ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ชักตาตั้ง อ้าปากค้าง
กับข่าวการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การบริหารของผู้ว่าขวัญใจชาวกรุงอย่าง “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยได้ตั้งงบประมาณไว้สูงถึง 76,577 ล้านบาท และเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ผลบังคับใช้ทันในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นปีงบประมาณของทางราชการ
ถามว่าตัวเลข 76,577 ล้านบาทมากไปหรือไม่กับการบริหาร กทม. ที่ปัจจุบันต้องดูแลประชากรตามทะเบียนราษฎรไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน รวมไปถึงประชากรแฝงอีกจำนวนมาก รวมๆ แล้วต้องดูแลคนไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน ทั้งยังมีพื้นที่รับผิดชอบ อาคารบ้านเรือน ระบบสาธารณูปโภค ความรับผิดชอบด้านต่างๆ ที่สาธยายไม่หมด
พูดกันตามเนื้อผ้าก็คงต้องบอกว่า ไม่มากเกินไป
แต่!! ดันเป็นเงิน 76,577 ล้านบาท ที่มาอยู่ในมือของคนที่ชื่อ “สุขุมพันธุ์” เจ้าของสโลแกน “ทั้งชีวิตเราดูแล” ผู้ที่ผลงานบริหาร กทม. 2 สมัย 8 ปี สร้างความอิดหนาระอาใจให้กับชาวกรุงเป็นอย่างมาก
ตัวเลข 76,577 ล้านบาทสำหรับการบริหาร กทม.ในปี 2560 เป็นการทุบสถิติงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง สูงกว่าปี 2559 ที่เคยตั้งไว้ 70,424 ล้านบาท และปี 2558 ที่เคยตั้งไว้ 65,882 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละราว 5-6 พันล้านบาท
แต่เมื่อย้อนไปดูงบประมาณ กทม.เมื่อปี 2552 ที่ “สุขุมพันธุ์” เข้ามาทำงานที่ทำเนียบเสาชิงช้าเป็นครั้งแรก ที่ตั้งไว้ราว 46,549 ล้านบาท ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงเกือบ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว
สำหรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่าย ปี 2560 ของ กทม.แบ่งเป็น “รายจ่ายประจำ” จำนวน 76,000 ล้านบาท และ“รายจ่ายการพาณิชย์” อีกจำนวน 577,417,000 บาท โดยรายจ่ายประจำแจกจ่ายไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เด่นๆ มีอาทิ งบกลาง12,903 ล้านบาท สำนักการแพทย์ 3,294 ล้านบาท สำนักการโยธา9,112 ล้านบาท สำนักการระบายน้ำ 6,598 ล้านบาท สำนักการคลัง4,651 ล้านบาท สำนักการจราจรและขนส่ง 4,031 ล้านบาท สำนักสิ่งแวดล้อม 6,663 ล้านบาท และสำนักงานเขตต่างๆอีกเขตละราว500 - 600 ล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายการพาณิชย์ ประกอบด้วย 1. สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร 285 ล้านบาท2. สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร 287 ล้านบาท และ 3.สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย 4.8 ล้านบาท
อ่านถึงตรงนี้ก็เพิ่งไปด่าว่าการตั้งงบประมาณของ กทม. เพราะอย่าลืมว่า กทม.ซึ่งมีฐานะเป็น “เมืองหลวงของประเทศ” มีรูปแบบปกครองต่างจากจังหวัดอื่นๆ โดยเป็น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือ กทม.มี “อำนาจ” ในการ “จัดเก็บรายได้” เองตามกฎหมาย การตั้งงบประมาณในแต่ละปีก็จะ“ล้อ” ไปกับประมาณการรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในปีงบประมาณนั้นๆ เรียกว่า หากกิจการ กทม.ดี เก็บรายได้ครบถ้วน ก็ยิ่งมีเงินให้ใช้มาก
รายได้ของ กทม.มีเพียบไปหมด หลักๆจะเป็นในรูปแบบ “ภาษีอากร” ไล่ตั้งแต่ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีสุรา ภาษีการพนัน ภาษีสรรพสามิต ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน ภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนรายได้รองๆก็เป็นพวกค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าเช่า รวมทั้งรายได้จากสถานธนานุบาล และสำนักงานตลาด เป็นต้น
การตั้งงบประมาณไว้ที่ 76,577 ล้านบาท ก็แสดงว่า กทม.ประมาณการรายได้ในปี 2560 ว่าจะ “เซ็งลี้ฮ่อ” จัดเก็บได้ราว 76,577 ล้านบาท เช่นเดียวกับปี 2559 ที่ตั้งงบไว้ที่ 70,424ล้านบาท ก็ประมาณการว่าจะมีรายได้ 70,000 ล้านบาท และปี2558 ที่ตั้งไว้ 65,882 ล้านบาท ก็ประมาณการว่าจะมีรายได้ 65,000 ล้านบาท
แต่ตามสถิติย้อนหลังปรากฏว่า กทม.ไม่เคยจัดเก็บรายได้ตามเป้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เต็มที่ก็ไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างที่ขาดไป ก็เป็นหน้าที่ของ “รัฐบาลกลาง” ที่ต้องนำเงินมาอุดหนุนให้ครบตามที่ กทม.ตั้งงบประมาณไว้
จบไปในส่วนของเลกเชอร์ปูพื้นฐานวิชา “งบประมาณ101” ที่พอสรุปได้ว่า ไม่ผิดที่ กทม.ตั้งงบประมาณรายจ่ายมหาศาลขนาดนี้ เป็นสิทธิและอำนาจที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีศักยภาพในการจัดหารายได้มาแปรผันเป็นงบประมาณดังกล่าว
แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นในในคนกรุงว่า งบประมาณที่ กทม.ตั้งขึ้นมา “ถลุง” ปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท หรือตลอดสมัยที่ “ชายหมู”บริหารงานอยู่ รวม 8 ปี ระหว่างปี 2552-2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 452,016 ล้านบาท และเมื่อรวมปีที่ 9 หรืองบประมาณปี 2560 เข้าไปด้วย เท่ากับว่าทีมผู้บริหารชุดนี้ตั้งงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 528,593 ล้านบาท
เราๆ ท่านๆ ชาว กทม.ได้ประโยชน์อะไรจากงบประมาณ 528,593 ล้านบาทบ้าง
หากผลงานการบริหารงาน กทม.ของ “ชายหมู” และทีมงาน เป็นที่พออกพอใจมีเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ ก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ผลงานเข้าขั้น “ห่วยแตก” มีแต่เสียงก่นด่าจนขรมเมือง มีเรื่องผิดปกติเข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชันให้สาวไส้ไม่หยุดหย่อน
สโลแกนสวยหรู “ทั้งชีวิตเราดูแล” ก็ถูกยอกย้อนว่า “ทั้งชีวิตเราดูแล (กันเอง)” สะท้อนให้ถึงสิ่งที่คนกรุงได้รับจาก “ทีมชายหมู” ได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่าง การจัดทำงบประมาณในแต่ละปีของ กทม.จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ไว้อย่างสวยหรูโดยช่วงหลังจะใช้ธีม “มหานคร” นู่นนี่ ไล่ตั้งแต่ มหานครแห่งความปลอดภัย มหานครแห่งความสุข มหานครสีเขียว มหานครแห่งการเรียนรู้ มหานครแห่งโอกาสของทุกคน และมหานครแห่งอาเซียน
เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคงหนีไม่พ้น คงเป็นปัญหาฝนตกน้ำท่วมที่ดูเหมือนจะหนักข้อขึ้นทุกปีๆในยุคของทีมงาน กทม.ที่แก้ไม่ตก ฝนเทลงมาเมื่อไหร่ ก็เตรียมด่า “ชายหมู” ได้ทันที แถมเจ้าตัวก็มักมีหล่นวลีออกให้คนตามไปถล่มเสียอีก ทั้ง“ถ้าไม่อยากเจอน้ำ ท่วม ก็ขึ้นไปอยู่บนดอย” หรือ “ฝนชอบตก เวลาผมไม่อยู่” และล่าสุดกับการบัญญัติศัพท์ใหม่จาก “น้ำท่วมขัง” เป็น “น้ำรอระบาย” ที่ถูกนำไปล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน
สภาพชีวิตเวลาคนกรุงเจอกับน้ำท่วม ช่างขัดแย้งกับอภิมหาโครงการอย่าง “อุโมงค์ยักษ์” ที่ “ชายหมู” ภูมิใจนำเสนอ อวดโอ้ว่านี่คือทางออกที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองกรุงได้อย่างชะงักงัน วางงบประมาณทั้งโปรเจ็กต์ไว้ถึง 22,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณต่อเนื่องหลายปี หากรวมงบประมาณอื่นที่เกี่ยวกับการระบายน้ำ ทั้งการซ่อมสร้างประตู ระบายน้ำ ระบบระบายน้ำ เขื่อน แนวป้องกันน้ำ หรือโครงการแก้มลิงรองรับน้ำ รวมๆแล้วเฉพาะยุค “ชายหมู” ทุ่มงบประมาณในส่วนนี้ไปไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท
โดยปัจจุบันมีการสร้างอุโมงค์ยักษ์เสร็จไปแล้ว 2 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำพระราม9 - รามคำแหง และอุโมงค์บึงมักกะสัน แต่ก็ยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ เวลาฝนตกหนัก กทม.ก็กลายเป็นเมืองบาดาลในเวลาอันรวดเร็ว โปรเจ็กต์นี้ยังไม่จบ มีแผนในการสร้างอุโมงค์ยักษ์อีก 5 แห่งให้ครบ 7 แห่งตามแผน ถ้าไม่มีอุบัติเหตุเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่ง กทม.ก็โฆษณาว่า หากสร้างเสร็จจนครบ จะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม.ดีขึ้นแน่นอน
เหลือเชื่อที่ กทม.ทุ่มงบประมาณเป็นหมื่นล้านเนรมิตอุโมงค์ยักษ์มาแก้ไขปัญหาน้ำ ท่วม แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพตามที่ป่าวประกาศไว้ แถมมา “ตายน้ำตื้น” ระบายน้ำไม่ได้ เพราะมีขยะสิ่งปฏิกูลไปอุดช่องทางระบายน้ำ มุมหนึ่งต้องโทษพฤติกรรมการทิ้งขยะ สิ่งของที่ไม่ได้ใช้งานของคนกรุง แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องหันไปดูงบประมาณที่ กทม.ใช้ในเรื่อง “ขยะ” ทั้งการว่าจ้างเหมาเอกชนขนถ่ายและกำจัดขยะ จัดหาสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย จัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์กำจัดขยะ จัดหาเตาเผาขยะ จัดหารถจัดเก็บขยะ เฉพาะ8 ปีที่ผ่านมา ตั้งงบประมาณไว้ถึง 7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่งบประมาณในส่วนอื่นก็ดูจะไม่คุ้มค่าการลงทุน แถมมีเรื่องส่งกลิ่นเข้าข่ายการทุจริตเพียบ โดยมีข้อมูลว่า เฉพาะเรื่องที่อยู่ในมือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณของ กทม.มีไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องเลยทีเดียว
อย่างโครงการติดตั้ง กล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่ถูกขนานนามว่า “กล้องกลวงลวงโลก” เพราะถูกจับได้คาหนังคาเขา ก่อนที่จะออกมายอมรับว่า ซีซีทีวีที่ติดตั้งในพื้นที่ กทม.บางส่วนใช้ไม่ได้จริง เป็น “กล้องดัมมี่” ที่ติดตั้งไว้เพื่อให้คนร้ายรู้สึกเกรงกลัว ถือเป็นหนึ่งโครงการที่มีพิรุธตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มาจนถึงการใช้งาน โดยเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัย อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. แต่เรื่องมาแดงในสมัย “ชายหมู” ที่แบกหน้าออกมาสารภาพต่อสาธารณชน
เรื่อง “กล้องกลวงลวงโลก” ไม่ได้ทำให้ “ชายหมู”หนักใจอะไร แต่ตรงกันข้ามทำท่า “ลูบปาก” มากกว่า เพราะได้ทีในการตั้งงบประมาณปูพรมติดตั้งซีซีทีวี 2 หมื่นตัว ภายในระยะเวลา4 ปี
ชอปกระจุยขนาดนี้ ก็เหมือนเปิดทางให้เพื่อนเก่าแก่ที่ชื่อ“คอมมิชชั่น” ให้มาหานั่นสิ
คู่หูต่างวัย “วิลาศ จันทรพิทักษ์ - วัชระ เพชรทอง”อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เดินหน้าขุดคุ้ยเรื่องทุจริตใน กทม. ลากมาแฉเป็นขดๆ ทั้งการจัดซื้อเครื่องดนตรีให้แก่โรงเรียนในสังกัด มูลค่าเฉียดพันล้านบาท ที่ถูกขนานนามว่า “โคตรโกง โคตรบ้า โคตรโง่” เพราะจัดซื้อทั้งที่ไม่มีความจำเป็น หลายโรงเรียนขาดความพร้อมในการทำการเรียนการสอน แต่ “บิ๊ก กทม.” ก็ดึงดันที่จะต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ให้ได้
และดูเหมือนโมเดล “มีตังค์ต้องใช้” จะถูกใช้ในหลายโครงการ จำเป็นไม่จำเป็นไม่รู้ ขอตั้งเรื่องจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อน อย่างการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องละ 9 แสนบาท ก็ถูก “วิลาศ”แฉว่าใช้งานไม่ได้จริง แล้วก็ยังซื้อรถขัดพื้นคันละ 6 ล้านบาท สั่งซื้อไป 20 คัน ก็จอดเก็บไว้ให้หยักไหย่เกาะเล่น ถ้าไม่ถูกทักก็เตรียมซื้อเพิ่มอีกถึง 30 คัน
เด็ดสุดเห็นจะเป็นโครงการ “อุโมงค์สวรรค์” การประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เมื่อช่วงปีใหม่ 2559 ที่ผ่านมา ประดับไฟ-ซุ้มอุโมงค์ไฟแอลอีดี 5 ล้านดวงบริเวณลานหน้าศาลาว่าการ กทม. วงเงิน 39.5 ล้านบาท ที่ถูก คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิยน (คตง.) ฟันฉับว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว แถมมูลค่าโครงการถูกตีโปร่งไปถึง 10 ล้านบาท เพราะ สตง.ประเมินว่าค่าใช้จ่ายน่าจะไม่เกิน 29.5 ล้านบาทเท่านั้น
ตามมาติดๆ กับงบประมาณปรับปรุงห้องทำงานผู้ว่าฯกทม.และห้องบริวารที่แพงระยับ 16.5 ล้านบาท เมื่อกางรายละเอียดยิ่งต้องผงะ เฉพาะห้องทำงานของ “ชายหมู” ใช้งบไม่มากมายแค่5.9 แสนล้านบาท แต่บรรดาอุปกรณ์ที่สั่งซื้อมาประดับเว่อร์วังอลังการมาก อาทิ ทีวี 75 นิ้ว พร้อมชุดเครื่องเสียง และเครื่องเล่นบลูเรย์ มูลค่าเหยียบ 4 แสนบาท ทีวีแอลอีดี 55 นิ้ว 4 เครื่อง รวมเป็นเงิน 3.2 แสนบาท โต๊ะอาหาร มูลค่า 1.3 แสนบาท เก้าอี้ราคาตัวละ 5-6 หมื่นบาทนับ 10 ตัว เป็นต้น
ที่ว่าไปเป็นแค่ “หนังตัวอย่าง” ที่ฉายให้เห็นถึงการใช้งบประมาณที่ “ไร้สาระ” ของ กทม.ในยุคนี้ ว่ากันว่า ในช่วงต้นที่ “หม่อมหมู” เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม. นอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณเพื่อไปลงในเขตพื้นที่ใน กทม.มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ก็ยังต้องต่อ “ท่อน้ำเลี้ยง” ไปยังพรรคต้นสังกัดด้วย จนมีการพูดกันว่า “ศาลาเสาชิงช้า” เป็น “ถุงเงิน” ของพรรคประชาธิปัตย์
แต่ช่วงหลังสถานการณ์เปลี่ยนไป กทม.เริ่ม “แข็งเมือง”กับพรรคต้นสังกัด ซึ่งก็มีปัจจัยมาจากการที่ “ชายหมู” หมดรอบไม่สามารถลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ได้อีก เนื่องจากดำรงตำแหน่งมา 2 สมัยตามกฎหมายแล้ว ประจวบกับที่ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณเดินออกจากพรรคมาทำม็อบ กปปส.ขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”ท่อที่เคยต่อไปแถม ถ.เศรษฐศิริ ก็ถูกโยกมาที่เวที กปปส.แทน ด้วยคอนเนกชันแน่นปึ๊กของ “ลุงกำนัน” กับ “ชายหมู”
เป็น “สุเทพ” ผู้มีพระคุณกับ “สุขุมพันธุ์” ในการผลักดันให้ได้เป็นตัวแทนพรรคลงรักษาเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2556 แม้ว่า “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะทัดทานก็ตาม และก็เป็น “สุเทพ” คนนี้ที่เค้นน้ำตาบนเวทีหาเสียงพร้อมด้วยวาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” จนส่งให้ “ชายหมู” เข้าวินไปแบบชิลล์ๆในช่วงโค้งสุดท้าย
และช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็เกิดศึกภายในพรรคประชาธิปัตย์ มีความขัดแย้งระหว่าง “เดอะมาร์ค” กับ “ทีมชายหมู” โดยมีการยกเหตุผลงานการบริหาร กทม.ที่สร้างความเสียหายมาเป็นหน้าฉาก จนมีการประกาศตัดญาติขาดมิตรกัน แต่ลึกๆ แล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุเกิดจากการที่ กทม. “ขาดส่ง” ต่อท่อไม่ถึงพรรค โดยมีเงาของ“ลุงกำนัน” ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง “ชายหมู” และมีข่าวถึงขนาดจะทำการยึดอำนาจ “ค่ายสีฟ้า” เขี่ย “เดอะมาร์ค” ออกจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค
ซึ่งก็มีการตีโต้จาก “ทีมมาร์ค” ที่ออกมายุส่งให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ปลด “ชายหมู”ออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. แต่ก็อยู่รอดปลอดภัยมาได้จนถึงทุกวันนี้ และคงอยู่ยาวไปถึงหมดวาระในช่วงต้นปี 2560 ที่จะถึงนี้ เพราะ“ชายหมู” ได้ชื่อว่าเป็น “ตุ๊กตาลูกเทพ” มีบุรุษนามกระเดื่อง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” คอยปกปักษ์คุ้มกะลาหัวอยู่นั่นเอง
เหตุที่ “ค่ายสีฟ้า” สาปส่งไม่เผาผีกับ “ทีมชายหมู” ก็มาจากเรื่องผลประโยชน์ ทั้งในเรื่องฐานเสียงที่ผลงาน “ทีมชายหมู”เข้าขั้นห่วยแตก จนคนกรุงส่ายหัว อีกทั้งยังมีผลประโยชน์ที่มาจากงบประมาณของ กทม.ที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐอิสระ” เป็นเอกเทศจาก“รัฐบาลกลาง” มีอำนาจทั้งในการจัดเก็บรายได้ และใช้จ่ายงบประมาณโดยอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ผ่านสภา กทม.
เอาแค่การจัดเก็บรายได้ที่ตกปีๆหนึ่ง 6-7 หมื่นล้านบาท คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีบางส่วนที่ตกหล่นระหว่าง ทางการจัดเก็บที่ขาดหายไปในทุกๆ ปีถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ตีมูลค่าแล้วก็เป็นหมื่นล้านบาท ทั้งส่วนไม่สามารถจัดเก็บได้ หรือมีการจัดเก็บแล้ว แต่ไม่รู้ว่าไปตกหล่นไปตรงไหน
ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น 8-9 ปีที่ผ่านมา กทม.ในยุค“ชายหมู” มีการตั้งงบประมาณรวมแล้วสูงถึง 528,593 ล้านบาทมองแบบ “โลกสวย” ถ้ามีการชัก “ค่าธรรมเนียม” แบบ 10 บาทเอาบาทเดียว หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้เบาะๆ 5 หมื่นล้านบาท หรือถ้า “ใจกล้าหน้าด้าน” หน่อย เรียกที่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ตามเรตนักการเมือง ตัวเลขในส่วนนี้ตกแล้วก็ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
ที่เคยปล่อยข่าววาดฝัน ตั้งพรรคการเมืองร่วมกับ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ แห่ง กปปส. ด้วยทุนตั้งตน 3 พันล้านบาทนี่จิ๊บๆ ไปเลย
เค้กก้อนเดิมยังสวาปามไม่เสร็จ ก็ยังโชคดีมีโอกาสตั้งงบประมาณปี 2560 อีกตั้ง 76,577 ล้านบาท มาเป็น “เค้กก้อนใหม่”ให้เขมือบกันก่อนที่จะหมดวาระ ที่สำคัญยังหมดโอกาสที่จะนั่งรักษาการในตำแหน่งพ่อเมือง กทม.ต่อ เพราะเจอประกาศ คสช.ออกมาดักทางไว้แล้วว่า ผู้บริหารท้องถิ่นไหนหมดวาระ ต้องลุกออกไปทันที โดยที่ คสช.จะส่งคนมานั่งแทน คราวนี้ก็หมดห่วงไม่ต้องกังวลว่า กทม.จะ “ช็อต” หรือ “ถังแตก” ในช่วงที่ตัวเองบริหารงานอยู่
นาทีนี้ “ชายหมู” ก็คงคิดเพียงว่า จะปาด “เค้กก้อนใหม่”ที่จะเริ่มใช้เดือนตุลาคมนี้แบบไหน จะกินสั้นแบบมูมมามตามสัญชาตญาณ “ผมหมูเขี้ยวตัน” หรือจะวางเกมกินยาวปูทางไว้เผื่ออนาคต
ไม่ว่าจะกินสั้นกินยาว นาทีนี้โจทย์ของ “ชายหมู” ก็แค่ “ทิ้งทวน” ให้เต็มที่ นำทุนไปสานฝันต่อยอดทางการเมืองกับ “พ่อเทพ” ต่อไป.