน

โปเกมอน โก ทำลายสถิติการดาวน์โหลด10 ล้านครั้ง รวดเร็วที่สุดโดยใช้เวลาเพียง 7 วัน หลังเปิดให้ดาวน์โหลด ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเลตในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android แซงหน้าเกมฮิตในอดีตอย่าง Clash Royale ใช้เวลา9 วัน และ Candy Crush Jelly Saga ใช้เวลา12 วัน

ขึ้นอันดับ 1 เกมมือถือที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในสหรัฐฯ 21 ล้านคนต่อวัน ทุบสถิติเดิมของเกม Candy Crush Saga ทำไว้ได้ 19 ล้านคนต่อวัน ที่มีการบันทึกไว้เมื่อปี 2556 นอกจากนี้ ยังกลายเป็นแอพฯ ที่มีการใช้งานเฉลี่ยสูงสุดถึง 33.25 นาที แซงหน้าแอพฯ โซเชียลเน็ตเวิร์คสุดฮิตอย่าง เฟซบุ๊ก ที่การใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 22.8 นาที

รูปแบบของเกม ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็น Pokemon Trainer (โปเกมอนเทรนด์เนอร์) ออกล่าโปเกมอนไปยังสถานที่ต่างๆ เรียกว่าเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นเกมจากเดิมที่นั่งอยู่กับที่ไปตลอดกาล โดยโปเกมอนแต่ละตัวจะมีลักษณะพิเศษต่างกันไปตามแหล่งที่อาศัยแบ่งเป็นธาตุต่างๆ จำนวน 151 ตัว

จุดเด่นของ โปเกมอน โก คือเรื่องของการนำ Location base มาเป็นส่วนสำคัญของเกม กำหนดสถานที่ต่างๆ เป็นจุดแวะพักเรียกว่า PokéStop ซึ่งเป็นแหล่งเก็บไอเทมฟรี เช่น Poké Ball ไว้สำหรับจับโปเกมอน หรือบางครั้งอาจได้รับไข่โปเกมอนให้ผู้เล่นไปฟักเป็นตัวโปเกมอนเองได้ด้วย หรืออย่างโหมด Lure Module การส่งสัญญาณดูดโปเกมอน ซึ่งผลพวงของมันจะล่อบรรดาเทรนด์เนอร์ให้ตบเท้าเข้ามาเพื่อจับโปเกมอนด้วย นอกจากนี้ ยังมีระบบ Gym เลือกทีมแล้วมาต่อสู้กัน โดย Gym จะกระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าจุด PokéStop ในประเทศไทย เต็มไปด้วยศาลพระภูมิ นั่นเป็นเพราะว่า ฐานข้อมูลของมันต่อยอดมาจากเกม Ingress ซึ่งสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ภายในเกม Ingressทางบริษัทผู้ผลิตให้ผู้เล่นแต่ละคนสามารถส่งภาพ และ Location เข้าไปให้อนุมัติ หากผ่านการพิจารณา ก็จะมีสถานที่เกิดขึ้นในเกม ในเมืองนอกส่วนใหญ่จะเป็นสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น รูปปั้น อนุเสาวรีย์ ฯลฯ แต่เมืองไทยหาค่อยข้างยาก ผู้เล่นจึงลองส่งภาพศาลพระภูมิที่พบเห็นบ่อยโดยทั่วไป และทางบริษัทเกมก็อนุมัติ

โปเกมอน โก ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามทั่วโลก สร้างปรากฎการณ์สำคัญในโลกแห่งความเป็นจริงตั้งแต่เริ่มต้นเปิดให้บริการแบบจำกัดประเทศ เช่น การรวมตัวกันออกมาจับโปเกมอนที่สวนสาธารณะกลางดึก หรือบางรายเดินดุ่มๆ ออกล่าโปเกมอนเพียงลำพังจนเป็นเหยื่อตกอาชญกรถูกปล้นมาแล้วก็มี หลายต่อหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นข้อเตือนใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งในประเทศสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุปั่นจักรยานชนกันเพราะจับโปเกมอน อุบัติเหตุขับรถยนต์ชนต้นไม้เพราะจับโปเกมอน ถูกทำร่างกายเพราะเหตุเข้าใจผิดท้าสู้ในเกมแต่กลับถูกแทงในความเป็นจริง หรือกรณีบุกรุกสถานที่ส่วนบุคคล เขตหวงห้าม เพราะมัวแต่ไล่ล่าโปเกมอน ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวครึกโครมมาแล้วทั่วโลก

กระแสของ โปเกมอน โก ในเมืองไทยแรงไม่แพ้ชาติใดในโลก หลังเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีโปเกมอนเทรนเนอร์มารวมตัวกันอย่างหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ฯลฯ ออกไล่ล่าจนสร้างความชุลมุน วัยรุ่นเล่นโปเกมอนวิ่งตัดหน้ารถยนต์กระทันหัน, ล่าโปเกมอนจนทำมือถือตกบึงใหญ่เดือดร้อนหน่วยกู้ภัย, มิจฉาชีพเปิดโหมดLURE MODULE ล่อผู้เล่นก่ออาชกรรม ฯลฯ

จนหลายภาคส่วนโร่ปิดป้ายประกาศขอความร่วมมืองดจับโปเกมอน และออกกฎระเบียบกำกับดูแล ซึ่งดูเหมือนว่า โปเกมอน โก ได้สร้างความปั่นปวนเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของตนเองและผู้อื่น อาทิ

ทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการ ห้ามเด็ดขาดเจ้าหน้าที่ และผู้มาติดต่อราชการ ห้ามเล่นเกมภายในทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัย

เขตทหาร ห้ามจับโปเกมอน ห้ามเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และผู้มาติดต่อ เล่นโปเกมอน โก ภายในพื้นที่ของกองทัพบก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยต่อสถานที่และตัวบุคคล

อุทยานแห่งชาติฯ พื้นที่หวงห้ามและจุดเสี่ยง ห้ามเล่นโปเกมอน โก เพราะอาจกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ และอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ อนุญาตให้เล่นได้เฉพาะพื้นที่ในโซนบริการเท่านั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนเข้าไปในเขตหวงห้าม มีโทษปรับ 500 บาท และหากสร้างความเสียหายและเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า จะมีความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่า มีโทษจำคุก 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ขณะขับขี่รถยนต์ ห้ามเล่นโปเกมอน โก ซึ่งการฟักไข่โปเกมอนต้องใช้ความเร็วในการขับขี่ไม่เกิน 25 กม./ชม. หากผู้เล่นฝ่าฝืนอาจกระทบต่อชั่วโมงเร่งด่วนและก่ออุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรข้อหาใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงสถานที่ล่าโปเกมอน อาจโดนข้อหา บุกรุกสถานที่ส่วนบุคคล ถูกดำเนินคดีอาญา ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000บาท หรือทั้งจำและปรับรวมทั้ง ผู้ล่ายามค่ำคืนอาจโดนข้อหา บุกรุกในเวลากลางคืน และมีโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 362, 365(3) ต้องระวางโทษไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้เล่นส่อแวว ตัวปัญหา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนปัญหาจะเกิดจากตัวผู้เล่น ขณะที่ภาครัฐรวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังไรทิศทางและหลงประเด็นอยู่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) วิเคราะห์ปรากฎการณ์ โปเกมอน โก ฟีเวอร์ รวมทั้งการรับมือทางด้านเทคโนโลยีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiriใจความสำคัญความว่า

“ประเทศไทย เป็นประเทศ "ปลายทางของผู้ใช้เทคโนโลยี" (end user) คือ "ใช้มันอย่างเดียว" โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรที่เป็นเงื่อนไข หรือข้อบังคับในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งบ่งบอกว่าบ้านเรานั้น "ด้อยพัฒนาและความรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีอย่างมาก"

เขาเรียกว่า "media and technology literacy" ทักษะการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี ซึ่งคือทักษะสำคัญของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

ญี่ปุ่น หรือ อเมริกา หรือ ยุโรป มีกฎหมาย ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ผู้พัฒนาซอฟแวร์พึงตระหนักและหลายฝ่ายทางด้านภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายพ่อแม่ ครู โรงเรียน ก็มีส่วนในการออกมาเรียกร้องให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และผู้กำกับดูแลต้องกำกับควบคุมเทคโนโลยีของบริษัทเอกชนต่างๆ ให้มีความปลอดภัยและมั่นคง (safe and secure) โดยเฉพาะการปกป้องผู้ใช้ที่อาจเป็นเด็กและเยาวชน (กระทั่งผู้ใหญ่ และ ผู้ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีนั้น แต่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยอ้อม จากเทคโนโลยีนั้น)

ขณะที่ "ผู้เล่นเกม" มัก มองไม่เห็นผลกระทบของตนเองที่มีต่อคนอื่นๆ และสังคมรอบด้าน เพราะมองแต่เพียงว่า "นี่มือถือของฉัน ชีวิตฉัน เงินฉัน เวลาของฉัน สุขภาพของฉัน ฉันจะทำอะไรอย่างไรก็ได้

มือถือทำให้ "ลัทธิปัจเจกชนนิยมและอัตตาผู้คนบวมเป่ง" คือ การไม่เคารพพื้นที่ บริบท และผู้คนอื่นๆ ที่อาศัยรวมกันในสังคม

ผมต้องขอชื่นชมผู้ที่พัฒนาเกม ว่าเก่ง แต่ขณะเดียวกัน ผมขอตำหนิ ในความคิดที่ไม่รอบคอ รอบด้านของบริษัทเอกชน ที่ฉกฉวยเอาจุดช่องโหว่วตรงนี้มาใช้

ใช่หรือไม่ว่า เกมโปเกม่อน ตอนนี้ คือ "การรุกพื้นที่ทางกายภาพด้วยความจริงเสมือน" และการเล่นเกมที่ไม่รู้จักกาลเทศะ นั้นคือการรุกล้ำพื้นที่และความปลอดภัยของคนที่ไม่ได้เล่นเกม

เรื่องนี้ฝากคนเล่นเกม คิดถึงมารยาททางสังคมแห่งการใช้พื้นที่สาธารณะด้วยนะครับ

โลกยุค 4.0 ได้คืบคลานเข้ามาแล้วในวันนี้

WEB 1.0 คือ website สมัยที่อินเทอร์เน็ต ทำได้เพียงแค่ "อ่านอย่างเดียว"
WEB 2.0 คือ weblog ที่เราสามารถพิมพ์แสดงความคิดเห็นเพิ่มได้ด้วย
WEB 3.0 คือ social media ที่เราสามารถคัดกรอง แชร์ แบ่งปันความรู้สึกนึกคิดผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คน

วันนี้ WEB 4.0 คือ โลกที่ เทคโนโลยี AR/VR - augmented reality (ความจริงเพิ่มขยาย) และ Virtuality (ความเสมือนจริง) กำลังมาทาบทับเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงทางกายภาพ

ผมคิดว่า ภายในสักเวลาหนึ่งเดือน ประเทศไทยจะได้ยินข่าวเช่น
ผู้เล่นเกิดอุบัติเหตุ รถชน หรือ เดินข้ามถนนโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ
ผู้เล่นพลัดตกคู คลอง ท่อ เพราะเพลิดเพลินกับการเดินจับโปเกม่อน
ผู้เล่นถูกปล้น จี้ ชิงทรัพย์ จากมิจฉาชีพ ที่คอยดักจี้ปล้น
ผู้เล่นเด็ก ถูกล่อลวงโดยอาชญากร ดักจับ ลักพาตัวไป
ผู้เล่น เสียงาน เสียการ เพียงเพราะเสพติดและทุ่มเวลามากเกินไปในการเล่น
ผู้เล่น เสียเงินและค่าดาต้าอินเทอร์เน็ตมหาศาล และจ่ายเงินจริงๆ ที่หามาได้เพียงเพราะต้องการซื้อของ ซื้อไอเท็มในเกม

มีการซื้อขายไอเท็ม โดยการแลกเปลี่ยนกับบางอย่าง เช่น เงิน ยาเสพติด เซ็กส์ หรือ การละเลยทอดทิ้งเด็ก (หลายปีก่อน พ่อแม่คู่หนึ่งในจีน ประกาศขายทารกน้อยของตนเอง เพื่อเอาเงินไปซื้อเล่นเกมออนไลน์มาแล้ว)

ผมยืนยันว่า "เกมไม่ผิด เทคโนโลยีไม่ผิด" เพราะปัญหาที่แท้จริง คือ มนุษย์ตกเป็นรองเป็นทาสขอเทคโนโลยี - ในทางนิเทศศาสตร์ เราอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการใช้งานเทคโนโลยี ตามทฤษฏีที่เรียกว่า "technology determinism" ทฤษฏีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด คนเล่นเกมมองไม่เห็นว่าตนเองสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร มองว่าตนเองไม่เกี่ยวกับส่วนรวม เพราะ ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมานานแล้ว ตั้งแต่เป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือ

คนติดมือถือ สะท้อนความบกพร่องทางสังคมอย่างหนึ่ง คือ ขาดทักษะทางชีวิตจริงและหลงผิดว่าโลกเสมือนจริงคือโลกที่แท้จริง

ความสนุกของเกม ทำให้ลืมมองโลกว่ามีเรื่องสนุก เพราะในเกม เป็นความสนุกที่่ตนเองควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ มันน่าตื่นเต้นกว่า เร้าใจกว่าจึงทำให้มองว่าโลกจริงๆ นั้นน่าเบื่อ

"ความสนุกในโลกเสมือนจริง มันสนุกมากเสียยิ่งกว่าความสนุกในโลกทางกายภาพ" ผู้คนเสพติดเกม ก็มักจะยกข้ออ้างมาสนับสนุนข้อดีด้านดีของเกมเพื่อบอกว่า โลกในเกมนั้นดีกว่าโลกจริงๆ มากมาย (คล้ายๆ ในหนังไซไฟวิทยาศาสตร์หลายๆ เรื่อง เช่น The Matrix, Surrogate)

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ หน่วยงานรัฐไทยมีความรู้ ความพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ตนเองหรือยังครับ”

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธานกสทช. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ โปเกมอน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงเทคโนโลยี โมบาย บรอดแบนด์ และซอฟต์แวร์ที่ชาญฉลาด เข้ากับประชากรโลกที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นจำนวนหลายพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เรากำลังเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ

โปเกมอน โก คือ สัญญาณเตือนที่ชัดเจนครั้งนี้กำลังท้าทายผู้นำภาครัฐ และผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ได้รู้ว่า ประชากรโลกกำลังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเป็นการบ่งบอกถึงสัญญาณเตือนซึ่งมีนักอนาคตศาสตร์หลายท่านได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ชาญฉลาดจะทำให้เกิดปรากฏการณ์การโอนอำนาจจากรัฐ หรือองค์กรภาคธุรกิจสู่ประชาชนอย่าง รวดเร็ว ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษต่อจากนี้ไป

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อไปว่า ปรากฏการณ์โปเกมอน เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่เป็นเพียงการให้บริการดิจิตอลในอุตสาหกรรมเกมเท่านั้น ขณะที่โจทย์ใหญ่ภาครัฐของทุกประเทศ คือเรื่องนโยบาลและกฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ต้องสมดุลต่อการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ เห็นควรว่าประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

“นับจากนี้ไปจะเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะโปเกมอนถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนจะกลายเป็นวัฒธรรมดิจิตอล (digital culture) โดยผู้คนทั่วโลกจะมีปฏิสัมพันธ์บนเครือข่ายร่วมกัน แต่อาจอยู่ในรูปแบบอื่นที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น และต้องใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งในการบริหารจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ดังกล่าว ทั้งในแง่มุมประโยชน์และโทษ...อย่าลืมว่า...มันเพิ่งเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น!!!”

วายร้ายโกยรายได้ เป็นภัยความมั่นคง

เกิดการถกเถียงว่า โปเกมอน โก เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศตระหนักให้ความสำคัญ รายงานจากสำนักข่าว BBC ระบุ ประเทศอิหร่าน แบนเกมดังกล่าวเป็นประเทศ โดยสภาสูงแห่งพื้นที่เสมือน (High Council of Virtual Spaces) หน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่คอยคัดกรอง และจับตาเฝ้าระวังสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ของอิหร่าน ลงมติเห็นชอบบังคับสั่งห้ามจำกัดการใช้งานแอพฯ โปเกมอน โกง ภายในประเทศของตน เนื่องด้วยเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ

หรือประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นข่าวครึกโครมก่อนเกมจะเปิดให้บริการในประเทศ มีคำสั่งห้ามอย่างเป็นทางการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ ห้ามไม่ให้เล่นเกมโปเกมอน โก ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรั่วไหลของความลับของชาติ รวมทั้งห้ามเล่นบริเวณทำเนียบประธานาธิบดี

สำหรับประเทศไทย เรื่องภัยความมั่นคงได้รับการพูดถึงเช่นกัน ท่านผู้นำระดับบิ๊กไม่ถึงกับออกปากสั่งห้ามเล่นแต่ก็ปรามๆ ให้คนไทยจับโปเกมอนกันอย่างมีสติ มีขอบเขตและเคารพสถานที่สำคัญต่างๆ บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวแสดงความเป็นห่วงการเล่มเกมของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

"ในส่วนของประชาชนเองก็ต้องระมัดระวัง จะเห็นว่าในหลายประเทศก็เกิดปัญหาและตื่นตัวจากการเล่นเกมดังกล่าว ส่วนตัวผมคิดว่าการตื่นตัวดังกล่าวคงเหมือนเกมอื่นๆ หวือหวาไประยะหนึ่ง วันข้างหน้าก็ต้องคิดเกมใหม่ออกมาให้แปลกประหลาดให้คนนิยม ซึ่งสิ่งที่สร้างในวันนี้ คือ ใช้ภูมิทัศน์เสมือนจริง หรือของจริงเช่นเอาสถานที่ในทำเนียบมาเพียงแต่มีตัวการ์ตูนวิ่งมาให้ไล่จับ ผมก็ศึกษามา แต่ไม่ได้เล่นเกมดังกล่าว เพราะมีเวลาไม่ว่างพอที่จะเล่น เพราะฉะนั้นอย่าเอารูปผมไปลงก็แล้วกัน อย่ามาไล่จับผม ก็ขอร้องแล้วกันให้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นส่วนตัว สิ่งที่ผมกังวลต่อประชาชนวันนี้ก็คือ ความปลอดภัยเพราะหากระบุในสถานที่เปลี่ยว เสี่ยงภัย ซึ่งหลายคนอาจจะชอบการเสี่ยงอันตราย ทั้งที่สูงบ้าง ในตรอกซอกซอยบ้าง อาจจะได้รับอันตรายในเรื่องของการขโมย ชิงทรัพย์ หรือข่มขืน ซึ่งสังคมจะมีปัญหาตามมา ก็ขอฝากเตือนไปด้วย ถ้าจะเล่นขอให้เล่นในสถานที่เปิดเผย ผู้ให้บริการก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบบ้างว่า ถ้าเกิดกรณีลักษณะแบบนี้ขึ้น จะรับผิดชอบอย่างไร

“ผมก็ สั่งการให้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ในการร่วมกันรับผิดชอบ รวมถึงสถานศึกษาต่างๆ เด็กเล็ก ซึ่งในความเป็นจริงจะเล่นเกมนี้ไม่ได้ เพราะทุกคนต้องเรียนหนังสือ แต่พอยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เพราะฉะนั้นผู้ให้บริการก็ควรละเว้นในบางสถานที่บ้าง ไม่ควรกำหนดไว้ในเกม อย่างนักข่าวถ้าจะเล่นก็ขอให้ไปเล่นนอกทำเนียบฯ เพราะที่ทำเนียบฯ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเล่นเพราะเป็นสถานที่ราชการต้องเข้าใจในเรื่องของความปลอดภัยของชาติ ทุกประเทศเป็นหลัก ซึ่งหลายประเทศก็กังวลเช่นเดียวกันกับที่ผมพูด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า แม้การเล่นเกมส์จะไม่ได้บัญญัติว่าเป็นความผิด แต่หากมีการบุกรุก หรก่อความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือส่งผลให้เกิดอันตราย ก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย การเล่นเกมโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อาจทำให้ผู้เล่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีคำสั่งไปยังสถานีตำรวจทุกแห่ง จัดส่งสายตรวจดูแลความเรียบร้อยปลอดภัยของจุดปล่อยไอเทม PokéStop หากอยู่ในที่เปลี่ยวอาจเป็นจุดเสี่ยงเกิดเหตุอาชกรรมปล้นทรัพย์

ขณะที่ทาง กสทช. เข้ามามีบทบาทเป็นเจ้าภาพรับหน้าที่หารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจัดโซนิ่งสำหรับเล่นโปเกมอน โก คลอดออกมาตรการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมิวนิเคชั่น, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น, บริษัท กสท โทรคมนาคม, บริษัท ทีโอที ร่วมกันหารือแนวทางการเล่นโปเกมอน โก อย่างเหมาะสม โดยข้อสรุปเบื้องต้นประกอบด้วย 3 แนวทาง

แนวทางที่ 1 ขอความร่วมมือจำกัดพพื้นที่เกม 4 แห่ง 1. บริเวณสถานที่อันตราย เช่น ริมทางรถไฟ ริมแหล่งน้ำ ฯลฯ 2. ศาสนสถานและโบราณสถาน 3. สถานที่ราชการ และ 4. พื้นที่ส่วนบุคคล

แนวทางที่ 2 ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ราย ในการจัดทำหนังสือคู่มือเล่มเกม โปเกมอน โก โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 รูปแบบ สำหรับผู้ปกครองและสำหรับเด็ก

แนวทางที่ 3 การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการเล่นเกม กรณีซื้อไอเทมต่างๆ สร้างความเข้าใจและย้ำเตือนผู้เล่นเพื่อป้องกัน บิล ช็อก หรือการถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่มากกว่าปกติ

สุดท้าย จะสรุปพื้นที่โซนนิ่งถอดพิกัดอันตรายไม่เหมาะสมในการล่าโปเกมอน ไปยัง บ.นีแอนติ ผู้พัฒนาเกมฯ พร้อมปรึกษาการจำกัดเวลาเล่นเฉพาะกลางวัน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า หลังการเปิดตัวของ โปเกมอน โก ได้เพียง 13 วัน ใน3ประเทศ ยอดดาวน์โหลดทุบสถิติมากกว่า 25ล้านครั้ง ให้หลัง 1 เดือน ทุบสถิติกวาดรายได้สูงสุด กวาดรายได้ทั่วโลกกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.9 พันล้านบาท) ได้รับความนิยมสูงสุดแซงหน้าเกมและโซเชียลมีเดียอื่นๆ และส่งผลไปยังหุ้นของ Nintendo ปรับตัวขึ้น 800,000 ล้านบาท

โปเกมอน โก เป็นมากกว่าเกมที่สร้างความเพลิดเพลินสนุกสนุกสนาม แนวคิดของเกมต้องการให้ผู้เล่นได้ออกไปเห็นโลกผ่านมุมมองใหม่ๆ ตามสถานที่ต่างๆ มีจุดมุ่งหมายแฝงให้ผู้เล่นได้ออกกำลังกาย ใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น เข้ารวมทีมประลองการต่อสู้ยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกมโปเกมอน โก ได้รับการยอมรับจานักจิตวิทยาด้วยว่าสามารถบำบัดโรคซึมเศร้าอย่างได้ผล

ดังที่กล่าวในข้างต้น ลักษณะของเกมแนว Location baseหากวางกลยุทธ์ดีๆ ย่อมส่งผลดีต่อภาคธุรกิจรับทรัพย์จากบรรดาโปเกมอนเทรนเนอร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาคการท่องเที่ยวนำมาปรับใช้ด้วย โดยรัฐบาลญี่ปุ่น นำโปเกมอน โก มากระตุ้นฟื้นฟูการท่องเที่ยวในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเมื่อปี 2011 ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมหารือบริษัทตัวแทนเกมฯ เพื่อนำสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ใส่เข้าไปในเกมมุ่งเสริมการท่องเที่ยวไทยด้วยเช่นกัน

คงต้องจับตาดูกันว่า 'ปรากฎการณ์ โปเกมอน โก ฟีเวอร์' จะเป็นคงอยู่ในเมืองไทยได้สักกี่น้ำ เพราะกระแสเชี่ยวมาแรงก็คงไปเร็วเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น