xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”ไม่ปฏิเสธเลือกตั้ง เตือนคสช.กุมอำนาจต้องฟังเสียงปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการดำเนินการของพรรค หลังผลประชามติเห็นชอบร่างรธน. ว่า ต้องดูว่า คสช. จะอนุญาตให้พรรคการเมืองประชุมได้หรือไม่ ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรธน.นั้น ตนไม่ทราบว่า ครม.จะมีนโยบายอย่างไร แต่ควรจะมองไปข้างหน้า ถึงปัญหาของประเทศ เศรษฐกิจ ความขัดแย้ง การคอร์รัปชัน เรื่องปฏิรูป ที่ประชาชนเห็นชอบ เพราะต้องการให้เรื่องเหล่านี้เดินไปข้างหน้า และเป็นโจทย์ที่พรรคต้องรับไป
ส่วนที่ กรธ. เตรียมขอความเห็นในการร่างกฎหมายลูกนั้น ก็ต้องรอว่าจะมีการขอความเห็นอย่างไร ซึ่งการร่างกฎหมายลูก ก็จะเป็นไปตามหลักของรธน. เพียงแต่หลายเรื่อง ตนไม่แน่ใจว่าจะสามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เช่น โครงสร้างพรรค แต่ก็พร้อมจะให้ข้อมูล
เมื่อถามว่าผลที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยอมรับให้ คสช. บริหารประเทศ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าประชาชนต้องการเดินหน้า และอาจมีความพอใจต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการเห็นความวุ่นวายความขัดแย้งอีก สำหรับตนจุดยืนยังไม่เปลี่ยน แม้จะทราบผลการทำประชามติล่วงหน้า แต่จุดยืนที่ตนแสดง เป็นความเห็นที่สุจริตต่อร่างรธน. แต่เมื่อประชาชนตัดสินใจเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับ
"เมื่อการจัดทำประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็อยากให้ทุกฝ่ายอมรับ แต่ฝ่ายที่ดูแลบ้านเมืองก็ต้องคิดด้วย เพราะประชาชนที่ไปใช้สิทธิ ยังต่ำกว่าเป้า แม้เสียงที่ไม่เห็นชอบ จะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ผู้มีอำนาจก็ต้องรับฟังด้วย และพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านี้ด้วย "
ส่วนความขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะถูกกดโดยกติกาต่างๆของคสช. จะทำให้เดินหน้าไปอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าเมื่อ คสช. ได้เดินหน้าตามกติกานี้ พร้อมคำถามพ่วง คสช. ก็สามารถเดินตามแนวทางที่วางไว้ได้ แต่ที่ย้ำให้คิดถึงทุกคน เพราะในอดีตบ้านเมืองที่เกิดปัญหามาจากเสียงข้างมาก ไม่ยอมให้พื้นที่ หรือรับฟังเสียงข้างน้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญหนึ่ง ตนเชื่อว่าทุกคนจะประคับประคองสถานการณ์ไปได้
**ยันแพ้โหวตไม่เกี่ยวงดเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่เรียกร้องให้ฝ่ายไม่รับร่าง รธน. ไม่ควรลงเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็แล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคน ที่ผ่านมาการแสดงจุดยืนของตน เป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ที่ห่วงใยต่อความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในโครงสร้าง และมาตรการการปราบปรามทุจริต คอรัปชั่น ไม่มีส่วนใดไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง
"ส่วนพื้นที่ภาคใต้ มีคะแนนเห็นชอบมากนั้น ผมก็ไม่ได้กังวล เพราะเคารพทุกความเห็น เข้าใจในความรู้สึกของประชาชนที่ตัดสินใจ ความจริงผลที่ออกมา หากดูในรายจังหวัด จะพบว่าคะแนนต่อคำถามพ่วง จะใกล้เคียงกับการทำประชามติ ปี 50 ชัดเจนมาก หากวิเคราะห์ถึงผลคะแนน จึงไม่แปลกอะไร เพราะภาคใต้เองก็มีผลคะแนนคล้ายกับประชามติ ปี 50 เพียงแต่คะแนนที่รับ ร่างรธน. จะลดลงมา มีที่พลิกไปเลยก็คือ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะเท่าที่ติดตาม ปัญหาในพื้นที่อาจสะท้อนถึงความข้องใจ ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่า คะแนนนิยมชองพรรค จะลดลงน้อยกว่าคะแนนนิยม กปปส. นั้น ผมไม่คิดว่าเรื่องการลงคะแนนประชามติ จะเป็นเรื่องของพรรค หรือกลุ่มการเมือง เพราะประชาชนตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานความต้องการ ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร หากไปสรุปเช่นนั้น เหมือนกับจะไม่จดจำการทำประชามติปี 50 เดือน ส.ค.ฝ่ายที่รับชนะ 57% ต่อ 43% แต่ในอีก 3 เดือนต่อมา พรรคการเมืองที่ไม่รับก็ชนะการเลือกตั้ง ตนเข้าใจในการตัดสินใจลงคะแนนในแต่ละครั้ง ว่ามีปัจจัยเฉพาะ ซึ่งตนก็รับฟังความรู้สึกและอารมณ์ เพื่อปรับแนวทางของพรรคเช่นกัน ยืนยันว่า อุดมการณ์ของพรรค ยังมีจุดยืนเหมือนเดิม "
เมื่อถามความเห็นต่างของสมาชิกพรรคบางส่วน จะทำให้พรรคแตกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองและนักการเมือง จะต้องยึดถืออุดมการณ์ ถ้าเราไปสนับสนุนพรรค หรือนักการเมือง ที่ไม่สนใจอุดมการณ์ใดๆ เลย ส่วนตัวมองว่าอันตรายมากว่า ดังนั้นตนจึงเคารพจุดยืน และความเห็นต่าง เพราะไม่ได้ขัดแย้งหรือต่อสู้กับใคร และไม่ได้รณรงค์ใดๆ ด้วยซ้ำ เมื่อถามย้ำว่า ในพรรคที่มีสมาชิก เป็นแกนนำกปปส. ร่วมอยู่ด้วย จะสามารเดินหน้าพรรคต่อไปได้ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคก็เป็นเรื่องของผู้บริหารพรรค และสมาชิกพรรคทุกคน ที่มีส่วนต้องช่วยกัน ทำให้พรรคเป็นที่ยอมรับ เป็นที่พึ่งหวังขอประชาชน โดยรับฟังเสียงของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องทำ

** ยันกปปส.-ปชป.ยังเหนียวแน่น
ด้านนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส. และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลคะแนนประชามติ ในภาคใต้ว่า แสดงให้เห็นว่าคนไทยได้ปฏิรูปตัวเองแล้ว มีแต่นักการเมือง และข้าราชการบางคน ที่ยังไม่ปฏิรูป ซึ่งประชาชนได้ปฏิรูปตัวเองตั้งแต่มีโรงเรียนการเมือง หรือแลกเปลี่ยนความเห็นท่ามกลางบรรยากาศข้างถนน เป็นระยะเวลา 204 วัน นั่นคือ การชุมนุมของมวลมหาประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องภาคใต้ ที่เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก เขาได้ปฏิรูปตัวเองไปแล้ว อย่างไรก็ตาม นักการเมืองต้องนำไปวิเคราะห์ และถอดบทเรียนว่า นักการเมืองไม่สามารถที่จะสั่งประชาชนได้แล้ว ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย นักการเมืองก็สั่งไม่ได้ ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งที่ กปปส.ไม่ได้ลงคะแนนเสียงตามที่หัวหน้าพรรคตัดสินใจ ทั้งที่ กปปส.ยังสังกัดประชาธิปัตย์อยู่ เป็นเพราะเหตุว่า เป็นความคิดส่วนตัวของหัวหน้า แม้จะอ้างอุดมการณ์ของพรรคก็ตาม เมื่อไม่ได้เป็นมติพรรค การตัดสินใจของหัวหน้าจึงไม่ใช่กฎเหล็กที่ต้องอยู่ในกรอบนั้น
"ใครก็แล้วแต่ ที่หวังดีว่า กปปส.จะแตกกับประชาธิปัตย์ ขอให้สบายใจได้ว่าเรายังคงเหนียวแน่น มีความเป็นประชาธิปัตย์เหมือนเดิม องค์กรของเรายังคงเคารพนับถือผู้ใหญ่ในพรรคเหมือนเดิม และ กปปส.ทุกคนยังเคารพนับถือผู้ใหญ่ในพรรค แม้ความเห็นของเราจะแตกต่างกับผู้ใหญ่ในพรรคก็ตาม ถือเป็นเรื่องการให้เกียรติในการที่จะแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ประชาธิปัตย์ ก็ต้องถอดบทเรียนว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น ต้องโปร่งใส ไม่ใช่คิดแต่การเลือกตั้งทุกตำแหน่ง" อดีตแกนนำ กปปส. กล่าว
สำหรับการมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และมี ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่งนั้น นายถาวร กล่าวว่า มวลมหาประชาชนยังมีนกหวีดเป็นอาวุธ เมื่อคิดว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมากมีส.ว.ในมือ 250 เสียงแล้วให้ดูบทเรียนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีเสียงข้างมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเอาชนะเจ้าของอำนาจได้ ดังนั้น เราจะจับตามองนับแต่การร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับ และอยากฝากคือ ต้องเปิดใจกว้าง รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน
"คสช.ได้อำนาจอย่างน้อย 4-8 ปีไปแล้ว จะเรียกว่าสืบทอดอำนาจก็ไม่ผิด แต่เสียงข้างมากที่ได้ไปนั้น อย่าใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ขอให้รับฟังเสียงข้างน้อยด้วย เพื่อให้การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยได้เซ็ตตัวเองตัวเอง และหันมาทบทวน" นายถาวร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น