xs
xsm
sm
md
lg

“พร้อมเพย์” สำหรับคนที่ยังไม่พร้อม

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ กั่วเจริญ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ กั่วเจริญ
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/


ตั้งแต่มีการแถลงเปิดตัวบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ ที่เรียกว่า Prompt Pay หรือชื่อพ้องว่า “พร้อมเพย์” ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามผลักดันภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้าง บางรายกังวลเกี่ยวกับความมั่นคง (Security) บางรายเป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) บางรายกลัวการเปลี่ยนแปลง (Metathesiophobia) และบางรายก็จะค้านทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ที่มีทัศนคติในด้านลบ ส่วนใหญ่จะขาดความรู้ความเข้าใจในการบริการพร้อมเพย์ ซึ่งเป็นการบริการที่ผู้โอนเงินสามารถโอนเงินไปให้ผู้รับเงินโดยใช้เลขประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน โดยที่ระบบข้อมูลกลางจะจัดการเชื่อมเลขบัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และเลขประจำตัวประชาชน

ในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย การบริการพร้อมเพย์จะมีความเสี่ยงไม่ต่างจากการใช้บริการโอนเงินโดยใช้ช่องทางบริการผ่าน ATM, Internet Banking หรือ Mobile Banking ในปัจจุบัน เพราะสื่อสารผ่านระบบ ITMX (ระบบการจัดการแลกเปลี่ยนธุรกรรมระหว่างธนาคาร) เช่นกัน เพียงแต่จะมีการเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นการบริการพร้อมเพย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความมั่นคงปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ หลักการทำงานโดยสังเขป คือ เมื่อผู้โอนเงินส่งคำร้องให้ทำการโอนเงินไปยังหมายเลขโทรศัพท์หรือเลขประจำตัวประชาชน ธนาคารต้นทางส่งข้อมูลไปยัง ITMX ซึ่งจะทำการเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์หรือเลขประจำตัวประชาชนให้เป็นเลขที่บัญชีของผู้รับโอน แล้วส่งไปยังธนาคารปลายทาง จะเห็นว่าหมายเลขโทรศัพท์หรือเลขประจำตัวประชาชนเป็นแค่ชื่อแทนบัญชีธนาคารของผู้รับโอน ที่ประกาศให้ทุกคนทราบเท่านั้น

ประเด็นบัตรประชาชนปลอมไม่เกี่ยวกับระบบนี้ ถ้าธนาคารยอมเปิดบัญชีให้กับเจ้าของบัตรปลอม ก็เป็นความผิดพลาดของธนาคาร การซ้ำกันของเลขประจำตัวประชาชนซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญเช่นกัน เพราะผู้ที่ลงทะเบียนที่มีเลขประจำตัวประชาชนซ้ำกับคนที่ลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถลงทะเบียนได้ การลงทะเบียนล่วงหน้าอาจมีปัญหาติดขัดเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลให้ผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ สามารถไปร้องเรียนกับกรมการปกครองเพื่อให้ออกเลขประจำตัวประชาชนใหม่ จะได้ทำฐานข้อมูลให้ถูกต้อง ปัญหาอีกประการหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ ถ้ารัฐโอนเงินสวัสดิการหรือเงินขอคืนภาษี เข้าบัญชีตามเลขประจำตัวประชาชนที่ซ้ำกัน ผู้ไม่ได้ลงทะเบียนอาจจะไม่ได้รับเงิน แต่ก็จะส่งผลให้มีการปรับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องมากขึ้น ในที่สุดแล้วจะไม่มีการซ้ำกัน

บางรายอ้างว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมเรื่องการรักษาความมั่นคงและมีบุคลากรทางด้านนี้น้อย นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะต่อต้านระบบการบริการพร้อมเพย์ เพราะเป็นระบบที่ไม่เชื่อมต่อกับ Internet โดยตรง เมื่อธนาคารได้รับคำสั่งให้โอนเงินจากช่องทางต่างๆ ธนาคารจะส่งคำสั่งนั้นไปยัง Switch Clearing House ซึ่งเป็นเครือข่ายส่วนตัว (Private Network) ซึ่งระบบก็จะไม่แตกต่างจากระบบเดิม Internet Banking และ Mobile Banking ในประเทศไทยอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ มิฉะนั้นธนาคารคงจะไม่มีเงินเหลือ

เรื่องของความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ บางรายกลัวว่าผู้อื่นจะรู้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับโอน ถ้าเป็นบริษัท ประเด็นคงไม่สำคัญ เพราะบริษัทจะให้หมายเลขติดต่อกลับ แต่ถ้าเป็นการบริการอื่น เช่น แท็กซี่ ถ้าคนขับให้หมายเลขโทรศัพท์กับผู้โดยสาร เพื่อให้ชำระค่าบริการ ผู้โดยสารบางรายอาจจะโทรมารบกวนคนขับก็ได้ เลขประจำตัวบัตรประชาชนก็เช่นกัน บริการหลายอย่างจากภาครัฐใช้เลขประจำตัวประชาชนในการสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง ภูมิลำเนา และ อื่น ๆ ซึ่งผู้โอนเงินสามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ของผู้รับโอนได้

ความเป็นส่วนตัว เป็นประเด็นที่ทางรัฐควรจะรับฟัง ไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์หรือเลขประจำตัวประชาชน ระบบการบริการพร้อมเพย์อาจจะสร้างเลขบัญชีพร้อมเพย์ เมื่อมีการสมัครเข้ามา และเชื่อมเลขบัญชีพร้อมเพย์ เลขบัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และเลขประจำตัวประชาชน ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวที่กล่าวข้างต้นก็จะหมดไป

ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) ทางรัฐควรจะต้องมีนโยบายความเป็นส่วนตัวที่ชัดเจน และต้องให้ความมั่นใจว่าการกระทำใดๆ จะไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของการบริการพร้อมเพย์ คือการโอนเงินในระบบพร้อมเพย์ระหว่างบุคคล ไม่เก็บค่าธรรมเนียม 5,000 บาทแรก ส่วนความสะดวกสบายไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะว่าเลขบัญชีธนาคารบางแห่งมีจำนวนหลักน้อยกว่าเลขประจำตัวประชาชน การไม่เก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนเงิน 5,000 บาทแรก จะส่งผลให้มีการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อน Digital Economy

ถ้าท่านเป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวและอยากใช้ระบบการบริการพร้อมเพย์ ก็ไม่ควรจะให้เลขประจำตัวประชาชน ให้สมัครหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ เพื่อใช้รับ SMS อย่างเดียว ปฏิเสธทุกสายที่โทรเข้ามา ทางแก้นี้ก็จะบรรเทาความกังวลไปได้บ้าง ส่วนเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย ความเสี่ยงไม่ต่างจากการรับโอนเงินในปัจจุบัน ท่านที่ไม่อยากจะใช้ระบบการบริการพร้อมเพย์ แต่อำนาจรัฐสามารถบังคับท่านได้ เพื่อความสบายใจ ท่านก็ควรเปิดบัญชีใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ หากมีใครโอนเงินเข้ามา ท่านก็รีบไปถอนออก ท่านจะไม่มีปัญหานอนไม่หลับเพราะกลัวเงินหาย สำหรับท่านอื่น ๆ ถ้าท่านไม่อยากใช้ ท่านก็อยู่เฉย ๆ ไม่มีใครบังคับให้ท่านใช้และไม่มีผลกระทบต่อท่านแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น