xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ AI (Artificial Intelligence) รุกคืบวงการโปรแกรมเมอร์เมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขา Interactive Media Science
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://interactivemedia.nida.ac.th/


คำว่า AI (อ่านว่า เอ-ไอ ย่อมาจาก Artificial Intelligence) หรือที่แปลเป็นไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งอาจสรุปได้สั้นๆ ว่าเป็นศาสตร์ของการสอนคอมพิวเตอร์หรือสมองกลให้รู้จักฉลาดคิดฉลาดตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้ไม่แพ้มนุษย์นั้น ตอนนี้ถือว่ากำลังอยู่ในช่วงร้อนแรงเลยนะคะ โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ที่ศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่างมนุษย์และ AI กลับมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อปีก่อน AlphaGO หรือ AI ของ Google DeepMind แสดงฝีมือเล่นหมากล้อม (เกมกระดานที่ได้ชื่อว่ามีความซับซ้อนมากที่สุดในโลก) เอาชนะมือวางอันดับต้น ๆ ของโลก Lee Se-dol จากเกาหลีใต้ไปอย่างขาดลอย 4:1 กระดาน มาปีนี้สัปดาห์นี้ ถึงเวลาที่เซียนหมากล้อมระดับโลกชาวมนุษย์เราจะมาทวงคืนศักดิ์ศรีจาก AI กันอีกครั้งค่ะ ซึ่งหนนี้รวมถึงการแข่งขันแบบตัวต่อตัวนัดสำคัญระหว่าง AlphaGO และ Ke Jie มือหนึ่งของโลกชาวจีนด้วย โดย ณ วันที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้อยู่เป็นที่น่าเสียดายว่า Ke Jie ได้พ่ายแพ้กระดานแรกแก่ AlphaGO ไปแล้วพร้อมบทสัมภาษณ์ว่า “เขาแพ้โดยสิ้นเชิง และหาจุดอ่อนของ AlphaGO ไม่พบเลยจริง ๆ”

หากจะว่ากันแล้ว AI ก็ไม่ใช่ศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ใหม่’ เลยสักนิดนะคะ ตัวผู้เขียนเองได้เรียนวิชา AI มาตั้งแต่สมัยปริญญาตรีเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเชื่อว่าหลักสูตรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยเรา ก็มีการเรียนการสอนวิชา AI กันมานานนับสิบปีแล้วเช่นกัน แต่จากวันนั้นที่ผู้เขียนได้เรียนและติดใจในสเน่ห์ของ AI เป็นครั้งแรกมาสู่วันนี้ ก็ต้องบอกเลยค่ะว่าคำว่า AI ในมุมมองและการรับรู้ของคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนักวิชาการหรือนักวิจัยนั้นเปลี่ยนไปมากจริงๆ

หากเป็นเมื่อหลายปีก่อน คนเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์หรือวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็มักจบออกมาประกอบอาชีพเป็นนักพัฒนา (Developer) หรือโปรแกรมเมอร์ (Programmer) ตามบริษัทต่างๆ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องเคยคิดกันแน่ ๆ คือ สมัยเรียนทำไมถึงต้องถูกให้เรียนอะไรยากๆ อย่างแคลคูลัส (Calculus) พีชคณิตเชิงเส้น (Linear Algebra) คณิตศาสตร์ไม่ต่อเนื่อง (Discrete Mathematics) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฯลฯ ด้วย ทั้งที่เวลาทำงานโปรแกรมเมอร์ (ส่วนใหญ่ในประเทศไทย) แค่มีความสามารถในการแปลโจทย์ปัญหาจากลูกค้า มีตรรกกะคิดและเรียบเรียงวิธีแก้ปัญหาได้เป็นระบบระเบียบเพื่อแปลงวิธีแก้ปัญหาไปเป็นโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือเขียนโปรแกรมต่างๆ เป็นอย่างดี แค่นี้ก็ดูเหมือนจะเพียงพอแล้ว เรียกว่าต่อให้ใครต่อใครมาอธิบายว่าเรื่องคณิตศาสตร์และตัวเลขยากๆ เหล่านั้นน่ะ “มี” คนที่เรียนแล้วได้เอาไปใช้งานต่ออยู่จริงๆ นะ แต่คนเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะเป็นจำนวนที่น้อยและไกลตัวผู้ประกอบอาชีพสายเทคโนโลยีและโปรแกรมเมอร์ที่ทำงานในไทยเสียจนยังไง ๆ มันก็ไม่รู้สึก “อิน” และมองไม่เห็นภาพว่าการเรียนคณิตศาสตร์และ AI ยาก ๆ มีความจำเป็นต่อการประกอบอาชีพสายเทคโนโลยีโดยเฉพาะโปรแกรมเมอร์ในไทยที่ตรงไหน

แต่มาวันนี้อะไรๆ ก็เริ่มจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดแล้วค่ะ ล่าสุดที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตวิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้สมัครบางรายยอมรับเองตรง ๆ เลยว่าเคยเรียนวิชา AI มาแล้วสมัยปริญญาตรี แต่ตอนนั้นรู้สึกว่า AI หรือคณิตศาสตร์ยากๆ ที่ถูกให้เรียนในหลักสูตรนั้นมันไกลตัวเสียจนไม่คิดจะใส่ใจ มองเป็นแค่วิชาหนึ่งที่ต้องเรียนให้ผ่านๆ ไป สอบเสร็จก็ลืมหมด แต่มาวันนี้เขารู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว AI ศาสตร์ที่เกี่ยวกับความฉลาดของคอมพิวเตอร์มันรุกคืบเข้ามามากจนไม่สามารถวางเฉยได้ แถมนับวันงานเขียนเว็บหรือเขียนโปรแกรมธรรมดาทั่วไปที่ทำมาแต่ก่อนก็มีแต่จะทรงตัว (จากการดูแลรักษาระบบเดิมให้ลูกค้าเก่า) และน้อยลงเรื่อยๆ วันนี้เขาเลยต้องรีบมาเสริมความรู้ให้ตัวเองเสียใหม่เพื่อให้เท่าทัน AI และซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ฉลาดๆ ของคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะสายเกินไป โดยกะว่านอกจากตัวเองจะสามารถใช้งานและพัฒนาโปรแกรมที่มีความฉลาดแบบ AI ได้แล้ว ยังอาจต่อไปถึงการนำเสนอระบบคอมพิวเตอร์ AI ฉลาดๆ เป็น solution ทางเลือกใหม่ๆ ที่จะขยายฐานลูกค้าของบริษัทออกไปได้อีกด้วย ซึ่งผู้สมัครรายนี้รับปากอาจารย์ผู้สัมภาษณ์เป็นมั่นเป็นเหมาะเลยค่ะว่าหนนี้จะเอาจริงและตั้งใจเรียนแน่ ๆ

อีกหนึ่งรายที่น่าสนใจ คือ ผู้สมัครที่แสดงความเห็นกับคณะอาจารย์ที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ตรงๆ เลยว่าเขาคิดว่าเดี๋ยวนี้ความรู้อะไรๆ ก็สามารถเรียนรู้เองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญา แต่สำหรับเรื่องศาสตร์ที่เกี่ยวกับ AI (ซึ่งก็หมายรวมไปถึงศาสตร์สุดฮ็อต ณ ขณะนี้อย่างวิทยาการข้อมูลหรือ Data Science ด้วย) นั้นมันค่อนข้างยาก แม้จะพยายามหาอ่านความรู้ด้วยตัวเองแล้วก็ยังรู้สึกว่าเข้าใจได้ไม่สุด จึงตัดสินใจมาสมัครเรียนปริญญาโทเพื่อหาความรู้ที่ต้องการมาเติมให้เต็ม

ถ้าถามผู้เขียนว่าอะไรคือ “การรุกคืบของ AI” ที่ทำให้บรรดาโปรแกรมเมอร์และผู้ทำงานสายเทคนิคเทคโนโลยีในประเทศไทยเราตื่นตัวกันได้เป็นรูปธรรมอย่างนี้ ก็คงต้องบอกว่ามันคือสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในเกือบทุกอย่างที่เป็นเทคโนโลยีรอบตัวเราในวันนี้ค่ะ หากคุณผู้อ่านติดตามข่าวสารในแวดวงเทคโนโลยีก็จะสังเกตนะคะว่าช่วง 2-3 ปีมานี้ระบบใหม่ๆ ที่ถูกนำเสนอและคิดค้นมาล้วนเป็นระบบที่มีความฉลาดหรือมี AI เป็นส่วนหนึ่งทั้งสิ้น และล่าสุดนี้ในงาน Google I/O 2017 ผู้บริหารของกูเกิลก็พูดชัดเจนเลยค่ะว่าต่อไปนี้จะไม่เหมือนแต่ก่อนที่อะไรๆ ก็ต้อง Mobile แต่จะกลายเป็นอะไรๆ ก็ต้อง AI แทนแล้ว (“Mobile First to AI First”)

ตัวอย่างของ AI ที่อยู่(หรือกำลังจะเข้ามาอยู่)ในชีวิตประจำวันของพวกเรา ก็เช่นระบบที่ใกล้ตัวสุดๆ อย่างการเลือกแสดงข้อมูลหรือโฆษณาที่ตรงกับความสนใจของแต่ละคนใน Facebook หรือ Google , ระบบที่ใช้เสียงพูดแทนการกดแป้นพิมพ์พิมพ์ตัวอักษรในสมาร์ทโฟน , chat bot ที่สามารถพูดคุยและตอบคำถามกับลูกค้าแทน call center ที่เป็นคนจริงได้ , รถไร้คนขับที่เริ่มทดลองวิ่งแล้วในหลายๆ เมืองทั่วโลก , Amazon Go ห้างสรรพสินค้ารูปแบบใหม่ที่ขั้นตอนการเดินเลือกซื้อของ การจับจ่ายและการคิดเงินเป็นอัตโนมัติทั้งหมด , ระบบความเป็นจริงเสริม (AR: Augmented Reality) ที่ผู้บริหารของ Apple ถึงกับเคยออกปากว่าในอนาคตมันจะมีความสำคัญมากเทียบเท่าข้าวสามมื้อ ที่คนเรารู้สึกว่าขาดมันไม่ได้ , ระบบช่วยวาดรูปของกูเกิลชื่อ AutoDraw ที่แค่ลากเส้นนำให้ไม่กี่เส้น ระบบก็เดารูปที่เราจะวาดออกมาได้ทันที , ระบบ AI สำหรับช่วยแต่งภาพ Selfie ชื่อ Sensei ของค่าย Adobe , ระบบการคัดแยกผลิตผลทางการเกษตรจากรูปภาพโดยอัตโนมัติ , ระบบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อกู้ยืมจากการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต ฯลฯ

ทั้งนี้รวมถึงอุปกรณ์หรือแกดเจ็ตอัจฉริยะอื่น ๆ อย่าง smart watch ที่เซ็นเซอร์ภายในสามารถติดตามกิจกรรมของเราในแต่ละวันและสรุปผลได้ กระเป๋าเดินทางอัจฉริยะที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองเพื่อตามติดเราที่เป็นเจ้าของได้โดยไม่ต้องออกแรงลาก และอื่น ๆ อีกมากมายตั้งแต่แปรงหวีผม เสื้อผ้า และรองเท้าอัจฉริยะ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ต่างเป็นลักษณะของซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ที่ไม่เพียงแค่รับข้อมูลดิบมาแล้วนำมาแสดงผลต่อตรงๆ แต่ข้อมูลดิบเหล่านั้นต้องผ่านกระบวนการคัดแยก คัดกรอง และ วิเคราะห์หลายต่อหลายชั้น กว่าที่ข้อมูลดิบซึ่งเป็นแค่ชุดตัวเลขที่ไม่มีความหมาย จะกลายออกมาเป็นผลลัพธ์ฉลาดๆ ที่เรียกกันว่า AI ได้

เทียบกับในต่างประเทศ อาจถือได้ว่าโปรแกรมเมอร์ในประเทศไทยเราขยับตัวช้ากันไปสักนิด แต่จากที่ครั้งหนึ่ง AI (ซึ่งภายในมีคณิตศาสตร์ที่ว่ากันว่ายากอยู่เกือบครบทุกแขนง) เป็นได้แค่วิชายากๆ ที่มีไว้ใช้ตัดเกรดสมัยเรียนมหาวิทยาลัย มาถึงวันนี้ที่ AI กลายเป็นสิ่งที่โปรแกรมเมอร์ในไทยเรารับรู้ได้ถึงความสำคัญ ตื่นตัว และ เพียรพยายามที่จะเรียนรู้เข้าใจมันให้ได้ สำหรับผู้เขียนก็ถือว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้คุ้มค่าการรอคอยแล้วค่ะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
สาขา Interactive Media Science http://interactivemedia.nida.ac.th/
วิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์ เตรียมความพร้อมสู่การเป็น Creative Programmer ยุค Thailand 4.0

กำลังโหลดความคิดเห็น