xs
xsm
sm
md
lg

เพราะตามโลกไม่ทัน หรือเพราะคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


เมื่อกลางปี 2516 ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นภาควิชาใหม่ได้สั่งซื้อเครื่องคิดเลขไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ในราคาตั้งแต่ประมาณ 3 หมื่นถึง 5 หมื่นบาท ในขณะที่เงินเดือนอาจารย์วุฒิปริญญาตรีประมาณ 1,400 บาท แต่ในช่วงปลายปี มีอาสาสมัครชาวเยอรมันท่านหนึ่งได้ซื้อเครื่องคิดเลขไฟฟ้าขนาดเท่าฝ่ามือในราคา 8,500 บาท แต่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าเครื่องคิดเลขไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะเยอะเลยครับ โปรดสังเกตระยะเวลาจากกลางปีถึงปลายปีและจากเงินลงทุนจากระดับหมื่นบาทถึงระดับพันบาท

เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากแต่ราคากลับลดลงมาก เขาเรียกรวมๆ ว่า เทคโนโลยีที่พลิกโฉม (Disruptive Technology) ทั้งเทคโนโลยี ธุรกิจและสังคมอย่างขนานใหญ่

ในปี 2516 โอกาสในการรับรู้ข่าวสารไม่ได้ง่ายและสะดวกเหมือนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ผมเองจะรู้สึกผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ขอยืนยันว่าในการตัดสินใจในวันนั้นเป็นเพราะเราขาดข้อมูลข่าวสารและ “ตามโลกไม่ทัน” ซึ่งก็เป็นกันแทบทุกหนทุกแห่งทั่วทั้งโลก ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการคดโกงรวมทั้ง “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” แต่อย่างใด

ภาพทางซ้ายมือที่ผมนำมาเสนอข้างต้น ได้เกิดขึ้นเมื่อ 42 ปีมาแล้ว อาจมีคนไม่มากนักที่เคยตั้งข้อสังเกตกับเรื่องนี้ แต่ในภาพตรงกลางเป็นภาพโทรศัพท์มือถือที่ได้ทำให้โทรศัพท์มีสายต้องลดบทบาทลงหรือแทบจะสูญหาย เป็นภาพที่คนส่วนใหญ่น่าจะยังจำกันได้ดี

สำหรับภาพขวามือสุด ในขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของโลก ในคำบรรยายบอกว่า แต่ละบ้าน สำนักงานจะผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง หากมีเหลือก็แบ่งปันให้กับบ้านข้างเคียงโดยผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าซึ่งมีอยู่แล้วและบริหารโดยการไฟฟ้าฯ ในประเทศไทยสายส่งเป็นของรัฐ

ภายใต้ระบบใหม่นี้ การผลิตจะเป็นแบบกระจายศูนย์ กระแสไฟฟ้าจะไหลได้สองทาง ต่างจากในปัจจุบันซึ่งกระแสไฟฟ้าได้ถูกบังคับให้ไหลทางเดียว (ทั้งๆ ที่สามารถไหลได้สองทาง) จากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปสู่ผู้ใช้ปลายทาง (End User) เทคโนโลยีสำคัญที่มาเปลี่ยนระบบการผลิตไฟฟ้าในระบบใหม่ดังกล่าวเป็นการพัฒนามาบรรจบกันของ 2 เทคโนโลยี คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์นั่นเอง) กับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ โซลาร์เซลล์ พลังงานลมและชีวมวล) ซึ่งเรียกว่า “Intergrid”

พลังงานส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานที่ผลิตจากข้างบ้านหรือด้านข้าง (Lateral Power) ไม่ใช่ข้ามหัวมาจากโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์ (Top Down) ความสัมพันธ์ภายในระบบเป็นแบบพึ่งพากัน (Inter-dependent) ไม่ใช่ผู้ผลิตเป็นใหญ่เพียงรายเดียว ผู้บริโภคนับล้านๆ คนต้องขึ้นต่อ ในระบบใหม่นี้ผู้บริโภคเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้พยากรณ์ว่า ระบบใหม่จะมาแทนที่ระบบเก่าภายในไม่เกินปี ค.ศ. 2030

ประเด็นที่ผมสงสัยก็คือ หน่วยราชการของไทยที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องดังกล่าวจะสามารถติดตามระบบการผลิตไฟฟ้าแบบใหม่นี้ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและรวดเร็วหรือไม่ ขออย่าได้ผิดพลาดเหมือนกับกรณีเครื่องคิดเลขเมื่อ 43 ปีมาแล้ว

สิ่งที่ผมได้กล่าวมาแล้ว บางท่านอาจจะยังรู้สึกว่าเป็นนามธรรมเกินไป ยังไม่ชัดเจนพอและส่วนใหญ่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่ผมมี 2 เรื่องที่จะขอยกตัวอย่างกันให้เห็นกันชัดๆ ว่าส่วนราชการของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีปัญหาอย่างไร

เรื่องแรก การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์สูงเกินไป

สังคมไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โซลาร์เซลล์นั้นมีราคาแพง ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาครัฐ โดย กกพ.จึงได้กำหนดราคารับซื้อจากผู้ผลิตในราคาที่สูงกว่าราคาที่ขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ปลายทาง สรุปก็คือให้ทางการไฟฟ้าฯ รับซื้อในราคาแพง แล้วนำไปขายต่อในราคาที่ต่ำกว่า ภาระที่เกิดขึ้นจะอยู่ในรูปของค่าเอฟทีของผู้ใช้ทุกราย

ระบบการกำหนดราคาดังกล่าวมี 2 แบบ คือ แบบจ่ายส่วนเพิ่ม (Adder) เช่น ถ้าราคาไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายหน่วยละ 3 บาท ถ้า Adder หน่วยละ 8 บาท ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานดังกล่าวจะได้รับ 11 บาทต่อหน่วย ถ้าค่าไฟฟ้าขึ้นเป็น 3.50 บาท ผู้ผลิตก็จะได้รับหน่วยละ 11.50 บาท เป็นต้น เช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะหมดอายุสัญญา

อีกแบบหนึ่งเรียกว่า Feed-In-Tariff ไม่ว่าค่าไฟฟ้าจะขึ้นไปเท่าใดก็ตาม ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะได้รับในราคาคงที่ เช่น จากโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ หน่วยละ 5.66 บาท จากหลังคา 6.85 บาทต่อหน่วย โดยราคาคงที่ตลอดอายุสัญญา 25 ปี เป็นต้น

สำหรับประวัติการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ รวมทั้งจำนวนการติดตั้งในแต่ละปี ผมได้นำมาเสนอไว้ในแผ่นภาพ (จากการศึกษาของ ดร. Sopitsuda Tongsopit จากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ)

แต่สิ่งที่ผมอยากให้ผู้อ่านสนใจในแผ่นภาพนี้มี 2 ประการ คือ (1) อัตรารับซื้อ ซึ่งในครั้งสุดท้ายคือปี 2014 โดยที่อัตรา 5.66 ถึง 6.85 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ตัวเลขต่ำเป็นราคาจากโซลาร์ฟาร์ม ตัวเลขสูงรับซื้อจากหลังคาอาคาร และ (2) ความถี่ของการปรับราคา นับตั้งแต่ปี 2007 ถึงปี 2015 มีการปรับราคาเพียง 4 ครั้ง

เพราะการกระทำใน 2 ประการดังกล่าว จะเป็นตัวบอกว่า “เพราะตามโลกไม่ทัน หรือเพราะคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ตามชื่อบทความ โดยผมจะนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมนี

หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้บอกกับคนไทยเสมอมาว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์มันแพง หากมีการส่งเสริมจะทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง

แล้วความจริงเป็นอย่างไรครับ มันเคยแพงจริงถึงหน่วยละ 16.80 บาท แต่นั่นมันเมื่อเมื่อ 11 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบัน คำถามนี้ต้องตีกลับมาที่รัฐบาลไทย (โดย กกพ.) ว่า ทำไมจึงรับซื้อในราคาแพงกว่าประเทศเยอรมนี ซึ่งมีความเข้มของพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรน้อยกว่าประเทศไทยเยอะเลย

เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่าเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศเยอรมนีต้องลดราคารับซื้อลงทุกครั้งในปี 2014 ถึง 6 ครั้ง แต่ประเทศไทยเราประกาศครั้งเดียวในรอบนานกว่า 2 ปี

อีกประเด็นสำคัญที่เราต้องไม่ลืมก็คือ นอกจากประเทศเราจะกำหนดราคารับซื้อแพงแล้ว ยังมีการกำหนดโควตาหรือจำกัดจำนวนอีกด้วย ส่งผลให้บางบริษัทได้รับโควตาไป ในขณะที่ประเทศเยอรมนีไม่มีการจำกัดจำนวน และพลังงานหมุนเวียนได้ขายก่อนพลังงานฟอสซิลครับ

เมื่อเจตนาและการกระทำเป็นอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะยังคิดว่าเขาตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทันหรือบกพร่องโดยสุจริต หรือว่าเขามีความตั้งใจจะคอร์รัปชันเชิงนโยบายกันแน่ครับ

ถ้าเราอยากจะทราบว่า ภาระที่คนไทยจะต้องแบกรับที่เกิดจากการกำหนดราคาแพงเกินความจริงก็สามารถคิดได้ไม่ยากครับ โดยมีอายุสัญญายาว 25 ปี ถ้าแต่ละหน่วยแพงไป 2.16 สตางค์ (สำหรับโซลาร์ฟาร์ม) หนึ่งปี ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1.5 ล้านหน่วยต่อเมกะวัตต์ คิด (เฉพาะส่วนที่แพงกว่า) แล้วประมาณ 81 ล้านบาทเอง แต่หนึ่งเมกะวัตต์นะครับ ถ้าเป็น 2 พันเมกะวัตต์ละ! จึงไม่แปลกที่ทำให้บางคนกลายเป็นมหาเศรษฐีในเวลาอันสั้น

ที่ผมได้ยกมาแล้วเป็นราคาในปัจจุบัน แต่ในปี 2021 รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาจะรับซื้อในราคาหน่วยละ 1.30 บาทเท่านั้น ผมมีแผ่นภาพต้นฉบับซึ่งผู้สนใจสามารถตรวจสอบได้ครับ

เรื่องที่สอง คือการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลได้แก่ของเหลือและของเสียจากภาคการเกษตรรวมทั้งไบโอก๊าซ ซึ่งทางราชการไทยอ้างว่ามีจำนวนน้อย แต่จากข้อมูลที่ผมได้แนบมานี้พบว่า ประเทศเยอรมนีเขาสามารถผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลได้มากกว่าที่คนภาคใต้ 14 จังหวัดใช้หลายเท่าตัว นี่หรือที่ว่าน้อย

เรามาดูวิธีการสนับสนุนของประเทศเยอรมนี พบว่า เขาส่งเสริมรายเล็กมากกว่ารายใหญ่ โดยจ่ายเป็น Feed-In-Tariff ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขนาด (คือ (1) ถ้าน้อยกว่า 0.125 เมกะวัตต์ อัตรา 13.66 ยูโรเซ็นต์ต่อหน่วย หรือ 5.34 บาทต่อหน่วย (2) ถ้า 0.125 ถึง 0.5 เมกะวัตต์ อัตรา 11.78 ยูโรเซ็นต์ต่อหน่วย หรือ 4.60 บาทต่อหน่วย (3) ถ้า 0.5 ถึง 5 เมกะวัตต์ อัตรา 10.55 เซ็นต์ต่อหน่วย หรือ 4.12 บาทต่อหน่วย และ (4) ถ้า 5 ถึง 20 เมกะวัตต์ อัตรา 2.26 บาท)

จากข้อมูลของโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากของเหลือจากปาล์มน้ำมัน (ทั้งทะลาย กะลา และเส้นใย) ขนาด 9 เมกะวัตต์ พบว่า เขาสามารถขายไฟฟ้าด้วยระบบ Adder 0.4 บาทต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าที่ขายในราคาปกติแล้วจะได้ 3.90 บาทต่อหน่วย

โปรดสังเกตนะครับ อัตรารับซื้อในประเทศไทยสูงกว่าในประเทศเยอรมนีอีกแล้ว

พูดถึงการผลิตไฟฟ้าจากของเหลือและของเสียจากโรงงานน้ำมันปาล์มในจังหวัดกระบี่นั้น เดิมทีเดียวเจ้าของโรงงาน “ถูกบังคับ” ให้ผลิต เพราะไม่อย่างนั้นต้องลงทุนขนของเหลือไปทิ้ง หรือต้องปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะ จึงต้องนำมาผลิตไฟฟ้า การลงทุนก็เลือกแบบที่ประหยัดๆ โดยไม่คิดอะไรมาก

แต่วันนี้เทคโนโลยี Boiler (หม้อน้ำเพื่อผลิตไอน้ำไปขับเทอร์บายน์ไฟฟ้า) ได้ก้าวหน้าไปมาก กล่าวคือ ใช้เชื้อเพลิงเท่าเดิม แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม 3-4 เท่าตัว

เท่าที่ผมเคยศึกษาพบว่า ประเทศเยอรมนีเคยแก้ปัญหา(ในกรณีของกังหันลม และน่าจะกรณีชีวมวลด้วย) ด้วยการจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มสำหรับผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ มันมีวิธีการเยอะแยะที่จะส่งเสริมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ

เมื่อคืนวันเสาร์ (19 มี.ค.) ผมได้ชมคลิป ความว่า อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้ตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงเลือกจะไปตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่สวยที่สุด” ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตอบว่า “เพราะ กฟผ.มีที่ดินอยู่แล้ว”

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคำตอบที่ “ตามโลกไม่ทัน” และไดโนเสาร์เอามากๆ เพราะเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว การท่องเที่ยวยังไม่เติบโต และคนยังไม่มีปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติเหมือนเดี๋ยวนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น