xs
xsm
sm
md
lg

“ปู”เงิบอีก ศาลยืนยกฟ้อง อดีตอสส.-พวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" ฟ้อง อดีต อสส.กับพวก 4 คนฐานปฎิบัติหน้าที่มิชอบเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ชี้กระทำถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง

วานนี้ (12 ก.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดี ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการอาวุโส (อัยการสุงสุดในขณะนั้น) นายชุติชัย สาขากร รองอัยการสูงสุด (อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษในขณะนั้น) นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน

ทั้งหมดนี้เป็นคณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงการจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200

โดยคำฟ้องระบุว่า เมื่อเดือน ส.ค. 2557 และเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2557 นายตระกูลจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายชุติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จำเลยที่ 2 นายสุรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน จำเลยที่ 3 และนายกิตินันท์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนจำเลยที่ 4 เป็นคณะทำงานพิจารณาสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.กรณีการดำเนินคดีต่อโจทก์ในโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 นายตระกูล อัยการสูงสุดจำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นพนักงานอัยการดำเนินคดีที่ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักษณะแบ่งหน้าที่กันด้วยการปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และยังร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่ง พนักงานอัยการกระทำการอย่างใดๆ เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องรับโทษ ซึ่งวันที่ 3 ก.ย. 2557 จำเลยที่ 1 ได้มีความเห็นว่าการไต่สวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ใน 4 ประเด็นใหญ่ เรื่อง แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่ายังไม่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อไม่สมบูรณ์ และยังมีข้อถกเถียงเรื่องการนัดประชุมของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. แต่ต่อมาวันที่ 23 ม.ค.2558 นายสุรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน จำเลยที่ 3 ได้แถลงข่าวว่านายตระกูลจำเลยที่ 1มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นเวลากะทันหันเพียง 1 ชั่วโมงก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติถอดถอนโจทก์ ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญว่าเป็นวาระซ่อนเร้น โดยไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเหตุบังเอิญ โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานอัยการต้องให้ความสำคัญในข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ และต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นแล้วจึงมีความเห็น การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า การไต่สวนในข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาฯ แล้วยังได้บรรยายฟ้องบางตอนให้ผิดไปจากความจริงซึ่งการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ให้ยึดรายงาน ป.ป.ช.เป็นหลัก ซึ่งรายงาน ป.ป.ช.ระบุไว้ชัดเจนว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานในชั้นนี้ว่าโจทก์ได้ทำการทุจริต หรือสมยอมให้มีการทุจริต แต่จำเลยทั้งสี่กลับบรรยายฟ้องแตกต่างจากรายงานของ ป.ป.ช.ว่าโจทก์รู้เห็นและรับทราบการทำทุจริต จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้

การกระทำของจำเลยในฐานะพนักงานอัยการเป็นการกระทำหรือไม่กระทำการใดเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งต้องรับโทษหนักขึ้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงได้นำคดีมายื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย โดยคดีนี้ศาลอาญาได้มีคำสั่งยกฟ้องในชั้นตรวจพิจารณาคำฟ้องเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558 เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เป็นการปฎิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมายไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และไม่มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหนักขึ้น


ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา ยืนยกฟ้อง ตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอำนาจที่สามารถกระทำได้ของอัยการสูงสุดกับพวกและการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฏหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ เมื่อ ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องทั้ง 2 ศาลแล้ว หากจะยื่นฎีกาคดีต่อได้ก็ต่อเมื่อผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีได้ทำความเห็นแย้ง หรือมีการรับรองให้ฎีกาในสาระสำคัญที่เห็นควรให้คดีขึ้นสู่ศาลสูงวินิจฉัย หรือให้ อัยการสูงสุดเป็นผู้รับรองการยื่นฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น