xs
xsm
sm
md
lg

หวังว่า “คนไทยไม่ชอบค้นหาความจริง” จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีสาธารณะ “รับฟังความคิดเห็นต่อความตกลงปารีส” ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในช่วงการแลกเปลี่ยนความเห็นมีชาวบ้านจากจังหวัดสตูลคนหนึ่งได้สะท้อนในเวทีว่า “รู้สึกทั้งกลัวและทั้งกังวลกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐว่าจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน”

ในช่วงรับประทานอาหารชาวบ้านคนเดิมได้เข้ามาขอคุยกับผมด้วยท่าทีที่เป็นทุกข์อย่างชัดเจน ผมคิดอะไรไม่ออกจึงบอกเขาไปว่า “อย่าเก็บความกลัวและความกังวลไว้คนเดียว แต่ควรปรึกษาหารือกับเพื่อนบ้าน และควรจะเพิ่มอีกหนึ่งความรู้สึกนอกจากความกลัวและความกังวล คือความหวังเข้าไปด้วย อย่าลืมว่าอนาคตไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเองหรือให้ใครมากำหนด แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา มนุษย์เราจะอยู่ไปวันๆ โดยไม่มีความหวังไม่ได้เราต้องหวังว่าผู้คนจะตื่นรู้มากขึ้น หวังว่ารัฐบาลจะฟังเสียงของชาวบ้านแล้วมีดวงตาเห็นธรรม”

หลังจากได้ปลอบใจชาวบ้านไปแล้ว ผมก็คิดปลอบใจตัวผมเองบ้างในเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งตัวผมเองได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นกรรมการ “ไตรภาคี” ในที่ประชุม ผมเองได้นำเสนอทั้งแนวคิดทั้งเชิงนโยบาย ทั้งข้อมูลที่มีแหล่งอ้างอิงที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ก็ไม่มีกรรมการจากหน่วยงานของรัฐคนใดมาตรวจสอบ หรือโต้แย้งว่าข้อมูลของผมผิดพลาดตรงไหน ได้แต่พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ชาวกระบี่เสนอขึ้นมาแทนถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็น แสงแดด ลม และชีวมวล มีราคาแพง ถ้านำมาผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้นแล้วจะทำให้คนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง

ล่าสุด ผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เรียนในที่ประชุมว่า “ค่าไฟฟ้าในประเทศเยอรมนี (ซึ่งผมมักจะอ้างถึงบ่อยๆ) ราคาหน่วยละ 12 ถึง 13 บาท” โดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล ผมคาดเอาเองว่าเขามีความเชื่อว่า มันแพงเพราะมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเยอะ

ผมเองจำไม่ได้หรอกครับว่า ค่าไฟฟ้าในเยอรมนีหน่วยละเท่าใด แต่ผมได้เรียนในที่ประชุมไปแล้วว่า “ผมทราบว่าค่าไฟฟ้าในเยอรมนีสูงกว่าประเทศไทย แต่มันสูงเพราะระบบภาษี ทั้งภาษีสิ่งแวดล้อมและภาษีคาร์บอนไดออกไซด์”

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน (ที่เสนอผ่านรายการเปลี่ยนประเทศไทย ทางไทยพีบีเอส เมื่อปี 2554) ว่า “คนไทยมีลักษณะที่น่าเป็นห่วง 3 ประการคือ (1) มีความขวนขวายค้นหาความจริงน้อยไป เชื่อข่าวลือมากไป (2) เคารพความเห็นของกันและกันน้อยไป และ (3) นับถือปริญญาบัตรมากกว่าความรู้”

ดังนั้น ผมจำเป็นจะต้องค้นหาความจริงในเรื่องค่าไฟฟ้าของประเทศเยอรมนี มาให้คนไทยได้ทราบกัน พร้อมหลักฐานที่สามารถตรวจสอบและอ้างอิงได้ รวมทั้งจะฝากข้อมูลนี้ให้ท่านประธานกรรมการ “ไตรภาคี” ด้วย

และด้วยความเชื่อและความหวังที่ผมได้ยึดเป็นสรณะในการเขียนบทความเผยแพร่มาตลอดชีวิต คือ หวังว่า “คนไทยไม่ชอบค้นหาความจริง” จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น อีกไม่นานคนไทยเราจะมีคุณภาพใหม่ ที่ชอบค้นหาความจริง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แล้วนำความจริงมาเป็นพลังเพื่อขับไล่ความเท็จหรือความจริงครึ่งเดียวออกไปจากสังคมไทย รวมทั้งนำความจริงมาประกอบการตัดสินใจเพื่ออนาคตร่วมกันของสังคมตนเอง

ผมยังหวังอีกว่า จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและอย่างก้าวกระโดดด้วยพลังการสื่อสารยุคใหม่ของพลเมืองที่ตื่นรู้และมีธรรมะ

กลับมาที่ราคาค่าไฟฟ้าของประเทศเยอรมนีครับ เรื่องนี้ไม่ได้ออกมาจากปากของผู้แทน กฟผ.เท่านั้นแต่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “หมัดเหล็ก” (25 ก.ค.59) ก็ได้ยกตัวเลขค่าไฟฟ้าในประเทศเยอรมนีที่ 12.77 บาทต่อหน่วย โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลแต่ประการใด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นวิชาการเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มีการกระทำอย่างเป็นกระบวนการมานานแล้ว

ในบทความนี้ ผมจะขอทำหน้าที่ค้นหาความจริงพร้อมแหล่งที่มาให้ตรวจสอบกลับไปได้ ดังต่อไปนี้

1.อัตราค่าไฟฟ้าในเยอรมนีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทในครัวเรือน(Household ซึ่งใช้ไฟฟ้าอยู่ระหว่าง 2,500 ถึง 5,000 หน่วยต่อปี) ราคา 0.295 ยูโร หรือ 11.51 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมราคา 0.149 ยูโร หรือ 5.81 บาท โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (หมายเหตุ เป็นราคาในช่วงครึ่งหลังของปี 2015 หรือ พ.ศ. 2558 และคิดอัตราแลกเปลี่ยน 39 บาทต่อยูโร) ดูภาพประกอบครับ

โปรดสังเกตนะครับว่า ทั้งๆ ที่ค่าไฟฟ้ามี 2 ราคาซึ่งแตกต่างกันครึ่งต่อครึ่ง แต่ทางผู้แทนของ กฟผ.เลือกบอกกับที่ประชุมเฉพาะที่มีราคาสูงเท่านั้น นอกจากนี้ ในส่วนของผู้พักอาศัยที่มีราคาแพงแล้วก็ยังบอกความจริงไม่ครบอีก คือ

ในภาคครัวเรือนจำนวนเงินค่าไฟฟ้า 0.295 ยูโร หรือ 11.51 บาทต่อหน่วยนั้น พบว่าเป็นค่าพลังงานและกำไรของบริษัทเพียง 2.87 บาทเท่านั้น ซึ่งผมได้จำแนกให้ดูง่ายๆ ดังแผนผังครับ

ส่วนแรก เกินครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.5 ของค่าไฟฟ้านี้เป็นภาษีเข้ารัฐคิดเป็นเงินไทย 5.93 บาทเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อการบริหารประเทศ ไม่ได้เข้ากระเป๋าของบริษัทผู้ผลิต

ส่วนที่สอง ที่เหลืออีกร้อยละ 48.5 ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ค่าพลังงาน 2.87 บาท และค่าระบบเครือข่าย (Network Cost) 2.69 บาท

ในขณะที่ค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 ของการไฟฟ้านครหลวงของประเทศไทยที่ใช้ไฟฟ้า 400 หน่วยต่อเดือน เฉลี่ย 3.95 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่รวมค่าเอฟทีซึ่งใช้มาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 58) มากกว่า 2.87 บาทของประเทศเยอรมนีเสียอีกสำหรับค่าระบบเครือข่ายในประเทศเยอรมนี ผมไม่ทราบว่าเป็นรายได้ของใคร ของเอกชนหรือของรัฐ?

โดยสรุปที่ผมได้ค้นหาความจริงมาแล้ว พบว่าค่าไฟฟ้าที่ชาวเยอรมันจ่ายไปเกินครึ่งหนึ่งเป็นค่าภาษี และในส่วนที่เป็นค่าพลังงาน (ในเอกสารเขาใช้คำว่า “Energy and Supply”) นั้นราคาต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่คนไทยเราต้องจ่ายโดยยังไม่รวมค่าภาษีเช่นเดียวกัน ดังนั้น ค่าการผลิตไฟฟ้าในประเทศเยอรมนีนอกจากจะไม่แพงแล้วยังต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่ายโดยไม่รวมภาษีเสียอีก

คราวนี้ขอเจาะไปที่ค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยรับซื้อจากบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และชีวมวลว่ามันมีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร

เอาเรื่องราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม (ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2557) หน่วยละ 5.66 บาท ในขณะที่ประเทศเยอรมนีรับซื้อในต้นปี 2558ในราคา 3.40 บาท ดูหลักฐานครับ

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ประเทศเยอรมนี (ซึ่งมีพลังงานแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย) ได้ใช้วิธีการประมูลค่าไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มขนาด 128 เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประมูลได้เสนอราคาตลอดอายุโครงการเท่ากับ 2.90 บาทต่อหน่วย ในขณะที่เมืองดูไบ (ซึ่งมีแดดดีกว่าประเทศไทย) ผู้ชนะการประมูลเสนอราคา 1.05 บาท กรุณาดูรูปประกอบ

นอกจากปัญหาพลังงานแสงอาทิตย์ที่รัฐบาลไทยรับซื้อในราคาที่แพงเกินจริงแล้ว ประเทศเรายังมีปัญหาเรื่องพลังงานชีวมวลอีกด้วย ซึ่งลักษณะของปัญหาก็เหมือนกับกรณีพลังงานแสงแดด คือซื้อแพงกว่าที่ประเทศเยอรมนีและรับซื้อจำนวนน้อย โดยอ้างว่าสายส่งเต็มในขณะที่ประเทศเยอรมนีจะรับซื้อจากพลังงานหมุนเวียนก่อน แต่ประเทศไทยจะซื้อจากพลังงานฟอสซิลก่อน แล้วมาอ้างว่าสายส่งเต็ม มันจึงเป็นการหลอกลวงกันอีกชั้นหนึ่ง

ในขณะที่ประเทศเยอรมนีรับซื้อจากชีวมวลและไบโอก๊าซขนาดใหญ่ (5 ถึง 20 เมกะวัตต์) ในราคา 2.30 บาท แต่ประเทศไทยเรารับซื้อในราคา 4.24 ถึง 5.34 บาทต่อหน่วย (ข้อมูลจาก กฟผ.)

ข้อมูลจากเครือข่ายปกป้องอันดามัน บอกว่า กะลาปาล์มในจังหวัดกระบี่จำนวนมากได้ถูกส่งไปขายยังจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า เพราะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในจังหวัดกระบี่ได้ ด้วยข้ออ้างว่าสายส่งเต็ม

ล่าสุดนักธุรกิจจากประเทศจีนกำลังมาขอซื้อต้นปาล์มที่โค่นแล้ว เนื่องจากหมดอายุเพื่ออัดเม็ดกลับไปประเทศจีนเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้านั่นแหละ ในขณะที่ประเทศไทยเราไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิต เพราะกำลังมีโครงการจะนำเข้าถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าแทน

ในคณะอนุกรรมการของกรรมการ “ไตรภาคี” ได้มีการพูดถึง การเพิ่มประสิทธิภาพของหม้อน้ำในโรงไฟฟ้าชีวมวล ว่า ถ้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นจะผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงเท่าเดิม แต่ความคิดนี้ก็หายไปเฉยๆ โดยไม่ได้มีการค้นหาความจริงให้ชัดเจนมากขึ้น

ผมได้พบงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งเขามาศึกษาในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย พบว่า ถ้าเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำให้สูงขึ้น ทุกๆ 1 ตันของผลผลิตจากปาล์มน้ำมันจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 218 หน่วย ดังนั้น จากข้อมูลในปี 2558 ผลผลิตปาล์มจากจังหวัดกระบี่ 3.5 ล้านตัน สามารถนำของเหลือไปผลิตไฟฟ้าได้ 785 ล้านหน่วย ในขณะที่ชาวกระบี่ใช้ไฟฟ้าปีละ 777 ล้านหน่วย ดูภาพประกอบ

นี่เฉพาะผลผลิตจากปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว ยังไม่คิดทางปาล์ม (ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าผลผลิต) และต้นปาล์มหมดอายุ ยังไม่นับต้นยางพารา และกิ่งไม้ตามหัวไร่ปลายนาซึ่งจะกลายเป็นแหล่งรายได้ให้กับชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน แทนที่จะนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศวันละ 8 พันตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคงมีความหวังเหมือนกับที่ได้ปลอบใจชาวบ้านตั้งแต่ต้นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับรู้และเข้าใจเรื่องนี้ รวมถึงประชาชนทั้งประเทศจะได้รับรู้ความจริงในเรื่องนี้อย่างรวดเร็วความคิดที่จะป้องฟ้าด้วยฝ่ามือมันได้ให้บทเรียนที่เจ็บปวดมามากต่อมากแล้ว ยิ่งในยุคของการสื่อสารแบบใหม่นั้น พลังที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนที่ตื่นรู้ ไม่ใช่ของคนที่อยู่ในตำแหน่ง

นี่คือความหวังลึกๆ ของผมครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น