xs
xsm
sm
md
lg

“คาแมตต์ สกูล” รถออกแบบได้ โครงการจากผู้ใหญ่ใจดี“โตโยต้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1 คาแมตต์ เพตตา ออกแบบได้ตามใจเด็ก (ภาพจากโตโยต้า)
ผู้ใหญ่ใจดี โตโยต้า เปิดโรงเรียนสอนขับรถพิเศษเพื่อให้น้องๆ หนูๆ ได้เรียนรู้วิธีการใช้พวงมาลัย คันเร่ง และเบรก พัฒนาความเชื่อมั่นและการตัดสินใจ รวมทั้งชักชวนให้เด็กสนุกกับการออกแบบรถ ก่อนขับลงสู่สนามทดสอบจำลองเพื่อรับใบขับขี่

คาแมตต์ สกูล คือพัฒนาการล่าสุดของโตโยต้า มอเตอร์ในโครงการส่งเสริมจินตนาการของหนูน้อย และแนะนำให้เด็กรู้จักความสนุกสนานในการขับรถ โดยโรงเรียนเฉพาะกิจพิเศษนี้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1-4 ที่ผ่านมาในงานอินเตอร์เนชันแนล โตเกียว ทอย โชว์

ผู้เยี่ยมชมรุ่นจิ๋วที่ไปยังคาแมตต์ สกูลจะได้เรียนรู้วิธีการใช้พวงมาลัย คันเร่ง และเบรกจากโปรแกรมจำลอง ก่อนนำทักษะที่ได้รับไปใช้ในการขับรถที่ออกแบบมาเป็นพิเศษรอบสนามทดสอบเล็กๆ ภายในบูทของโตโยต้า ซึ่งจำลองมาจากสถานการณ์การขับขี่จริงบางส่วน อาทิ การจอดรถ

หลังจากสำเร็จหลักสูตรแล้ว เด็กๆ จะได้รับใบขับขี่สมมติที่มีรูปตัวเองกลับไปอวดเพื่อนๆ

รถที่ใช้ทดสอบในคาแมตต์ สกูลเป็นรถเปิดประทุนคันจิ๋ว “คาแมตต์ เพตตา” ซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์คาร์น้องใหม่ในตระกูลคาแมตต์ที่โตโยต้านำไปโชว์ในงานอินเตอร์เนชันแนล โตเกียว ทอย โชว์มาตั้งแต่ปี 2012 แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการเปิดบูทเพิ่มสำหรับคาแมตต์ สกูลและสนามทดสอบ

ทั้งนี้ ชื่อ “คาแมตต์” มาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า การเอาใจใส่ ซึ่งต้องการสื่อความหมายในการเอาใจใส่ผู้อื่นและเอาใจใส่รถ
เวอร์ชันสำหรับนักซิ่งจิ๋วสายเท่ (ภาพจากโตโยต้า)
ขณะที่ “เพตตา” มีแรงบันดาลใจจากการที่บริษัทต้องการให้เด็กได้สัมผัสและทำความคุ้นเคยกับรถด้วยวิธีการที่เรียบง่ายแต่สนุกสนาน โดยมาจากภาษาญี่ปุ่น “petta petta” ซึ่งเป็นการสร้างคำโดยการเลียนเสียงธรรมชาติ หมายถึง “ติด” คือการติดสติ๊กเกอร์แผ่นแม่เหล็กบนตัวรถ

คาแมตต์ เพตตามีความยาวกว่า 3 เมตรเล็กน้อย กว้าง 1.2 เมตร นั่งได้ 3 คน วางเบาะนั่งในแพทเทิร์นเดียวกับแมคลาเรน เอฟ1 คือโชเฟอร์ตัวน้อยนั่งหน้าบริเวณกึ่งกลางรถ และเบาะหลัง 2ที่นั่งที่มีพื้นที่ยืดขาได้สำหรับผู้ใหญ่

สำหรับข้อบังคับในการขับคาแมตต์ เพตตาคือ นักซิ่งจิ๋วจะต้องสูงอย่างน้อย 130 เซนติเมตร และเจ้าหน้าที่ในบูธจะประเมินว่า เด็กสามารถขับรถได้หรือไม่โดยอิงกับความสามารถในการใช้พวงมาลัย คันเร่ง และเบรกระหว่างใช้โปรแกรมจำลองการขับขี่
คาแมตต์ 57เอส (ภาพจากโตโยต้า)
คาแมตต์ เพตตาทุกคันได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยกระตุ้นจินตนาการของเด็ก และส่งเสริมการทำความเข้าใจวิธีการทำงานของรถ และความสนุกสนานในการขับขี่

ก่อนนำรถลงทดสอบ เด็กแต่ละคนสามารถออกแบบและแต่งรถของตัวเองได้ด้วยสติ๊กเกอร์แผ่นแม่เหล็กหลากสีหลายรูปแบบ ทั้งแถบ ธง หรือชุดแต่งรถแข่ง เช่นเดียวกับตัวถังรถที่ถอดประกอบได้ตามต้องการโดยมีให้เลือก 5 แบบด้วยกัน

คาแมตต์ เพตตาใช้โครงสร้างระบบไฟฟ้า พวงมาลัยติดตั้งอยู่ตรงกลางแผงหน้าปัดทรงสี่เหลี่ยม เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าได้ควบคุมรถเอง ขณะที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่คอยสังเกตการณ์และให้คำแนะนำอยู่บนเบาะหลัง

สำหรับเด็กเล็กที่ความสูงยังไม่ถึงเกณฑ์ที่สามารถขับคาแมตต์ เพตตาได้ จะได้เรียนรู้วิธีการขับรถโดยใช้โปรแกรมจำลองและรับใบขับขี่ “ชั่วคราว”

ไอเดียของโครงการนี้คือ เพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกกับความคิดในการเดินตามรอยพ่อแม่ และกระทั่งพัฒนาความเชื่อมั่นและการตัดสินใจ ซึ่งปกติแล้วเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่
ลุคเนี้ยบก็มี (ภาพจากโตโยต้า)
โตโยต้าเปิดตัวคาแมตต์ครั้งแรกในปี 2012 ในชื่อคาแมตต์ โซระ ภายใต้แนวคิดในการส่งเสริมให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ถัดมาอีกปีจึงเป็นคาแมตต์ 57เอส ที่ตัวถังภายนอกประกอบด้วยแผงเล็กๆ 57 ชิ้นที่ถอดประกอบได้เช่นเดียวกับเกมปริศนา เพื่อชักชวนให้เด็กสนุกสนานกับการประกอบชิ้นส่วนเหล่านี้

ต่อมาในปี 2014 โตโยต้าเผยโฉมคาแมตต์ แล็บ ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยนำภาพที่เด็กวาดฉายลงบนฝากระโปรงรถ รวมทั้งโครงสร้างรถแบบเปลือยเพื่อให้มองเห็นการทำงานทั้งหมด กระตุ้นให้เด็กสนใจในการขับขี่และกลไกของรถ

ปี 2015 โตโยต้าคลอดคาแมตต์ ฮาจิเมะพร้อมระบบคาแมตต์ วิชั่นที่ใช้ AR (Augmented Reality Technology – เทคโนโลยีความจริงเสริม) เพื่อให้เด็กเพลิดเพลินกับประสบการณ์จำลองในการขับรถในเมืองด้วยรถที่ออกแบบเองตามต้องการ และพัฒนามาเป็นคาแมตต์ แคปซูลเมื่อปีที่แล้ว ในรูปรถเทรลเลอร์ที่มีพื้นที่ภายในที่ปรับแต่งได้
สไตล์รถลากก็มา (ภาพจากโตโยต้า)
แผงตัวถังถอดประกอบได้ เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่ได้ใช้เวลาร่วมกันในการออกแบบรถ (ภาพจากโตโยต้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น