กกต.คาดประกาศผลประชามติแบบทางการได้ 10 ส.ค. ส่วนฉีกบัตรไว้ศึกษาเพื่อแก้ไขต่อ ด้าน “สุริยะใส” เชื่อคนโหวตรับอยากเห็นการเมืองขยับอย่างมีเสถียรภาพตามโรดแมป ชี้คน 28 ล้านมาลงคะแนนเพราะอยากมีส่วนร่วม จี้ คสช.ปฏิรูปจริงจัง จะทำตามอำเภอใจไม่ได้ บี้นักการเมืองปฏิรูปตัวเอง ไล่กองทัพพิจารณาเหตุชายแดนใต้ไม่รับร่างฯ พุ่ง แนะปรับปรุงปรองดองเหนือ-อีสาน
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประวิช รัตนเพียร กกต. เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้จะมีการพิจารณาภาพรวมการจัดการออกเสียงประชามติ แต่ยังไม่สามารถรายงานผลอย่างเป็นทางการได้เพราะยังต้องรอเอกสารยืนยันผลคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยที่จะสรุปรวบยอดอย่างเป็นทางการ คาดว่าในวันพุธที่ 10 สิงหาคมนี้จะสามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ ส่วนกรณีปัญหาการฉีกบัตรออกเสียงที่เกิดขึ้น กกต.ก็จะศึกษาไว้เป็นบทเรียน แต่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะไม่มีปัญหาเพราะใช้บัตรเพียงใบเดียว แต่ กกต.จะไม่ให้เกิดรอยประขึ้นอีก หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของ กรธ.ที่จะไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ในส่วนของ กกต.หลังจากนี้ที่ประชาชนจะต้องจับตา คือ การทำความเห็นประกอบการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับต่อไป
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตนเห็นว่าผลการลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แม้ไม่อาจอธิบายด้วยตรรกะอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทั้งหมด เพราะการลงประชามติครั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่าเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองที่หลากหลายและสลับซับซ้อนกว่าการลงประชามติเมื่อปี 2550 ทำให้เป้าหมายและความคาดหวังต่างกันอาจจะไม่เป็นเอกภาพเดียวกันทั้งหมดก็ตาม แต่อารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในเสียงส่วนใหญ่คือคนอยากเห็นการเมืองขยับไปข้างหน้า มีเสถียรภาพมากขึ้น และเดินไปตามโรดแมป แม้เหตุผลบางข้อของฝ่ายไม่รับร่างอาจจะดูดีมีน้ำหนักเช่นอยากเห็นร่างรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ แต่คนก็อาจรู้สึกว่าไม่มีหลักประกันหรือไม่แน่ใจว่าจะดีกว่านี้ หรือห่วงว่าร่างกันใหม่จะเป็นเงื่อนไขความแตกแยกอีกหรือไม่
นายสุริยะใสกล่าวว่า ทั้งนี้ผลของประชามติทำให้เห็นภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปคิดและพิจารณาอย่างน้อย 5 ประการ ประการแรก ผู้มาใช้สิทธิกว่า 28 ล้านคนมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ไม่ว่าจะออกเสียงด้วยแรงจูงใจอย่างใดก็ตาม ล้วนแต่เห็นความสำคัญและอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ฉะนั้นกระบวนการปฏิรูปใดๆ โดยเฉพาะการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต่อจากนี้ไปต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ประการที่ 2 คสช.ไม่ควรมองว่าเป็นชัยชนะทางการเมือง แต่ต้องถือเป็นหน้าที่และความรับผิดขอบที่จะบริหารอำนาจและช่วงเวลาที่เหลือให้การเมืองเข้าสู่การปฏิรูปอย่างจริงจังได้อย่างไร เพราะการปฏิรูปไม่ใช่รอรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกบังคับใช้อีก 15 เดือนเท่านั้น แต่รัฐบาลหรือ คสช.สามารถทำให้เห็นผลได้เลย ที่สำคัญคะแนนคำถามพ่วงต่ำกว่าคะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นเครื่องยืนยันว่า คสช.จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้
ประการที่ 3 พรรคการเมืองใหญ่ประกาศชัดและค่อนข้างเป็นเอกภาพไม่รับร่างรัฐธรรมนญ แต่คะแนนพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของแต่ละพรรคในหลายจังหวัดกลับสวนทางกับจุดยืนพรรค เป็นบทสะท้อนว่านักการเมืองและพรรคการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองอย่างจริงจัง เพราะอาจส่งผลให้วิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมืองสูงมากขึ้นจนทำให้หลังเลือกตั้งการเมืองกลับมาล้มเหลวอีกครั้ง ประการที่ 4 กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่โหวตไม่รับร่างฯ และคำถามพ่วงทั้งๆ ที่เป็นเขตอิทธพลของทหารและฝ่ายปกครองและหลายอำเภอยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ด้วย ผลโหวตครั้งนี้กองทัพต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะอาจกระทบต่อแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ในระยะยาวด้วย ประการที่ 5 ปริมณฑลของความขัดแย้งและขั้วข้างทางการเมืองหลักยังดำรงอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนืออิทธิพลของอำนาจเก่ายังอยู่ในระดับที่สูงซึ่งเป็นบทสะท้อนผลงานด้านปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาลยังต้องปรับปรุงหรือมีผลงานมากกว่านี้