xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ผ่านฉลุย "มาร์ค-นปช."ยอมรับสภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.เผยผลลงประชามติไม่เป็นทางการ รับร่างรธน. 61.40% รับคำถามพ่วง 58.11% มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 58% คาด 10 ส.ค.ประชุมเพื่อรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ชี้คนเจตนาฉีกบัตรผิดกม.แน่ "มาร์ค" แถลงยอมรับสภาพ เพื่อไทยชี้ร่างรธน.ผ่าน เพราะคนอยากเลือกตั้งเร็ว "ตู่" จวก"กกต. - คสช." จัดประชามติห่วย สร้างความหวาดกลัวจนคนใช้สิทธิ์น้อย

วานนี้ (7 ส.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ณ เวลา 19.33 น. ซึ่งเป็นผลการนับคะแนนไปแล้ว 94% จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศ 27,623,126 คน พบว่า ประเด็นที่ 1 ในส่วนของร่างรธน. มีประชาชนเห็นชอบ 15,562,027 คน หรือคิดเป็น 61.40% และไม่เห็นชอบ 9,784,680 คน หรือคิดเป็น 38.60%

ส่วนประเด็นที่ 2 ในส่วนของคำถามพ่วงท้าย มีประชาชนเห็นชอบ 13,969,594 คน หรือคิดเป็น 58.11% และไม่เห็นชอบ 10,070,599 คน หรือคิดเป็น 41.89%

ทั้งนี้ มีจำนวนบัตรดี 26,688,729 ล้านใบ และบัตรเสีย 869,043 ใบ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการว่า ผลคะแนนออกเสียงประชามติอย่างไม่เป็นทางการคงไม่คลาดเคลื่อนกับผลคะแนนอย่างเป็นทางการมากนัก และตัวเลขคะแนน คงไม่มีการกลับผลไปในทางตรงกันข้าม เพราะคะแนนเห็นชอบ และไม่เห็นชอบ ทั้งสองประเด็นมีจำนวนห่างกันมากพอ อีกทั้งจากผลการรายงานอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าในการทำประชามติครั้งนี้ มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ ประมาณ 58 % ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งมากกว่าการทำประชามติปี 2550 แต่ น้อยกว่าที่กกต.ตั้งเป้าไว้

เมื่อถามว่าการที่มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 58 % จะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงฉันทามติหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า กติกาก็คือกติกา ที่การออกเสียงประชามตินับเพียงคนที่มาใช้สิทธิออกเสียง ไม่ว่าผู้มาใช้สิทธิจะมีจำนวนถึงครึ่ง หรือไม่ ก็ให้ยึดตามเสียงข้างมาก และถือเป็นที่ยุติ ซึ่งเป็นหลักสากลที่ใช้ในหลายประเทศ จึงไม่น่าเป็นสาเหตุ ที่จะมาตั้งคำถามว่าจะเป็นฉันทามติได้หรือไม่ นอกจากจะหาเรื่อง ส่วนตัวเห็นว่าไม่เหลืออะไรให้คิดแล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มนปช.ประกาศว่าหากผู้มาใช้สิทธิไม่ถึง 80 % ขอให้กกต.ลาออกทั้งชุด นายสมชัยตอบสั้นๆว่า ก็พูดได้เรื่อยๆ

**"มีชัย"เชื่อไม่เกิดปัญหาหลังประกาศผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังปิดหีบการลงประชามติ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.และคณะ ได้เดินทางไปสังเกตการณ์การนับคะแนนการออกเสียงประชามติที่บริเวณโรงเรียนพันธะวัฒนา และศูนย์เยาวชนสวนอ้อย ถ.สุโขทัย เขตดุสิต โดยระหว่างการสังเกตการณ์ดังกล่าว นายมีชัย ได้เข้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ได้เข้าไปซักถาม ถึงการขานคะแนนของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยที่ขานคะแนนบนบัตรออกเสียงที่ถูกกาคะแนนเฉพาะความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กาคะแนนส่วนของคำถามประกอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่บางหน่วยได้ขานว่า เป็นบัตรเสีย แต่บางหน่วยซึ่งใกล้กันขานว่า บัตรดีบางส่วน และมองว่าอาจอาจเกิดปัญหาตอนรายงานผลอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากจำนวนบัตรอาจไม่สัมพันธ์กับการออกเสียงที่แท้จริง สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้น เชื่อว่า กกต. จะนำไปปรับปรุงการทำงาน โดยเฉพาะการอบรมเจ้าหน้าที่ที่ต้องให้เป็นรูปแบบเดียวกัน

ทั้งนี้นายมีชัย กล่าวถึงผลการนับคะแนนประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งพบว่า คะแนนเห็นชอบ มีมากกว่าคะแนนไม่เห็นชอบ แต่ไม่ทิ้งขาดลอยว่า ตนเชื่อว่า ผลคะแนนประชามติที่ปรากฏไม่เป็นทางการ จะไม่เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือความกดดันต่อการทำงานของฝ่ายใด หากให้การยอมรับกับผลออกเสียงที่เกิดขึ้น เหมือนกับการยอมรับผลลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎร ที่ชนะกันเพียง 20 -40 คะแนน ก็ไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้น

"สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเวลาเลือกตั้งตรงไปตรงมา ประชาชนได้ตัดสินตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชน โดยไม่มีคนอื่นเกี่ยวข้อง บางทีก็สูสีอย่างนี้ ส่วนผลออกมาแล้วเกิดการไม่ยอมรับ ฝ่ายความมั่นคงต้องไปดูแล ส่วนผลที่อาจจะออกมาขอให้ลองคิดกลับว่า หากเห็นชอบ 50.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นชอบ 49.5 เปอร์เซ็นต์ แล้วรู้สึกว่ามีปัญหา ก็ลองคิดกลับว่าหาก ไม่เห็นชอบ 50.5 เปอร์เซ็นต์ และเห็นชอบเพียง 49.5 เปอร์เซ็นต์ จะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งผมมองว่าไม่มีปัญหาเหมือนกัน" นายมีชัย กล่าว

**"นิด้าโพล" ชี้รับร่างรธน.ชนะขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปิดหีบการใช้สิทธิออกเสียงประชามติ "นิด้าโพล" ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการลงประชามติร่างรธน.ครั้งนี้ โดยสำรวจระหว่างวันที่ 2 - 6 ส.ค.59 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 5,849 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจลงประชามติร่างรธน. และคำถามพ่วง พบว่า การตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติรับ หรือไม่รับร่างรธน.นั้น พบว่า ส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 76.87 ระบุว่า ไปลงมติรับร่างรธน. รองลงมา ร้อยละ 18.68 ระบุว่า ไปลงมติไม่รับร่างรธน. และร้อยละ 4.45 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน

ส่วนคำถามพ่วง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.35 ระบุว่าไปลงมติเห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 38.26 ระบุว่า ไปลงมติไม่เห็นด้วย และ ร้อยละ 3.39 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน

ขณะที่ กรุงเทพโพล ก็ได้เผยแพร่ ผลสำรวจการคาดการณ์ การออกเสียงประชามติร่างรธน. โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 9,564 คน พบว่า ประชาชนเห็นชอบร่างรธน. ร้อยละ 57.3 ไม่เห็นชอบ ร้อยละ 42.7

**"มาร์ค"น้อมรับผลประชามติ

เมื่อเวลา 18.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขอน้อมรับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน ที่ได้ไปลงประชามติรับร่างรธน.และคำถามพ่วงในครั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของการลงประชามติดังกล่าว จากนี้ไปคสช. จะมีหน้าที่เดินหน้าประเทศไทยตามโรดแมปที่ได้วางไว้ ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2560

ปัญหาของประเทศที่รอการแก้ไขมีอยู่มาก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน หนี้สิน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงการจะต้องเร่งรัดการปฏิรูป เมื่อได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตนและพรรคประชาธิปัตย์ จะเร่งเดินหน้าเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

**"ตู่"จวกกกต. - คสช. จัดประชามติห่วย

เมื่อเวลา 16.30 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. พร้อมแกนนำกลุ่มนปช. แถลงภายหลังการปิดหีบลงคะแนนออกเสียงประชามติว่า ขอประณาม กกต. และคณะรักษความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สร้างบรรยากาศประชามติภายใต้ความกลัว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ประชาชนควรมีความตื่นตัวมากกว่านี้ ดังนั้น ทาง กกต. ควรแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกทั้งคณะ เพราะเมื่อไม่มีรณรงค์พื้นที่ที่มีความเห็นต่าง จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง และภาพรวมการประชาสัมพันธ์ยังสร้างความตื่นตัวไม่ทั่วถึง

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมีความเป็นห่วงเรื่องการชี้นำผลการออกเสียง โดยทางกรุงเทพโพล และ นิด้าโพล ได้มีการเปิดเผยว่า ประชาชนรับร่างรธน. กว่าร้อยละ 57 และ ร้อยละ 76 ซึ่งมองว่าการรวมคะแนนยังเป็นปัญหา เพราะเป็นการสร้างความเชื่อว่า การลงคะแนนไปถึงตัวเลขดังกล่าว ดังนั้นต้องพิสูจน์การนับคะแนน และขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งหากลงประชามติโปร่งใส ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร บ้านเมืองก็เดินหน้าต่อไป ถ้าหากมีการทุจริตในการทำประชามติ อำนาจตาม มาตรา 44 ก็คงควบคุมไม่อยู่

นายจตุพร กล่าวย้ำดว่า หากร่างรธน.ผ่านประชามติ ส่วนตัวจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างแน่นอน

**พท.ชี้รธน.ผ่านเพราะคนอยากลต.

เวลา 19.15 น. ที่พรรคเพื่อไทย คณะผู้บริหารพรรค นำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงข่าว หลังทราบผลประชามติ ที่ประชาชนส่วนใหญ่รับร่างรธน. และคำถามพ่วง โดยพล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ผลที่ออกมาไม่ผิดจากที่พรรคคาดไว้ เพราะมีสาเหตุหลักคือ ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ทั้งนี้ อยากขอร้องทุกฝ่ายช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แม้ขณะนี้ประชาธิปไตยจะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ด้านนายภูมิธรรม กล่าวว่า การลงประชามติในครั้งนี้เรามองว่ามีลักษณะไม่เสรี ไม่มีความเป็นธรรม ผิดธรรมชาติ ไม่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ อีกทั้งผลการลงประชามติครั้งนี้ มีผู้ใช้สิทธิเพียง ร้อยละ 50 น้อยกว่าการลงประชามติปี 50 ที่มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 57 และเสียดายที่ครั้งนี้ เราได้ร่างรธน. ที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าที่ถูกฉีกไป แต่ถึงอย่างไรประเทศต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะยังมีปัญหาที่ยังคงดำรงอยู่ หลังจากนี้จึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนแถลงนี้เป็นท่าทีของพรรคในเบื้องต้น เพราะหลังจากทราบผลประชามติอย่างเป็นทางการจะมีประชามติของพรรคอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่า การที่พรรคเพื่อไทย แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างรธน.มาตลอด ดังนั้นการเลือกตั้งปี 60 จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า คงต้องขอรอดูรายละเอียดทั้งหดมก่อน แต่เรายังจะสู้ต่อ โดยเรียกร้องให้มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องต่อไป

** "ป๋าเปรม"หวังบ้านเมืองปรองดอง

ที่โรงเรียนสุโขทัย เขตดุสิต กทม. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เดินทางมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรธน. โดยพล.อ.เปรม มีชื่อใช้สิทธิ์อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด ลำดับที่ 419 ของ จ.นครราชสีมา เทศบาลนครราชสีมา

ทั้งนี้ พล.อ.เปรม ให้สัมภาษณ์โดยมีสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมเปิดเผยว่า มาใช้สิทธิ์ตามหน้าที่ ส่วนภาพรวมการเมืองต่อไปนั้น ตนไม่ทราบแต่ทุกคนต้องมาใช้สิทธิ์สักครั้งหนึ่ง อย่าปล่อยให้ตนเองเสียโอกาสนี้ไป เมื่อถามว่า ภาพรวมข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป พล.อ.เปรม กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหาร เมื่อถามอีกว่า แล้วหลังจากนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ความปรองดองจะเป็นอย่างไรต่อไป พล.อ.เปรม กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะพูดอย่างนี้ แต่วิงวอนว่า น่าจะเริ่มปรองดองกันให้มากขึ้นได้แล้ว

** ยิ่งลักษณ์-พจมานไปใช้สิทธิ

ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 32 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. ในช่วงเช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ โดยมี นายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ ร่วมเดินทางมาด้วย ขณะที่บรรยากาศที่หน่วย มีประชาชนมาลงคะแนนคึกคัก พร้อมทั้งมีมวลชนจำนวนหนึ่ง มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์ ภายหลังที่ออกเสียงประชามติว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาใช้สิทธิ และดีใจที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตประเทศ ส่วนที่ตนออกมาระบุว่า จะไม่รับร่างรธน.ก่อนหน้านั้น ถือเป็นการแสดงความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะได้เดินทางไปทำบุญที่ วัดลานบุญ เขตลาดกระบัง พร้อมทั้งได้ปล่อยปลาเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย ทันทีที่ ส.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาถึงวัดได้มีมวลชนมารอให้ดำลังใจมอบดอกไม่ พร้อมตะโกน "ยิ่งลักษณ์สู้ๆ" จำนวนมาก

ทางด้าน คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ โดยครั้งนี้ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาใช้สิทธิ์หน่วยออกเสียงที่ 16 หมู่บ้านเคหะธานี 3 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว โดยมี นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา น.ส.แพทองธาร บุตรชาย และบุตรสาว และนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ลูกเขย เดินทางมาด้วย อย่างไรก็ตาม มีเพียงคุณหญิงพจมาน ที่ใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้งนี้ ส่วนคนอื่นมีรายชื่ออยู่ที่เขตอื่น ทั้งนี้มีประชาชนมอบดอกไม้ให้กำลังใจกับคุณหญิงพจมาน และคณะด้วย

**ผิด กม. 88 รายฉีกบัตร 60ราย

ต่อมาเวลา 16.30 น. ที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ปต.ตร.) สรุปข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ในวันที่ 7ส.ค.ดังนี้ ฉีกบัตรลงประชามติทั้งสิ้น 60 ราย แยกเป็นพื้นที่นครบาล 10 ราย ภ.1 จำนวน 11ราย ภ.2 จำนวน 8ราย ภ.3จำนวน 8ราย ภ.4จำนวน 1รายภ.5 จำนวน 6รายภ.6จำนวน7ราย ภ.7จำนวน 5ราย ภ.8จำนวน2รายภ.9จำนวน 2ราย

ขณะที่ความผิดฐานขัดขวาง กกต.1ราย ในพื้นที่นครบาล และความผิดฐานจำหน่ายสุรา รวม 27ราย พื้นที่นครบาล 6ราย ภ.1จำนวน 2ราย ภ.2 จำนวน1ราย ภ.3จำนวน12ราย ภ.4จำนวน 2ราย ภ.7จำนวน 2รายและภ.9 จำนวน1ราย โดยรวมทุกฐานความผิดทั้งสิ้น 88ราย

** เจตนาฉีกบัตรมีความผิดแน่

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี พบการฉีกบัตรที่แสดงเจตนาทางการเมือง โดยเป็นการกระทำของนักศึกษาม.ธรรมศาสตร์ ในหน่วยออกเสียงเขตบางนา กรุงเทพฯ การแสดงออกดังกล่าวอาจเข้าใจว่า เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สามารถไปสู้คดีให้หลุดพ้นจากการลงโทษได้ หรืออาจเป็นการเลียนแบบ กรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเคยฉีกบัตรเลือกตั้งที่ถูกดำเนินคดีแล้ว เข้าใจว่าศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่ศาลได้ลงโทษเป็นตัวอย่างแล้ว โดยแม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 ส.ค.55 ว่าเป็นความผิดสั่งลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อ 3 มิ.ย. 57 ยืนตามศาลอุทธรณ์สั่งลงโทษ ซึ่งแปลว่า ณ วันนี้อาจารย์ที่ฉีกบัตรดังกล่าว ไม่สามารถไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

สำหรับนักศึกษาที่ฉีกบัตร คือนายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มธ. และนายกสมาคมเพื่อเพื่อน(FFA)โดยฉีกบัตรระหว่างการไปใช้สิทธิ ที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ชุดที่ 3 เขตบางนา ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่สั่งลงโทษอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ นายไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ฉีกบัตรขณะไปใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส. เมื่อปี 2549โดยในเนื้อหาคำพิพากษาศาลฎีกามีสาระสำคัญระบุว่า จำเลย (นายไชยยันต์ ชัยพร) ซึ่งได้ฉีกบัตรที่กาแล้ว ทั้งสองใบ ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 49 ได้โต้แย้งในชั้นศาลอุทธรณ์ว่า การเลือกตั้งดังกล่าวมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งไม่ชอบธรรม ทำให้ผลที่ออกมาไม่ชอบธรรม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ต้น บัตรเลือกตั้งดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นบัตรเลือกตั้ง และยังได้โต้แย้งในชั้นศาลฎีกาด้วยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิ์ต่อต้านโดยสันติวิธีตาม มาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงไม่น่าจะถือเป็นความผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการเลือกตั้งดังกล่าวมีสาเหตุจากพ.ร.ฎ.ยุบสภาในปี 2549 และกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 49 และจำเลยได้ไปใช้สิทธิ์ แต่เมื่อได้รับบัตรแล้วเดินเข้าไปในคูหาและกาเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้วได้ออกมาชูมือขึ้นพร้อมทั้งฉีกบัตรทั้งสองฉบับ จึงเป็นความผิดสำเร็จขณะที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2541 มาตรา 108 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันดังกล่าว ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลต่อการกระทำของจำเลย

"การใช้สิทธิ์ต่อต้านโดยสันติวิธีตาม มาตรา 65 ดังกล่าว ต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด" คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าว ระบุ

**"สมศักดิ์ เจียม"ซูฮกคนฉีกบัตร

นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Somsak Jeamteerasakul" ถึงกรณีที่ นายปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) นายกสมาคม FFA ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงลงประชามติ ในคูหาลงประชามติ เขตบางนา ซึ่งก่อนฉีกบัตรนายปิยรัฐ ได้ตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" โดย นายสมศักดิ์ ระบุว่า "ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ ด้วยความนับถืออย่างสูง".
กำลังโหลดความคิดเห็น