ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยแพร่ภารกิจของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 7-10 สิงหาคม 2559 ที่มีกำหนดการเดินทางร่วมกับคณะปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมชลประทาน กรมประมงฯลฯ ไปเยือนสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมีวัตถุประสงค์การเดินทางครั้งนี้ ประกอบด้วย การลงนามความร่วมมือกับทางเกาหลีใต้รวม 3 ฉบับ ภายหลังครม.เห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1. บันทึกแสดงเจตจำนง(MOI)ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี สำหรับความร่วมมือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งเป็นการดำเนินความร่วมมือทางด้านเทคนิค โดยจะไม่มีการหารือ และพิจารณาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน และ จีทูจี
2. บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม(MRA)การควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในผลิตภัณฑ์ประมงนำเข้า และส่งออกกับกระทรวงมหาสมุทรและประมง แห่งสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการควบคุมคุณภาพและสุขอนามัยของสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ พร้อมแลกเปลี่ยนด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน ความรู้ด้านการตรวจสอบสินค้าประมง และกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนสถานประกอบการที่ส่งออก
3. บันทึกความเข้าใจ (MOU)ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU)ด้วย โดยมีเป้าหมายร่วมสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรับรองการจับสัตว์น้ำ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาทรัพยากรประมง ขณะเดียวกันยังมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนาด้านประมง และเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและชาวประมงเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน
ภารกิจด้านอื่นๆ ก็จะมีการหารือความร่วมมือด้านการเกษตร กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท (MAFRA)สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อผลักดันให้ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี จัดทำ เอ็มโอยู ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาอุปสรรคการนำเข้า-ส่งออก และเปิดตลาดสินค้าใหม่ ผลักดันการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างสองประเทศ ซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยเป็นที่นิยมของเกาหลีใต้ เช่น “ผลไม้ (มะม่วง)”เป็นต้น รวมทั้งถือโอกาสติดตามความก้าวหน้าการพิจารณา“เปิดตลาดไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง”ซึ่งในปัจจุบันไทยสามารถส่งออกไปได้หลายประเทศแล้ว รวมถึงมะม่วงพันธุ์มหาชนกของไทยไปเกาหลีใต้ อีกด้วย
นอกจากนั้นจะนำคณะไปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการด้านการตลาด เกาหลีใต้นับเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความเข้มแข็งในเรื่องการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้จะได้เยี่ยมชมตลาดสินค้าเกษตรของเกาหลีใต้ ที่จะเป็นประโยชน์กับการนำมาปรับใช้ในการยกระดับการจัดการตลาดสินค้าเกษตรของไทย
ภารกิจเดินดู ตลาดสด ตลาดค้าส่งเก่าแก่ “นัมเดมุน กับ ทงเดมุน”แต่คงไม่ไปเดินแหล่งวัยรุ่น อย่าง ย่านเมียงดง กังนัม ฮงแด อินซาดง อิแทวอน หรือ ดงแดมุน
ภารกิจสุดท้ายอ่านผ่านๆ ไม่น่ามีอะไร แต่มาเอะใจชื่อสถานที่ที่คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน
จั่วหัวว่า“ศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำ”ของ “บริษัท K-Water”ประเทศเกาหลีใต้ โดยระบุว่า“คณะให้ความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำของเกาหลีใต้ ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จอย่างมาก ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร โดยเฉพาะระบบการควบคุมอุทกภัย และการจัดสรรน้ำ ที่ไทยน่าจะมีโอกาสนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาใช้ในประเทศไทยในอนาคต”
โอ้ว!“บริษัท K-Water”ประเทศเกาหลีใต้ หรือ “บริษัทเค วอเตอร์”หรือ“บริษัท เค วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น”เป็นหนึ่งในกว่า 10 บริษัทต่างชาติ และเป็นบริษัทเดียวกันกับที่เข้ามายื่นประมูลโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย หรือ โครงการน้ำตามพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และอดีตผู้นำของไทยหลายคนก็เคยไปเยือน ทั้งระหว่างอยู่ในตำแหน่ง และไม่อยู่ในตำแหน่งบริหารประเทศหลังจากปี 2554 ประเทศไทยเกิดมหาอุทกภัย และปี 2555 รัฐบาลยุคนั้น ที่เร่งผลักดันแผนบริหารจัดการน้ำมูลค่าการลงทุน 3.5 แสนล้านบาท ออกมาทันที
โดยระบุว่า จะแก้ทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง จะแก้ตั้งแต่การปลูกป่า การฟื้นฟูแหล่งน้ำ จนถึงการกักเก็บน้ำ แผนดังกล่าวเดินไปถึงขั้นเปิดประมูลโครงการโดยมีต่างชาติแสดงความสนใจเข้าร่วม และ“บริษัทเค วอเตอร์” ก็เป็นบริษัทต้นๆ ที่น่าสนใจ แต่ต่อมาก็ต้องพบกับการต่อต้านคัดค้านทางการเมือง และสุดท้ายได้ถูกระงับไปโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในปี 2557
ส่วน “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ" มาเกี่ยวอะไรกับ“บริษัทเค วอเตอร์”หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี2556 สมัยท่านยังนั่งเป็น“กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 หรือ ททบ.5” เคยมีข่าวฮือฮาพาดหัวสื่อช่วงนั้นต่อเนื่องหลายวัน
จากเหตุการณ์การระงับการออกอากาศ“รายการฮาร์ดคอร์ข่าว”(ผลิตโดยบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ ผู้ผลิตรายการ ร่วมกับช่อง 5 ที่ต่อมาต้องออกแถลงการณ์ชี้แจง )
ตอนนั้น ผู้ประกาศช่อง 5 กำลังนำเสนอข่าวจั่วหัวว่า “ความไม่ชอบมาพากลของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน”โดยเมื่อช่วงเย็นของวันพุธ 26 มิ.ย. ระหว่างการนำเสนอประเด็นร้อนจากกรณีที่ บริษัท เค วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งชนะการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยได้โมดูล 3 สร้างฟลัดเวย์ และแก้มลิง ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ งบประมาณ 1.63 แสนล้านบาท อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกเครือข่ายสิ่งแวดล้อมจากเกาหลีและสื่อมวลชนเปิดเผยว่า เป็นบริษัทมีหนี้สินสะสมจำนวนมาก และอาจไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการใหญ่ดังกล่าวในประเทศไทย
“ขณะที่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของ“บริษัท เค วอเตอร์”ที่ชนะการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของรัฐบาล ก็ถูกตัดเข้าโฆษณามาแทรกกระทันหัน”
ตอนนั้นพล.อ.ฉัตรชัย ต้องออกมาชี้แจงว่า“เรื่องนี้บรรณาธิการข่าวเป็นผู้ดูแล เมื่อข่าวที่นำเสนอเกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะเนื้อหาที่ยังไม่ชัดเจน สถานีนี้จะไม่ออกอากาศ ดังนั้นจึงต้องระงับการเผยแพร่ทันที เพราะหาก ททบ. 5 นำเสนอไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อาจถูกฟ้องร้องได้ ถือเป็นการป้องกันไว้ก่อน โดยทางบรรณาธิการได้ตัดสินใจระงับการออกอากาศ ซึ่งได้ทราบเรื่องเวลา 20.00 น. ของวันเดียวกัน โดยผู้ที่รับผิดชอบรายงานให้รับทราบและอธิบายถึงสาเหตุว่า สกู๊ปดังกล่าวยังไม่ชัดเจน เกรงว่าจะถูกฟ้องร้องได้ ยืนยันว่าการตัดสินใจการระงับการออกอากาศ ไม่มีใครสั่งการ เป็นการตัดสินใจของบรรณาธิการ”
“ผมยืนยัน100% ว่า ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซง หรือสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น ผมได้เรียกบรรณาธิการที่รับผิดชอบรายการดังกล่าวมาสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งทางบรรณาธิการยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะตัดสินใจด่วนที่นำสกู๊ปดังกล่าวมาเผยแพร่ ทั้งที่ควรตรวจสอบมากกว่านี้ก่อน ผมได้กำชับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นบทเรียน ต้องไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก การเสนอข่าว ททบ.5 ต้องมีความรอบคอบ เป็นไปตามนโยบายให้ถูกต้องชัดเจนและเชื่อถือได้ อย่าทำงานรีบร้อน ต้องตรวจสอบให้ละเอียด ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) (ขณะนั้น) ได้สั่งกำชับภายหลังทราบข่าวว่า การทำงานด้านข่าวต้องเชื่อถือได้ ไม่ใช่ทำแบบนี้ แต่ถือว่ายังโชคดี ที่ระงับการออกอากาศทัน”
ข้างต้นเป็นคำชี้แจงที่ อดีต ผอ.ททบ.5 กล่าวไว้ และ ในระหว่างวันที่ 7-10 ส.ค.นี้ คณะของท่านก็จะมีโอกาสเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้ โดยหนึ่งในภารกิจนั้นคือไปดูงาน “บริษัทเค วอเตอร์ เกาหลีใต้”บริษัทเดียวกับที่ท่านเคยสั่งระงับการเผยแพร่ข่าวทุจริต โดยอ้างว่า“เป็นข่าวที่ไม่เหมาะสม อาจถูกฟ้องร้อง”โดยนอกจากท่านจะเดินทางไปดูงาน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ท่านยังจะไปในฐานะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะ เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย
การไปดูงาน“เค วอเตอร์”อีกด้านหนึ่ง ก็น่าจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์บริหารทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 ที่ ครม.ปัจจุบัน เคยอนุมัติงบประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามแผนงานการปฏิบัติทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้ครอบคลุม 6 เรื่อง คือ น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม-ภาคเกษตร แก้ปัญหาอุทกภัย แก้ปัญหาคุณภาพน้ำ แก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ซึ่งรัฐบาลเน้นความสำคัญการหาแหล่งน้ำให้เพียงพอสำหรับน้ำกินน้ำใช้ทั่วประเทศ เพื่อให้ปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้หมดจากประเทศภายในปี 2560
หลังจากนายกรัฐมนตรีได้ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2550 ในการใช้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ มาควบคุมดูแลและบริหารจัดการน้ำของประเทศ ด้วยการลดจำนวนกรรมการลงจากเดิมกว่า 40 คน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน
ต้องตามดูว่าพล.อ.ฉัตรชัย ไปดูงาน“บริษัทเค วอเตอร์ เกาหลีใต้”ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรก! หลัง รัฐบาล และคสช. ล้มประมูล 9 โมดูล งบบริหารงานน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เมื่อปี 2557 ครบ 2 ปี จะมี แพลนแอกชั่นกับ “เค วอร์เตอร์”เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์บริหารทรัพยากรน้ำ 3 ระยะ 12 ปี ของรัฐบาลต่อเนื่องกันอย่างไร.