ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ช็อก!!! กันทั้งประเทศเลยทีเดียวสำหรับกระแสข่าว “น้องเมย์ - รัชนก อินทนนท์” นักแบดมินตันหญิงหมายเลข 1 ของไทย และนักแบดมินตันหญิงมือ 4 ของโลก ถูกตรวจพบการใช้ “สารกระตุ้น” ระหว่างการแข่งขัน “อูเบอร์คัพ” ที่ประเทศจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา
ยิ่งเมื่อน้องเมย์โพสต์อินสตาแกรม (https://www.instagram.com/ratchanokmay) เป็นรูปดวงดาวบนท้องฟ้า พร้อมคำบรรยายใต้ภาพ I'm faded (ฉันกำลังจะหายไป) ซึ่งมีแฟนคลับจำนวนมากเข้าไปให้กำลังใจนักแบดมินตันขวัญใจชาวไทย ก็ยิ่งทำให้คนไทยวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งประเทศว่า เกิดอะไรขึ้น และทำไม “สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ” ผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนักกีฬาถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้
ยิ่งเมื่อสุดท้ายแล้ว ถ้าน้องเมย์ถูก “องค์กรตรวจสอบสารกระตุ้นโลก (WADA) และ สหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF)” ลงโทษจริงๆ สมาคมแบดมินตันฯ ก็ยิ่งต้องรับผิดชอบ เพราะนั่นหมายถึงประเทศไทยจะหมดสิทธิลุ้นเหรียญใดเหรียญหนึ่งในกีฬาโอลิมปิคที่ริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล รวมทั้งอนาคตในกีฬาแบดมินตันของน้องเมย์อาจจบสิ้นลงไปด้วย เพราะโทษสูงสุดที่อาจได้รับก็คือ ห้ามแข่งขันเป็นระยะเวลานานสูงสุดถึง 4 ปีเหมือนดังเช่นที่เธอบอกเล่าความรู้สึกผ่านอินสตาแกรมเอาไว้ว่า I'm faded (ฉันกำลังจะหายไป)
กล่าวสำหรับกระแสข่าวดังกล่าวเริ่มเป็นที่ระแคะระคายหนาหูขึ้นก่อนหน้านี้ในการประชุมเตรียมความพร้อมคณะนักกีฬาไทยเพื่อเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิคเกมส์ ที่ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคฯ บ้านอัมพวัน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม เมื่อมีการหารือถึงผู้ที่จะทำหน้าที่ถือธงชาติไทยนำขบวนพาเหรดนักกีฬาไทยเข้าพิธีเปิดวันที่ 5 สิงหาคม เพราะเดิมได้ทาบทาม “น้องเมย์” ทำหน้าที่ ซึ่ง พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการโอลิมปิคไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากได้ประสานกับน้องเมย์ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เนื่องจากโปรแกรมที่ได้รับมานั้นวันที่ 5 สิงหาคม นักกีฬาจะต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ 15.00 น. ว่าจะสิ้นสุดพิธีเปิด และออกจากสนามได้เกือบเที่ยงคืน ซึ่งถือว่าหนักมาก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นายสมพล คูเกษมกิจ สต๊าฟโค้ชแบดมินตันไทย ยืนยันว่า “น้องเมย์” ยินดีรับหน้าที่เป็นตัวแทนถือธงชาติไทยในพิธีเปิดโอลิมปิคเกมส์ 2016
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ น่าจะรับทราบกระแสข่าวเรื่องการตรวจสอบสารต้องห้ามมาก่อน จึงได้มีการหารือในเรื่องนี้ส่วนที่มาที่ไปของการตรวจสอบการใช้สารนั้น รายงานข่าวแจ้งว่าหลังการแข่งขันอูเบอร์คัพเสร็จสิ้นลง จีนซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพได้ส่งตัวอย่างปัสสาวะและเลือดไปที่ศูนย์การตรวจสอบสารกระตุ้น ที่ประเทศญี่ปุ่นและเข้าสู่กระบวนการขององค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก (วาด้า) โดยรายงานข่าวแจ้งว่า ตัวอย่างสารกระตุ้นที่ส่งไปตรวจนั้นอาจเป็นตัวยาที่น้องเมย์ใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บหัวเข่า
“บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติไทย เปิดเผยว่า สารที่พบ คาดว่าจะเป็นตัวยาสเตียรอยด์ที่เมย์รับยารักษาก่อนไปแข่งขันที่จีน ซึ่งแพทย์ของทีมเป็นคนฉีดให้ แต่เป็นแพทย์รักษาอาการหัวเข่าที่ไม่ใช่แพทย์ด้านการกีฬา โดยก่อนฉีดยาเมย์ค่อนข้างกังวลกับการรักษา และพยายามสอบถามกับแพทย์ว่าสามารถฉีดได้จริงๆ หรือไม่ แพทย์ระบุว่าไม่มีปัญหา กระทั่งท้ายที่สุดก็ถูกตรวจพบ
เฉกเช่นเดียวกับ พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการโอลิมปิคไทย ที่ออกมายอมรับว่า สารที่ตรวจเจอคือสารสเตียรอยด์
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดเรื่องนี้ขึ้นได้อย่างไร เพราะโดยปกติวงการกีฬา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมแบดมินตัน” ก็ย่อมต้องทราบถึงความเข้มงวดในเรื่องการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาอยู่แล้ว
นายเจน ปิยะทัต ที่ปรึกษาสโมสรแบดมินตันแกรนนูลาร์ ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการแบดมินตันมาอย่างยาวนาน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสาเหตุของการตรวจพบสารกระตุ้นในครั้งนี้ มาจากการแข่งขันประเภททีมหญิง ชิงแชมป์โลก อูเบอร์คัพ เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่เมืองคูชาน ประเทศจีน โดยก่อนการแข่งขัน “น้องเมย์” ได้รักษาอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า ภายใต้การดูแลของสมาคมแบดมินตันฯ ทว่า ไม่มีการแจ้งกับ “วาดา - เอเชีย” ว่า มีการใช้ยาตัวใดรักษา
“การแข่งขันครั้งนั้น เป็นการแข่งในนามทีมชาติไทย ซึ่งมีการตรวจสารกระตุ้นก่อนแข่งขันอยู่แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ของทางสมาคมฯ ตามไปดูแล และให้ข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ เพราะจะต้องมีการกรอกแบบสอบถามประมาณว่า ก่อนแข่งกินยาอะไรมาบ้าง หรือมีการรักษาอาการต่าง ๆ โดยยาชนิดใด ซึ่งทีมแพทย์ประจำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางสมาคมฯ ต้องเป็นผู้ดำเนินการช่วยเหลือให้กับนักกีฬา”
“ในฐานะที่แกรนนูลาร์ส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศเป็นประจำ และนักกีฬาก็ต้องผ่านการรักษาอาการบาดเจ็บมาทั้งสิ้น ส่วนตัวผมมีหน้าที่เข้าไปชี้แจงว่าได้ใช้ตัวยาใดรักษาไปบ้าง ซึ่งอาการบาดเจ็บหัวเข่าเช่นเดียวกันนั้น จะใช้ตัวยา “สเตียรอยด์” ในการรักษา ซึ่งอยู่ในข่ายของสารกระตุ้น แต่ถ้ามีการแจ้งก่อนตรวจ ฝ่ายจัดก็จะดูว่าเป็นการใช้เพื่อการรักษาจริงหรือไม่ ซึ่งกรณีของน้องเมย์ไม่มีใครไปแจ้ง ทำให้ถูกลงโทษไปตามกฎระเบียบ”
ทั้งนี้ นายเจน ยังเผยถึงโทษที่จะได้รับหากได้รับการยืนยันว่าผิดจริง ๆ คือ การโดนแบนถึง 4 ปี ซึ่งจะมีผลทันที ทำให้มีโอกาสที่จะถูกถอนตัวจากการแข่งขัน โอลิมปิค 2016 ในเดือนหน้านี้ด้วย
“อย่างกรณีของ ลี ชอง เหว่ย นักแบดมินตันชายเดี่ยวชาวมาเลเซีย ต้องโทษแบน 2 ปี แต่สมาคมฯ ของเขาได้ยื่นเอกสารยืนยันว่า มีการใช้ยาเพื่อการรักษา ทำให้เหลือโทษแบนเพียง 8 เดือน ดังนั้น หากต้องการช่วยน้องเมย์เบื้องต้น คือ ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ช่วยยืนยันผลการรักษา ซึ่งโทษจะได้รับน้อยลง แต่คิดว่าคงจะไม่ทันการแข่งขันโอลิมปิค ที่จะมาถึงอย่างแน่นอน”
พร้อมกันนี้ “เสี่ยเจน” ยังได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กของตัวเองถึงกรณี รัชนก ด้วยข้อความบางช่วงบางตอนว่า “.... ขอให้เป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาวิธีการทำงานให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทำงานให้เป็นงาน พัฒนาวงการให้ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง อยากให้ตั้งใจทำงานให้ละเอียดถี่ถ้วน และที่สำคัญ ใช้คนที่เหมาะสมกับงาน ใช้เวลากับการทำงานของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ให้มากขึ้น ให้มีประโยชน์ ไม่เอาแต่สร้างภาพลักษณ์ มีเรื่องหนัก ๆ มา หายไปไหนกันหมด คิดจะช่วยเค้าอย่างไร หรือจะรอถ่ายรูปตอนที่เค้าได้เหรียญโอลิมปิคกลับมาเท่านั้น”
งานนี้ เสี่ยเจนพุ่งเป้าถามหาความรับผิดชอบของสมาคมแบดมินตันฯ โดยตรง
นายธนวุฒิ แสงบุญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาและหัวหน้าสาขาฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ม.กรุงเทพธนบุรี ในฐานะเจ้าหน้าที่ควบคุมสารต้องห้าม องค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (วาด้า) เอเชีย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ได้เตือนนักกีฬาไทยแล้วว่าหากใช้ยารักษาโรคหรืออาการบาดเจ็บ ให้เขียนในใบ ขอยกเว้นการใช้ยาเพื่อการรักษา(ทียูอี) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูแลการตรวจสารต้องห้ามรับทราบ พร้อมกับแนบใบดีแคลร์ยาที่ ใช้มาด้วย
ส่วนสารสเตียรอยด์ที่ว่านั้น จะเป็น “คอร์ติโคสเตียรอยด์” ตามกระแสข่าวที่ออกมาหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป เพราะถ้าใช่ สารตัวนี้เป็นสารต้องห้ามสำหรับนักกีฬา ถ้าฉีดหรือกิน จะถูกตรวจจับว่าโด๊ปยาได้
ขณะที่พล.ต.จารึกประกาศชัดแจ้งว่า ถ้าถึงที่สุดแล้วถูกลงโทษจริงๆ ต้องถือเป็นความเสียหายต่อประเทศ ชาติ และเรื่องนี้สมาคมแบดมินต้องรับผิดชอบ
สำหรับความเคลื่อนไหวของผู้บริหารสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ รวมถึง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมฯ นั้น ได้มีการขอร้องให้สื่อมวลชนรอการประกาศจากสหพันธ์แบดมินตันโลกอย่างเป็นทางการเสียก่อนเพื่อประโยชน์ต่อตัวนักกีฬาและประเทศไทยสำหรับโอกาสการไปแข่งขันโอลิมปิค ดังนั้น จึงยังไม่ขอให้ข่าวกับทุกสื่อแต่อย่างใด เพราะอาจส่งผลต่อการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาสำหรับการใช้สารต้องห้าม โดยล่าสุดนักกีฬาคนดังที่เพิ่งเจอไปสดๆ ร้อนๆ ไม่นานนักก็คือ มาเรีย ชาราโปวา นักเทนนิสจากรัสเซีย ซึ่งตวรจพบ “สารเมลโดเนียม” รักษาอาการหวัดที่เป็นบ่อยครั้ง แต่เพิ่งถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในสารต้องห้ามของ องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก (WADA) เมื่อวันที่ 1 มกราคมปี 2016 ที่ผ่านมา
“ฉันได้รับสารนี้มาตั้งแต่ปี 2006 เพราะตอนนั้นมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่บ่อยๆ ขาดธาตุแม็กนีเซียมและมีบรรพบุรุษเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งก็มีสัญญาณว่าจะเป็นเบาหวานเช่นกัน นี่เป็นวิธีการหนึ่งของการรักษาทางการแพทย์รวมถึงแบบอื่นๆ ที่ได้รับ”มาเรีย ชาราโปวา ยอมรับผิดว่าทำให้วงการมัวหมอง แต่ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากมาจากยาที่กินเป็นประจำเพื่อรักษาอาการป่วย
ส่วนในวงการกีฬาไทย ก็เห็นจะหนีไม่พ้น “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ นักว่ายนํ้าทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ครั้งที่ 28 ที่ถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้นในร่างกาย ประเภทสเตียรอยด์ ชื่อว่าสารเคลนบูเทอรัล ซึ่งอยู่ในยาที่กินเพื่อรีดไขมัน หรืออยู่ในอาหารเสริม ทำให้ต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันทั้งหมด 4 รายการที่ลงแข่งขันประกอบด้วย กบ 100, และ 200 เมตร เดี่ยวผสม 200 และ 400 เมตร ซึ่งทำให้เหรียญรางวัลที่ทางสมาคมเคยตั้งเป้าไว้ คงต้องลดเหลือเพียง 3 เหรียญทองเท่านั้น และจากกรณีดังกล่าว ทำให้เจ้าตัวต้องถูกห้ามลงแข่งขันเป็นเวลา 4 ปี เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี กรณีของน้องเมย์ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะต้องรอให้มีการแจ้งผลอย่างเป็นทางการจากสหพันธ์แบดมินตันโลกเสียก่อน เพราะจะมีผลต่อการประกาศรายชื่อนักกีฬาที่ได้โควตาเข้าร่วม “ริโอ เกมส์ 2016” ในวันที่ 18 กรกฎาคม ก่อนที่จะมีการจับสลากแบ่งสายการแข่งขันแบดมินตัน ในวันที่ 26 กรกฎาคม
ก็คงต้องให้กำลังใจน้องเมย์กันต่อไป
และเชื่อว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คนไทยก็ยังคงให้สนับสนุนน้องเมย์เหมือนเดิม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของเธอ
น้องเมย์...สู้โว้ย....