ดูภายนอกตุ๊กตาหมี ‘สไปกา แบร์’ (Spica Bear) เหมือนตุ๊กตาธรรมดาๆ ทั่วไป จนเมื่อนำสมาร์ทโฟนที่โหลดแอฟพลิเคชั่นชื่อเดียวกันไปสแกนที่ป้ายห้อยคอ เจ้าหมีน้อยจะกระโจนจากจินตนาการ ออกมาโลดแล่นบนโลกแห่งความเป็นจริง
นี่เป็นไอเดียสร้างสรรค์ของพี่น้องสตาร์ทอัพไทย “พิศร จึงวิวัฒน์อนันต์” และ “จิรวัชร์ จึงวิวัฒน์อนันต์” จากบริษัท ฟินิก้อน อินโนเวชั่น จำกัด ที่ได้แรงบันดาลใจจากความเชื่อว่า เด็กทุกคนล้วนฝัน อยากให้ของเล่นชิ้นโปรด ลุกขึ้นมามีชีวิต สามารถจะเล่นและโต้ตอบกับเจ้าของได้จริงๆ
และด้วยพื้นฐานเชี่ยวชาญด้านเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เป็นที่มาของการใช้เทคโนโลยียุคใหม่มาเชื่อมโยงกับของเล่น สร้างให้ตุ๊กตาหมีมีชีวิตขึ้นมาได้อย่างเป็น “รูปธรรม” ช่วยเติมเต็มจินตนาการให้แก่เด็ก และผู้ใหญ่ที่เคยมีฝันดังกล่าว และที่สำคัญ ยังนำไอเดียนี้ต่อยอดสู่เชิงธุรกิจ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มของขวัญ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
“แรงบันดาลใจเกิดจากผมอยากจะสร้างของเล่นที่มีชีวิต ซึ่งในวันเกิด ครั้งหนึ่งของคุณพ่อ ผมได้มอบของขวัญเป็นการ์ดที่ใช้โปรแกรม AR(Augmented Reality) มองด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นอะไร แต่เมื่อส่องดูผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน จะปรากฏภาพ 3 มิติ อวยพรวันเกิด ซึ่งคุณพ่อประทับใจมาก ผมเลยได้แนวคิด นำเทคโนโลยี AR มาเชื่อมกับของเล่น เพื่อจะขายในตลาดกลุ่มของขวัญ ซึ่งเราได้สำรวจมาแล้วว่ามีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง เฉพาะในไทย มูลค่าตลาดปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนต่างประเทศมูลค่าสูงกว่าอีกหลายเท่าตัว” พิศร ขยายความ
ทั้งนี้ ออกแบบคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนหลักเป็น “หมี” ชื่อว่า “Spica Bear” ด้วยเหตุผลว่า ตุ๊กตาหมีเป็นที่รักและนิยมมากที่สุดอยู่แล้ว สามารถนำร่องทำตลาดได้ง่ายและกว้างที่สุด โดยกำหนดบุคลิกให้เป็นหมีขี้อ้อน จิตใจดี น่ารักอ่อนโยน
สำหรับการใช้งาน จะต้องควบคู่กับแอฟพลิเคชั่น “Spica Bear” ที่โหลดได้ทั้งจากระบบปฏิบัติการณ์ iOS และ Android เมื่อเปิดโปรแกรม แล้วสแกนไปที่ป้ายห้อยคอของตัวตุ๊กตา จะปรากฏ ตัวการ์ตูนหมี Spica Bear บนหน้าจอสมาร์ทโฟน ซึ่งจะมีฟังค์ชั่นให้เลือกเล่นได้หลากหลาย เช่น 1.Interactive Animation หรือปฏิกิริยาตอบโต้เมื่อแตะไปที่ตัวหมีบนหน้าจอ 2. สามารถเล่นเกมส์ต่างๆ ร่วมกับหมีน้อยได้ 3.ถ่ายภาพ อัดวิดีโอ (เฉพาะ iOS) กับน้องหมีแล้วแชร์ต่อได้ในโซเชียลมีเดีย และ4.ให้ตัวหมีทำท่าทางต่างๆ เพื่อใช้เป็น “สื่อแทนใจ” บอกข้อความหรือความรู้สึกแก่คนพิเศษ เช่น แต่งงานกันไหม ยินดีด้วย กอดหน่อย เป็นต้น
พิศร อธิบายต่อว่า ตุ๊กตาหมี ตั้งราคาขายปลีกตัวละ 1,299 บาท แต่ละตัวจะมีป้ายห้อยคอติดโปรแกรม AR ส่วนแอฟพลิเคชั่น Spica Bear เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี และจะอัพเดตเวอร์ชั่นใหม่ทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้เจ้าของมีกิจกรรมใหม่ๆ เล่นเพิ่มเติมสม่ำเสมอ รวมถึง อนาคตจะพัฒนาให้ใช้ในระบบVR(Virtual Reality) เป็นเกมส์ที่เล่นร่วมกับหมีน้อยได้ ในโลกเสมือนจริง โดยไม่ต้องแตะที่หน้าจอสมาร์ทโฟน รวมถึง จะออกตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์อื่นๆ ที่เล่นร่วมกันได้มากกว่า 1 ตัว เพื่อให้เกิดสังคมในหมู่คนเล่นตุ๊กตา Spica Bear เหมือนกัน
“ในส่วนของซอฟต์แวร์ ผมจะเปิดให้ผู้ใช้โหลดได้ฟรี เพื่อให้เล่นแล้วสนุกติดใจ อยากจะเล่นไปเรื่อยๆ โดยจะอัพเวอร์ชั่นใหม่เสมอ ควบคู่กับออกตุ๊กตาตัวอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่อง เช่น เป็นตุ๊กตารูปแฮมเบอร์เกอร์ที่มีแผ่นโปรแกรม ARติดอยู่เช่นกัน ถ้าอยากให้เจ้าหมีได้กินแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นนี้ ก็ต้องซื้อตัวตุ๊กตารูปแฮมเบอร์เกอร์เพิ่ม รวมถึง จะมีตัวละครอื่นๆ มาเสริม แล้วสามารถเล่นร่วมกันได้ ซึ่งการพัฒนาจะควบคู่กับซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เราจะออกมาเสริมต่อเนื่อง” สตาร์ทอัพหนุ่ม อธิบายเสริม
ในความเป็นจริง พี่น้องคู่นี้ ต่างเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เนื่องจากมีความชื่นชอบด้านเทคโนโลยี ความรู้เชิงไอทีต่างๆ ส่วนใหญ่จะศึกษาด้วยตัวเอง ประกอบกับเรียนหลักสูตรเฉพาะทางเสริม โดยมีประสบการณ์หารายได้จากการทำงานไอทีรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เรียนระดับมัธยม และหลังจากเรียนจบ เปิดบริษัท ฟินิก้อน อินโนเวชั่น จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท รับทำงานเขียนซอฟต์แวร์ส่วนสมองกลให้แก่บริษัทต่างชาติ รวมถึง รับทำการ์ตูนแอนิเมชั่นด้วย และต่อยอดมาเป็นตุ๊กตาหมียุคดิจิทัลที่เปิดตัวสู่ตลาดเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมานี่เอง
เขาเผยว่า ใช้เงินลงทุนในการทำธุรกิจตุ๊กตาหมี Spica Bear ประมาณ 1.5 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ กับการผลิตตัวตุ๊กตา โดยว่าจ้างโรงงานทำตุ๊กตาให้ตัดเย็บตามแบบที่ต้องการ เลือกใช้ผ้าชนิดพิเศษนำเข้าจากต่างประเทศ มีคุณภาพสมบัตินุ่มและเงางาม ส่วนภายในยัดใยคอนตอนแท้ ไม่ระคายเคืองต่อระบบหายใจ และเป็นวัสดุที่สามารถจะส่งออกต่างประเทศได้
ทั้งนี้ วางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้ที่คนรุ่นใหม่ อายุ 18-30 ปีที่ชื่นชอบด้านเทคโนโลยี และความแปลกใหม่ มีศักยภาพตัดสินใจจับจ่ายได้ง่าย โดยจะซื้อหาตุ๊กตาหมีSpica Bear ไปเป็นของเล่นประจำตัว หรือซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่คนพิเศษในวาระสำคัญต่างๆ เป็นต้น
ด้านช่องทางขายในประเทศ เบื้องต้นอาศัยผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ควบคู่กับออกงานแสดงสินค้า เพื่อแนะนำตัวให้ลูกค้ารู้จักและเข้าใจในตัวสินค้า ส่วนตลาดต่างประเทศ กำลังเจรจากับบริษัทต่างชาติเพื่อเข้ามาเพิ่มทุนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ทำหน้าที่ตัวแทนพาสินค้าไปกระจายขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าว่า ปีหน้า (พ.ศ.2560) ในประเทศ ยอดขายขั้นต่ำ 1 หมื่นตัว ส่วนต่างประเทศประมาณ 1 แสนตัว
“ปัญหาของธุรกิจ สำหรับในประเทศ ผมมองถึงความยากที่จะทำให้ลูกค้ารู้จักและเข้าใจในตัวสินค้า ดังนั้น ช่องทางออนไลน์จึงตอบโจทย์ที่สุด เพราะสามารถจะทำคลิปวิดีโออธิบายให้เข้าใจได้ ควบคู่กับออกบูท อธิบายต่อลูกค้าโดยตรง อีกปัญหาคือกำลังซื้อในปัจจุบันหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจ แผนธุรกิจของผมในช่วงแรก จึงมุ่งที่จะทำให้ลูกค้ารู้จักเรามากที่สุดเสียก่อน จากนั้น จะเกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์ ช่วยสร้างผลกำไรในอนาคต ส่วนตลาดต่างประเทศ คุ้นเคยกับเทคโนโลยี AR อยู่แล้ว ปัญหาธุรกิจจึงอยู่ที่เจรจาการค้ากับตัวแทนต่างชาติให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย” เขาเผยในตอบท้าย
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทุกธุรกิจจำเป็นต้องก้าวตามให้ทัน อย่าง ‘Spica Bear’ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ตุ๊กตาหมีธรรมดา เมื่อเติบความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเข้าไป กลายเป็นสินค้านวัตกรรม ตอบพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ได้อย่างน่าสนใจ
ติดต่อ 081-585-5127
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *