ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเกี่ยวกับข้อพิพาทเหนือดินแดน หมู่เกาะ และน่านน้ำในทะเลจีนใต้ (South China Sea) ที่เป็นประเด็นร้อนสั่นคลอนสายสัมพันธ์ ระหว่างจีน ตลอดจนสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงสหรัฐอเมริกาต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ได้กลับกลายมาเป็นข่าวร้อนฉ่าอีกครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลฟิลิปปินส์ออกโรงยืนยันว่า จีนยังไม่ถือว่าเป็น “ผู้ชนะ”ในศึกทะเลเดือดนี้แม้ปักกิ่งจะรอดพ้นหวุดหวิดจากการถูกรุมประณามจาก “แถลงการณ์ร่วมอาเซียน”
เปร์เฟ็กโต ยาซาย รัฐมนตรีต่างประเทศแดนตากาล็อก ออกมาแถลงโต้ที่กรุงมะนิลา เมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) โดยยืนยันว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ได้พยายามขอความสนับสนุนจากเพื่อนบ้านอาเซียนหรือประชาคมระหว่างประเทศ ต่อกรณีคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปฏิเสธไม่ยอมรับข้ออ้างสำคัญของรัฐบาลปักกิ่ง ในการแอบอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหลายต่อหลายแห่งในทะเลจีนใต้ และว่า จริงๆแล้ว รัฐบาลมะนิลาเองก็ไม่ประสงค์ที่จะนำประเด็นความขัดแย้งนี้ มาจุดชนวนแห่งความแตกแยกในอาเซียน หรือแม้แต่กระทั่งเพื่อเป็นการยั่วยุชาติยักษ์ใหญ่อย่างจีน
คำแถลงล่าสุดมีขึ้นหลังรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ เดินทางกลับจากการประชุมใหญ่รายปีของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อต้นสัปดาห์ ซึ่งการประชุมเวทีนี้จบลงโดยที่ แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนที่นครหลวงเวียงจันทน์ ไม่ได้ระบุพาดพิงถึงคำตัดสินเมื่อ12 กรกฎาคม ของศาลอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮกแม้แต่น้อย
ในความเป็นจริงแล้ว มีการยืนยันจากแหล่งข่าวทางการทูตว่า ในตอนแรกฟิลิปปินส์และเวียดนามต่างประสานเสียงต้องการให้ แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนอ้างอิงถึงคำตัดสินของศาลกรุงเฮกโดยตรง รวมทั้ง เรียกร้องให้จีนเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ทว่า กัมพูชาซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่น (หรืออาจเป็น“ลิ่วล้อ”)ของจีนในอาเซียน กลับออกตัวคัดค้าน และประกาศหนุนข้อเสนอของจีนให้เปิดการเจรจาทวิภาคีกับชาติที่เป็นคู่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องยอม “ถอยกราวรูด” เพราะหวั่นเกรงว่า กลุ่มอาเซียนจะไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 49 ปีของการก่อตั้งสมาคมความร่วมมือส่วนภูมิภาคนี้
ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ออกคำแถลงที่มีเนื้อหาดุดันและเผ็ดร้อนตอบโต้คำแถลงร่วมของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ที่คลอดออกมาภายหลังการหารือนอกรอบเวทีประชุมอาเซียน ของรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 3 ที่เรียกร้องให้จีนยุติการสร้างป้อมค่ายทหาร และการถมทะเลเพื่อสร้าง “เกาะเทียม”หรือสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบอื่นๆ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้
โดยรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมของ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ดีแต่จะช่วยโหมกระพือ“เชื้อไฟแห่งความขัดแย้ง” และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ ให้ลุกลามขยายวงกว้างออกไปยิ่งกว่าเดิม นอกจากนั้นหวังยังวิจารณ์ว่า คำแถลงร่วมของพันธมิตรทั้ง3 ประเทศไร้ซึ่งความสร้างสรรค์และไม่ถูกต้องเหมาะควรต่อกาลเทศะ
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปักกิ่งออกมายืนยันว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีแนวความคิดที่จะแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของตนก้าวเข้ามาแทนที่มหาอำนาจเบอร์1 อย่างสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด รวมถึงไม่เคยปรารถนาที่จะนำพาประเทศของตนให้กลายเป็นแบบสหรัฐอเมริกาไปอีกประเทศหนึ่ง
“ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า จีนไม่ใช่สหรัฐฯและเป็นไปไม่ได้เลยที่จีนจะกลายเป็นแบบสหรัฐฯ ไปอีกประเทศหนึ่ง เราไม่เคยมีเจตนารมณ์ที่จะเข้าแทนที่ใครหรือที่จะชี้นำผู้ใดและข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้มหามิตรชาวอเมริกัน ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนบทางวัฒนธรรมตลอดจนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมายาวนานกว่า 5,000 ปีของจีน และไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการหยิบนำเอาความคิดแบบอเมริกันมาประยุกต์ใช้อย่างคนตาบอด ในการตัดสินจีนแบบผิดๆ อย่างที่ผ่านมา”หวัง อี้ กล่าว
ก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศ “ปรับใหญ่” ยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อ “ปักหมุด” ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า แนวนโยบายนี้มีเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การสกัดกั้นอิทธิพลของปักกิ่งในภูมิภาคแห่งนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งทางการเมือง การทหารและในทางเศรษฐกิจ ขณะที่โอบามาซึ่งใกล้หมดวาระในอีกไม่ถึงขวบปีได้เปิดแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมครั้งประวัติศาสตร์กับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อ16 กุมภาพันธ์ เรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททะเลจีนใต้จะต้องช่วยลดทอนการกระทบกระทั่ง และความตึงเครียดรูปแบบต่างๆ ในน่านน้ำระหว่างประเทศนี้ และหนุนการแก้ไขข้อพิพาทนี้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างสันติผ่านช่องทางด้านการทูต
ไม่ว่าแถลงการณ์ร่วมอาเซียนฉบับล่าสุด จะมีหรือไม่มีถ้อยคำที่พุ่งเป้าประณามจีน แต่นั่นก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำและเกาะแก่งเกือบทั้งหมดหรือกว่า90 เปอร์เซ็นต์ ในทะเลจีนใต้ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเล และเป็นแหล่งพลังงานขนาดมหึมาแล้ว น่านน้ำทะเลจีนใต้ยังถือเป็นหนึ่งในเส้นทาง เดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจากการที่มีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าสูงถึง5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละขวบปี
ในทางกลับกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกล่าวประณามจีน หรือไม่กล่าวประณามจีนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติมากนักในอันที่จะช่วยผ่อนคลายหรือแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้ เพราะถึงอย่างไรก็ดีทั้งจีน ฟิลิปปินส์รวมถึงอีกหลายประเทศทั้งไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม ก็ยังคงจะต้องเดินหน้าประลองกำลังกันต่อไป เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ในการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำยุทธศาสตร์ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรพลังงานแห่งนี้ อยู่ต่อไป