xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติคือชะตากรรมนายใหญ่

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมคาดการณ์เอาเองนะครับว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิมากกว่าครั้งทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550

ขณะที่ถามความเห็นส่วนใหญ่ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าประชามติครั้งนี้จะผ่านหรือไม่

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 8 การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในระหว่างวันที่ 12 - 13 กรกฎาคม 2559 สำรวจจากผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,503 หน่วยตัวอย่าง

พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 62.48% ยังไม่ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ 30.41% จะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ 6.79% ระบุว่า ไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และ 0.32% ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน

ขณะที่ “กรุงเทพโพลล์” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติ ที่ให้ ส.ว.สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีมีสิทธิร่วมกับ ส.ส.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 51.43% ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา 29.01% บอกว่า ไปลงมติเห็นด้วย ขณะที่ 19.16% ไปลงมติไม่เห็นด้วย และ 0.40% ระบุว่า ไปใช้สิทธิแต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน

น่าสนใจว่าทั้ง 2 โพลมีความเห็นตรงกันที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่ แต่ที่บอกว่าจะไปลงประชามตินั้นเสียงส่วนใหญ่มาทางรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ตอบว่าจะไปหรือไม่ โอกาสจะพลิกผันไปข้างหนึ่งก็มีเสมอ

ถ้าเราดูการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 การทำประชามติครั้งนั้นผู้มีสิทธิประมาณ 45 ล้านคนมีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 25 ล้านคน คิดเป็น 57.61% เห็นชอบ 14,727,306 เสียง คิดเป็น 57.81% ไม่เห็นชอบ 10,747,441 เสียง คิดเป็น 42.19% จะเห็นว่าครั้งนั้นชนะกันที่ 4 ล้านเสียง

ครั้งนั้นมีการเปิดอภิปรายกันอย่างกว้างขวางทั้งฝ่ายเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าฝ่ายไหนสนับสนุน ฝ่ายไหนคัคค้านเพราะทุกคนขึ้นมาเคลื่อนไหวบนดิน ตอนนั้นนิธิ เอียวศรีวงศ์และคณะถึงกับเอาเงินมาซื้อโฆษณารณรงค์ 4 สีในหนังสือพิมพ์มติชน มีคนไปถามว่าเอาเงินมาจากไหน เงินทักษิณหรือไม่ นิธิตอบว่า เงินทักษิณแล้วจะทำไม ถ้าน้ำท่วมทักษิณมาบริจาคเงินช่วยแล้วจะไม่รับหรือ

และปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้ฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญชนะในครั้งนั้นคือ ความต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ จนเกิดกระแสว่ารับไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง

แต่การทำประชามติครั้งนี้ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายไม่เห็นด้วยเคลื่อนไหว แต่ให้ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญเดินสายชี้แจงข้อดีของรัฐธรรมนูญฝ่ายเดียว แถมยังไม่มีการพิมพ์ฉบับเต็มแจกจ่ายไปทุกครัวเรือนเหมือนครั้งที่แล้ว แต่แจกสรุปย่อซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่กี่ล้านเล่มเท่านั้น แน่นอนว่าคงจะสรุปแต่ข้อดีมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก และเป็นเรื่องประหลาดมากที่มาถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมั้ย แต่ให้เขาไปขวนขวายหาร่างรัฐธรรมนูญเอง อ้างว่าเผยแพร่ฝ่ายทางคอมพิวเตอร์แล้ว แต่ตาสีตาสาที่ไหนจะไปหาอ่านได้ ส่วนที่อ้างว่าแจกไปก็ไม่อ่านนั้นมันฟังไม่ขึ้นนะครับ เขาจะอ่านหรือไม่ก็เป็นสิทธิของเขา แต่เมื่อถามว่าเขาเห็นด้วยกับสิ่งนี้ไหมก็ต้องเอาสิ่งนั้นให้เขาดูเสียก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า การไม่ให้ฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยนั้น ก็มีข้อเสียเหมือนกันเพราะเราไม่รู้ว่ามีใครบ้าง เพราะพวกคัดค้านเปลี่ยนไปเป็นการเคลื่อนไหวใต้ดินแทน มีการแจกเอกสารของฝ่ายตัวเองจนมีเสียงโวยวายว่าเป็นรัฐธรรมนูญปลอม ทั้งที่อีกฝ่ายอ้างว่าเป็นการชี้ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น ซึ่งฝ่ายไม่เห็นด้วยเขาก็นำข้อเสียมาตีแผ่ จะนำข้อดีมาเสนอทำไม นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวแบบบิดเบือนเช่นว่า รัฐธรรมนูญจะเลิกสิทธิ 30 บาท หรือเลิกเงินช่วยผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ถ้าเปิดโอกาสให้มาดีเบตกันอย่างเปิดเผยการบิดเบือนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ทำไม่ได้

ดังนั้น การทำประชามติครั้งนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ในครั้งที่แล้วมีคนมาลงประชามติคิดเป็นร้อยละ 57.61 เท่านั้น แล้วชนะกันที่ 4 ล้านเสียง ตอนนั้นสถานการณ์สีเสื้อเพิ่งจะก่อร่างยังไม่เข้มข้น ถึงตอนนี้ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงชัดเจนยิ่งกว่าตอนนั้น ถ้าครั้งนี้ประชาชนออกมาลงประชามติมากสถานการณ์ก็อาจพลิกผันได้ อย่าลืมว่าเมื่อตัดสินกันด้วยวันแมนวันโหวตพรรคของทักษิณชนะการเลือกตั้งมาเกือบ 10 ปี

แล้วครั้งนี้มีสถานการณ์พิเศษคือ พรรคประชาธิปัตย์หลายคนออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วย แม้มวลชนของพรรคส่วนหนึ่งจะเทไปทาง กปปส.ที่เทพเทือกประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม รวมถึงตัวแปรจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น ผู้พิพากษา และเอ็นจีโอ เป็นต้น

ที่สำคัญครั้งนี้ฝ่ายตรงข้ามไม่มีกระแสรับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง เพราะรู้แล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามตินั้นแก้ยาก แม้พล.อ.ประยุทธ์จะพูดทีเล่นทีจริงว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะร่างเองนั้น ก็ไม่มีใครกลัวเพราะร่างรัฐธรรมนูญแบบนั้นฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งยิ่งมีความชอบธรรมที่จะแก้ไข และไม่มีใครกลัวว่าถ้าไม่ผ่านการเลือกตั้งจะยิ่งทอดเวลาไปด้วย เพราะเห็นว่ารัฐบาล คสช.คงจะทานกระแสไม่ได้และประกาศต่อประชาคมโลกไปหลายครั้งแล้วว่าจะอยู่ตามโรดแมป คือ ให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 เท่านั้น

ผมจึงไม่ค่อยเชื่อที่มีคนพูดกันว่าลึกๆ แล้วฝ่ายเพื่อไทยก็ต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่านเพื่อจะได้เลือกตั้งเร็วๆ เพราะเขาเห็นแล้วว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะปิดฉากพรรคเพื่อไทยไปอย่างน้อย 2 สมัยแม้จะชนะเลือกตั้งก็ตาม เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านคำถามพ่วงก็น่าจะผ่านด้วย ถ้าคำถามพ่วงผ่าน ส.ว. 250 เสียงก็จะมีสิทธิเลือกนายกฯ ด้วยอย่างน้อยถึง 2 สมัยเลือกตั้ง ส.ว. 250 เสียงบวกกับ ส.ส. 500 เสียงครึ่งหนึ่งต้องมีเสียงถึง 376 เสียงซึ่งเป็นเรื่องยากที่พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงขนาดนั้น

เว้นทางเดียวคือมีคนใน คสช.แอบไปจับมือกับทักษิณนั่นแหละ พรรคเพื่อไทยจึงจะได้เป็นรัฐบาล

ส่วนที่มีคนบอกว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะเจออะไรที่แย่กว่าก็ได้ ผมคิดว่ามันยังไม่ถึงตรงนั้นถึงเวลาก็ค่อยพลิกแพลงแนวทางกันใหม่ แต่เฉพาะหน้ามันเห็นชัดแล้วว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปพรรคเพื่อไทยก็จบ เกมนี้นายใหญ่ก็คงต้องสั่งให้สู้สุดฤทธิ์

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการพิสูจน์อนาคตของพรรคเพื่อไทย และนายใหญ่ก็ว่าได้
กำลังโหลดความคิดเห็น