รอยเตอร์ - แม้คำตัดสินเรื่องทะเลจีนใต้ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitrary) จะเป็น “ความพ่ายแพ้” สำหรับปักกิ่ง อย่างน้อยก็ในทางลายลักษณ์อักษร แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจนหลังผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์ก็คือ “ความล้มเหลว” เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงที่คำพิพากษาของศาลจะถูกเมินเฉยจากนานาชาติ
ก่อนที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจะประกาศคำตัดสินข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ออกมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยพูดถึงการรวมกลุ่มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อบีบจีนให้ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างรุนแรงหากไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล
“เราต้องเตรียมพร้อมที่จะประกาศจุดยืนออกไปดังๆ ร่วมกันว่า นี่คือกฎหมายระหว่างประเทศ นี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และมีผลผูกพันกับทุกฝ่าย” เอมี ซีไรต์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน ก.พ.
ในเดือน เม.ย. แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาเตือนจีนให้ระวังเสื่อมเสียชื่อเสียงในเวทีโลก หากทำเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ
สหรัฐฯ สนับสนุนข้อโต้แย้งของฟิลิปปินส์ที่ว่า การที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำถึง 85% ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่คับคั่งที่สุดในโลก เข้าข่ายคุกคามเสรีภาพในการเดินเรือ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ศาลได้ปฏิเสธการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนแล้ว ความพยายามของวอชิงตันที่จะโน้มน้าวให้ทุกประเทศผนึกกำลังกดดันปักกิ่งก็ดูจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก โดยมีเพียง 6 ชาติเท่านั้นที่ออกมายืนยันร่วมกับสหรัฐฯ ว่า คำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการต้องมีผลบังคับ
หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าต้องมี “ฟิลิปปินส์” รวมอยู่ด้วย แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลทับซ้อนกับจีน และอาจจะได้ประโยชน์หากปักกิ่งยอมรับคำวินิจฉัยครั้งนี้
จีนประสบชัยชนะทางการทูตอย่างชัดเจนในวันจันทร์ (25 ก.ค.) จากการใช้กัมพูชาเป็นตัวแทนขัดขวางไม่ให้อาเซียนพาดพิงถึงเรื่องศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกตัดสินคดีกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้ที่ให้ปักกิ่งเป็นฝ่ายแพ้ โดยปรากฏว่าแถลงการณ์ร่วมของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งออกมาจนได้ในที่สุดภายหลังถกเถียงกันมาหลายรอบนั้นไม่ได้มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้เลย
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. สหภาพยุโรปซึ่งกำลังปั่นป่วนจากผลประชามติเบร็กซิต (Brexit) ในอังกฤษ ได้ออกคำแถลงรับรู้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร แต่ก็เลี่ยงที่จะพาดพิงถึงจีนตรงๆ และไม่ยืนยันว่าคำตัดสินของศาลมีผลผูกพันหรือไม่
เมื่อวันพุธ (27) จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงความพึงพอใจที่อาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้ทุกฝ่ายเคารพหลักนิติธรรม และแม้จะไม่ได้พาดพิงถึงคำพิพากษาของศาลกรณีทะเลจีนใต้ แต่ก็ไม่ทำให้แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ด้อยความสำคัญลงไป
เคร์รีย้ำว่า คำตัดสินของศาลมีผลบังคับตามกฎหมาย และเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกเพิกเฉย แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กลับเล็งเห็นถึงความเสี่ยง เพราะวอชิงตันเองก็ยังไม่สามารถโน้มน้าวพันธมิตรทุกชาติให้พร้อมใจกันบีบจีนในเรื่องนี้
“ท้ายที่สุดแล้วคำพิพากษาของศาลอาจกลายเป็นเพียงแค่เชิงอรรถ (footnote) เพราะมันจะมีอิทธิพลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของทุกๆ ประเทศ” เกร็ก โปลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจีนใต้จากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุ
“เวลานี้ประชาคมโลกยังเลือกที่จะเฉย เสียงส่วนใหญ่ดูเหมือนจะพูดว่า เราไม่สนใจ เราไม่คิดที่จะบังคับจีนให้ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้”
ดีน เช็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากสถาบันคลังความคิด Heritage Foundation ชี้ว่า สหรัฐฯ เองก็ดูลังเลและไม่อยากจะใช้ไม้แข็งกับจีนมากไปกว่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประธานาธิบดี บารัค โอบามา เหลือเวลาบริหารประเทศอีกแค่ไม่กี่เดือน และการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ก็จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้แล้ว
สาเหตุหนึ่งที่วอชิงตันไม่กระตือรือร้นที่จะกดดันจีนนัก อาจเพราะไม่ต้องการยั่วยุให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ปะทุรุนแรงจนถึงขั้นเกิดการเผชิญหน้า และเกรงว่าจีนอาจตอบโต้โดยการถมทะเลสร้างเกาะเทียมเพิ่มขึ้น หรือประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ)