xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกโซเชียลมีเดียของเซเลบ เปลี่ยนฟอลโลว์เป็นเงินเข้ากระเป๋า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

>>ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กเฟื่องฟู คงเป็นเรื่องประหลาดหากมีสักคนบอกว่า ไม่มีบัญชี Line, Fb หรือ IG เพราะทุกวันนี้เปิดไปทางไหนก็เห็นแต่คนไลฟ์สด เผยให้เห็นชีวิตความเคลื่อนไหวกันได้แบบเกาะติดเรียลไทม์ ซึ่งอย่าว่าแต่คนธรรมดาอย่างเราๆ เลย แม้แต่เหล่าไฮโซ-เซเลบริตีก็เห่อเล่นโซเชียลมีเดียเช่นกัน แต่แวลูของพวกเขา ไม่ได้หยุดที่การเป็นไดอารีส่วนตัว หรือครีเอตคาแรกเตอร์เก๋ๆ ในโลกออนไลน์ แต่ก้าวข้ามถึงการเป็นแบรนดิ้ง และจะโดยตั้งใจหรือไม่ แอกเคานต์ของพวกเขากลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดเมกมันนีเข้ากระเป๋า

สุดยอดโซเชียลมีเดียยอดนิยมของสังคมเซเลบ คงไม่พ้นช่องทางยอดฮิต Fb, Line, IG, Youtube รวมถึงการใช้ฟังก์ชันที่มีลูกเล่นแปลกๆ และแอปฯ แต่งรูปมาสร้างสีสัน อย่างช่วงนี้ที่กำลังนิยมก็เป็น การ Live สดผ่าน FB, แอปฯ แต่งหน้าเด็ก-แก่, แอปฯ แต่งหน้าตัวเองเป็นรูปสัตว์, แอปฯ ยืดหน้า, แอปฯ แต่งสวยอย่าง B612, แอปฯ แต่งหน้าตัวเองเป็นเพศตรงข้าม, สร้างภาพเคลื่อนไหวแบบวนไปจากแอปฯ Boomerang และ ฯลฯ

บางคนกว่าจะโพสต์รูปตัวเองแต่ละใบ อาจผ่านแอปฯ แต่งรูปไม่ต่ำกว่า 3 แอปฯ หรือมนุษย์เทคโนโลยีจะโหลดแอปฯ ลงสมาร์ทโฟนไม่ต่ำกว่า 20 แอปฯ เอาไว้เล่นยามว่าง ก็มี

“คือถ้าเป็นฟังก์ชันใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จะได้รับความสนใจ สร้างสีสันความแปลกตาให้คนที่เห็นในโลกโซเชียล ถามว่าการใช้ฟังก์ชันรูปแบบใหม่ๆ เรียกยอดไลก์ได้ในระดับหนึ่ง แต่จะได้ฟีดแบ็กมากกว่า เช่น คอมเมนต์มาถามว่าทำอย่างไร หรือใช้ฟังก์ชันอะไร

แต่ฟังก์ชันและแอปฯ ประเภทนี้มาเร็วไปเร็ว เพราะค่ายผู้ผลิตเทคโนโลยีเหล่านี้จะออกรูปแบบใหม่ๆ มาไวมาก “มั้งค์-ชัยลดล โชควัฒนา” หนุ่มหัวสมัยใหม่คอเทคโนโลยี เจเนอเรชันที่ 3 ของสหพัฒน์ เล่าถึงการใช้ลูกเล่นใหม่ๆ ในโลกโซเชียล พร้อมกับแชร์ความเห็นส่วนตัวอีกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เวอร์ชันแอดวานซ์ของค่ายแอปเปิล น่าจะเป็นฟังก์ชันแต่งรูปที่จะโดนจริตขาโซเชียลแน่นอน

สำหรับเหล่าเซเลบริตีที่มีนามสกุลดังเป็นทุนทางสังคมอยู่แล้ว การเล่นโซเชียลมีเดียของพวกเขา อาจมีจุดเริ่มต้นจากการใช้โซเชียลเป็นแค่ไดอารีส่วนตัว แต่บางคนที่มีความชัดเจนในไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากๆ ช่องทางโซเชียลมีเดียที่พวกเขาเป็นเจ้าของบัญชีก็พาไปสู่บทบาทอื่นๆ อย่างการช่วยเหลือสังคมในรูปต่างๆ ไม่ว่าจะช่วยกระจายโพสต์การช่วยเหลือ บริจาคเพื่อผู้ยากไร้ หาทุนช่วยการกุศล หาบ้านให้สัตว์จรจัด ช่วยประชาสัมพันธ์การบริจาคเลือดให้ผู้ป่วย ฯลฯ

… เรียกว่ากลายเป็นช่องทางต่อยอดบุญ ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวไปโดยปริยาย

หนทางการได้มาซึ่งชื่อเสียงในโลกออนไลน์ เป็นที่รู้จักของคนในโซเชียลมีเดียด้วยจำนวนยอดไลก์ ยอดฟอลโลว์ มักมี 'สูตรสำเร็จ’ อย่างกว้างๆ ไม่พ้นดีกรีความเป็นคนดัง, หน้าตาดี, โชว์ไลฟ์สไตล์อินเทรนด์, ถ่ายรูปเริ่ด, แต่งรูปเก่ง, ใช้ฟังก์ชันต่างๆ ในการพรีเซนต์ ไปจนถึงการถ่ายรูปคู่กับดารา-คนดัง

แต่สำหรับสังคมโซเชียลของเหล่าเซเลบ คงจัดอยู่ในแพตเทิร์นการแชร์ภาพสุดเก๋ไก๋ที่สร้างคาแรกเตอร์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการแชร์ไลฟ์สไตล์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่คนทั่วไปใฝ่ฝันอยากไปถึงจุดนั้น แต่ยากจะเอื้อมถึง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้กลายเป็นที่จับตามมอง อย่างเช่น การดินเนอร์มื้อหรูระดับมิชลินสตาร์, ไปขึ้นบอลลูนชมพระอาทิตย์, พักในโรงแรม 6 ดาว ไปจนถึงฟรอนต์โรว์ในงานแฟชั่นวีก และอีกมากมาย

อย่างกรณี IG ของดีไซเนอร์ชื่อดัง หรือเชฟฝีมือฉกาจที่มีหน้าตาหล่อขั้นเทพ บางทีเหล่าฟอลโลเวอร์เริ่มจากชื่นชอบการเสพไลฟ์สไตล์ของบุคคลเหล่านี้ ติดในเทสต์และรสนิยม จนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สนใจว่าพวกเขาจะกินอะไร ไปที่ไหน ใส่อะไร ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลให้ฟอลโลเวอร์ไปกดไลค์ หรือกดติดตามใน IG แบรนด์ที่พวกเขาทำ

อย่างแบรนด์ดีไซเนอร์สุดแซบ อย่าง วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา หรือ “หมู อาซาว่า” พลพัฒน์ อัศวะประภา เมื่อพวกเขาใส่ชุดของแบรนด์ตัวเองและโพสต์ลง IG ส่วนตัว เมื่อเหล่าฟอลโลเวอร์ถูกใจไอเท็มไหนที่พวกเขาสวมใส่ก็เริ่มสืบเสาะจาก Fb หรือ IG ของแบรนด์ที่ดีไซเนอร์เหล่านี้เป็นเจ้าของ เพื่อหาไว้ครอบครอง

ปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าโดยตรง แต่เพราะเหล่าฟอลโลเวอร์มีความสนใจเสพ ‘สไตล์’ หรือมีความเป็นรอยัลตีในตัวบุคคล ต่อเหล่าดีไซเนอร์หรือบุคคลที่ถูกใจมากกว่า จะว่าเป็นขั้นแอดวานซ์ของพฤติกรรมแฟนคลับในหมู่นักร้องก็ไม่ผิดนัก เมื่อชอบคนไหนแล้ว อะไรที่แปะแบรนด์ของคนนั้นก็จะได้รับความสนใจในหมู่แฟนคลับขึ้นมาทันที

กลไกที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เหล่านักการตลาดมองเห็นช่องทางในการเผยแพร่แบรนด์/สินค้าของพวกเขา จึงเกิดการ Tie in แบรนด์เข้าไปในโซเชียลมีเดียส่วนตัวของเซเลบเหล่านี้ เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตัวจริงได้ตรงจุด ซึ่งส่วนใหญ่สินค้า/แบรนด์ที่สนใจใช้โซเชียลของเซเลบมาเป็น Influencer ก็ไม่พ้นสินค้าพรีเมียมหรือไฮแบรนด์ กลยุทธ์ในการเลือกใช้ พิจารณาตั้งแต่คาแรกเตอร์ว่าตรงกับแบรนด์หรือไหม? กลุ่มที่มาฟอลโลเวอร์เป็นใคร, เวลาในโพสต์ และอีกมากมายแล้วแต่ลูกเล่นของนักการตลาดจะครีเอตขึ้นมาได้

แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ บางครั้งจำนวนฟอลโลว์ที่มากก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับความสนใจจากแบรนด์เสมอไป แต่จะดูที่ ‘คุณภาพของกลุ่มคนที่มาฟอลโลว์’ หรือคนที่แวดล้อมในวงสังคมของเจ้าของบัญชี ว่าคือกลุ่มเป้าหมายที่ใช่หรือไม่?

อย่างเช่น เซเลบริตีระดับ A-List บางคนอาจเปิด IG ของตัวเองเป็นไพรเวตด้วยซ้ำ มียอดฟอลโลว์แค่ 300 คน หรือแค่ไม่กี่หมื่นเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาคนฟอลโลว์แต่ละคนคือ มนุษย์ระดับมิลเลียนแนร์ทั้งนั้น จึงไม่แปลกหากเครื่องสำอางกระปุกละ 3 หมื่น หรือคอนโด 30 ล้าน จะ Tie in สินค้าของตัวเองผ่าน IG ของเซเลบคนนั้น ในแบบเนียนๆ จนดูแทบไม่ออกว่าเป็นการ Tie in

ปัจจุบัน ‘แอกเคานต์คุณภาพ’ ลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มเซเลบแถวหน้าของเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอาชีพที่มีภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ และใกล้ชิดกับคนในสังคมชั้นสูง อาทิ พิธีกร, หมอ, ช่างภาพ, เซเลบริตีเชฟ, ไปจนถึงที่ปรึกษา-นักวิเคราะห์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ติดต่อเป็นสินค้าประเภทไหน

แต่สำหรับเซเลบบางคนที่มองเห็น ‘ช่องทาง’ เมกมันนีนี้ (อย่างน้อยก็ได้ตังค์ชอปปิ้งเพลินๆ) อาจมีการดีไซน์แพกเกจจริงจัง ในกรณีที่สินค้า/แบรนด์สนใจติดต่อจะลงโปรโมตสินค้า หรือแคมเปญผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวของพวกเขา เช่น ได้รับเชิญไปงานอีเวนต์จะช่วยโพสต์รูปลง Fb ได้กี่ครั้ง/กี่ใบ/กี่โมง ใส่แฮชแท็กอะไรบ้าง ทั้งหมดอยู่ในเรตราคาเท่าไร? ซึ่งรายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง เมื่อ ‘โซเชียลมีเดีย’ เข้ามามีอิทธิพลในสังคมชั้นสูง แต่เทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว เชื่อแน่ว่าในอนาคตจะเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่มาสร้างการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เราต้องจับตามอง


กำลังโหลดความคิดเห็น